กิจกรรม บ่มเพาะ Spiritual Influencer โดย We Oneness มูลนิธิสหธรรมิกชน สนับสนุนโดย สสส. เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 67
สรุปและเรียบเรียงโดย กัญจน์ ธนัชพร ภูติยานันต์ Spiritual Influencer ที่เข้าร่วมบ่มเพาะกับ We Oneness
“ปัจจุบัน ผู้คนมีความทุกข์กันมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลหลาย ๆ แหล่ง พบว่า คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคน Gen Z มีพฤติกรรมในการรับมือกับความทุกข์ที่เปลี่ยนแปลงไป.. เขามีแนวโน้มที่จะไม่ได้เชื่อสื่อหลักและผู้เชี่ยวชาญเหมือนคนรุ่นก่อน ๆ.. แต่กลับมีพฤติกรรมเข้าหา และฟังคนที่มีลักษณะเหมือน ‘เพื่อน’ ที่มีการสื่อสารที่เป็นกันเอง ไม่ค่อยมีส่วนได้ส่วนเสียต่อเรื่องดังกล่าว เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งก็คือกลุ่ม ‘Influencer’ และ ‘KOL’ หรือ Key Opinion Leader ซึ่งหมายถึง บุคคลที่มีชื่อเสียงที่มีความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ จนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้ติดตามในด้านนั้น ๆ…” นายอิทธิศักดิ์ เลอยศพรชัย (เอ็กซ์) ประธานกรรมการมูลนิธิสหธรรมิกชน และหัวหน้าโครงการ We Oneness หรือ โครงการ ‘ขับเคลื่อนสังคมแห่งการตื่นรู้ สู่หนึ่งเดียวกัน’ กล่าว
“ด้วยความที่เราอยากเข้าถึงคนรุ่นใหม่ และช่วยบรรเทาความทุกข์มวลรวมของสังคม.. เราก็เลยลองไปสำรวจพื้นที่ของ influencer และ KOL ผ่านการทำโครงการ Spiritual Influencer โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งก็พบว่าพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่เป็นเช่นนั้นจริง ๆ.. สังเกตได้ว่าชุมชนการพูดคุยเรื่องจิตวิญญาณ หรือ สุขภาวะทางปัญญา หรือแม้แต่การพูดคุยเรื่องความทุกข์ของตนเอง ก็มักไปคุยกับ influencer กลุ่มนี้ ซึ่งมักจะกระจายตัวอยู่ตาม Social Media Platforms ต่างๆ โดยเฉพาะ TikTok และ Youtube.. ตัวอย่าง community ที่ชัดเจนมาก ๆ คือกลุ่ม ‘ตื่นทอง’..”
“ทาง We Oneness กับ สสส. ที่เคยทำงานกับคน Gen ก่อน เลยมองว่าหากเราจะส่งต่อเรื่องสุขภาวะทางปัญญาให้กับคนรุ่นใหม่ เราก็ควรจะแก้โจทย์ที่ร่วมสมัย มาทำงานกับ influencer ใน TikTok และ Social Plarform อื่นๆ จึงเกิดเป็นโครงการบ่มเพราะ Spiritual Influencer ขึ้น” คุณเอ๊กซ์กล่าว
คุณเอ๊กซ์ยังได้อธิบายต่อไปอีกว่า “ทั้งนี้เรื่องสุขภาวะทางปัญญาเป็นเรื่องที่สื่อสารค่อนข้างยากแต่เดิมอยู่แล้ว แต่ influencer สายจิตวิญญาณโดยธรรมชาติของเขา เขาศึกษามาหลายเรื่อง มีหัวข้อในการสื่อสารที่หลากหลาย.. เมื่อเรามาทำงานด้านสุขภาวะ มันจึงมีความจำเป็นที่เราจะช่วยให้เหล่า Spiritual Influencer มีความเข้าใจตรงกันในเรื่องนี้ ร่วมทำงานกันได้อย่างตรงจุด และมีทิศทางในการสื่อสารร่วมกันกับภาคีเครือข่าย สสส. อย่างมี impact”
Influencer เป็นกลุ่มที่มี passion มาก หลาย ๆ ท่านจะรู้สึกว่าตนเองมีภารกิจทางจิตวิญญาณ พร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อทำหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้อื่น แต่ การจะช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างมีคุณภาพนั้น ผู้ช่วยเหลือเองก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาวะอย่างถูกต้องและเป็นองค์รวม พี่เอ๊กซ์จึงได้เชิญรศ.ดร.นพ. ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตปัญญาศึกษา และอาจารย์ประจาภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้มาบรรยายในหัวข้อ “สุขภาวะทางกาย จิต จิตวิญญาณเชื่อมโยงกันอย่างไร”
.
.
ซึ่งต่อไปนี้จะเป็นเนื้อหาโดยสรุปจากสิ่งที่ รศ.ดร.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ได้เมตตาสอนแก่พวกเรานะคะ กัญจน์ขออนุญาตเรียกชื่อย่อๆ ของท่านว่า อ.ชัชวาลย์นะคะ
.
จริง ๆ ท่านได้อธิบายวิธีการฝึกตนเองไว้โดยละเอียดมาก ลงลึกถึงระดับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับจิต แต่กัญจน์ขออนุญาตบันทึกไว้โดยย่อ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพรวมของเรื่องที่อาจารย์ได้สอนในเรื่องการทำงานกับตนเองก่อน ส่วนผู้ใดที่สนใจการฝึกตนเองในรูปแบบของอ.ชัชวาลย์ สามารถหาหนังสือของท่านมาอ่านได้ ชื่อว่า “ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ : Mindful Living – ฝึกสติในชีวิตประจำวันที่ทำได้ง่าย ๆ เพราะการฝึกสติไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าไม่ลืมฝึก”
.
กัญจน์ขออนุญาตเข้าเนื้อหา โดยไล่ไปทีละประเด็นเลยนะคะ
#ผู้ช่วยเหลือเยียวที่ดีเป็นอย่างไร
“หัวใจสำคัญของการเป็นผู้รักษาเยียวยาผู้อื่นคือ ความจริงใจและความเป็นตัวของตัวเอง พวกเขาไม่ควรทำหน้าที่นี้เพียงเพราะต้องการหลีกหนีบางสิ่งหรือเพื่อชื่อเสียง แต่ต้องมีเจตนาที่บริสุทธิ์และได้รับการดูแลจากภายใน
เป้าหมายสูงสุดของการเป็นผู้ช่วยเหลือคือการเป็นมนุษย์ที่แท้ ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนและการดูแล แม้ว่าความสามารถในการเป็นผู้ช่วยเหลือจะแตกต่างกันไป แต่การมีความเป็นตัวของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงในการบำบัดเยียวยา”
#การหนีเป็นอย่างไร / #SpiritualBypass
“หนีในที่นี้หมายถึงการหนีจากอารมณ์กลัว กังวล ไม่อยากเผชิญกับความจริง โดยการไปทำในสิ่งอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับอารมณ์เชิงลบ เช่น พยายามเรียนให้เก่ง จะได้รู้สึกปลอดภัย ไม่กังวล หรือ การหากลุ่มอยู่ เพื่อให้รู้สึกปลอดภัย แต่ไม่ได้แก้ปัญหาข้างในของตนเอง
ซึ่งมันเป็นปัญหามวลรวมของคนยุคปัจจุบันที่ต้องการการกระตุ้น การตอบสนองจากผู้อื่นตลอดเวลาผ่าน Social Media เพื่อสนองการมีอยู่ของ ‘ตัวตน’ ซึ่งแบบนี้อันตรายมาก ๆ…เคยได้ยินไหม มี Net Idol ฆ่าตัวตายเพราะยอด Followers ลดลง…อย่างในกรณีนี้ เขาหนีจากความว่างเปล่าข้างในมาเป็น Net Idol แล้วยอมรับไม่ได้กับการที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากสังคมในแบบที่ตนเองคาดหวัง ถึงขั้นปลิดชีวิตตนเอง
ซึ่งเราจะเห็นสภาวะที่คนหนีไม่ได้แล้วรู้สึกทุกข์หนักมากในช่วงวิกฤติโควิทที่ผ่านมา ที่เราต่างต้องกักตัวและอยู่กับตัวเอง จะพบว่าหลายคนไม่ได้ถูกฝึกมาให้อยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ มีแต่เมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบ ก็จะหนีไปอยู่กับสิ่งที่ชอบ…สังคมก็ชวนกันหงุดหงิดไม่พอใจได้ทุกเรื่อง ไม่ก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ นำไปสู่ความหวั่นไหวต่าง ๆ
ถ้าพื้นฐานเราไม่ปลอดภัย หนีอารมณ์ เวลาว่าง ๆ ระบบประสาท sympathetic ก็จะทำงาน เรื่องที่เรากังวลก็จะขึ้นมา
แต่อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน คือในกรณีที่พวกเราเป็น Spiritual Influencer เราก็ต้องระมัดระวังให้มาก โดยเฉพาะกรณีที่เรียกว่า ‘Spiritual Bypass’ ซึ่งหมายถึง การแสวงหาทางจิตวิญญาณ เพื่อเยียวยาอะไรบางอย่าง มีอะไรให้ยึดเหนี่ยวทางใจให้รู้สึกปลอดภัย แต่ปล่อยเรื่องข้างในไป ไม่กลับมาดูใจตนเอง ซึ่งคนเหล่านี้จะอยู่ด้วยความเคารพศรัทธา แต่เขาจะไม่ผ่องใส แต่ทั้งนี้ ก็ยังดีกว่าไปทำอย่างอื่น แต่ถ้าสามารถพาคนเหล่านี้มาพูดคุย มาบำบัด ดูใจ ก็จะดีมาก
ซึ่งเครื่องมือที่สำคัญที่ฝึกให้เราอยู่กับความเป็นจริงได้คือ การฝึกสติ”
#ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฝึกสติ
“ความคิดเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้…
ซึ่งปัจจุบันมีหลายสำนักเลย ที่สอนให้ ‘หยุดคิด’ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นธรรมชาติของจิต ที่มันจะคิด มันคือการตั้ง KPI ในการฝึกสติที่ผิด แล้วทำให้คนท้อ และล้มเลิกการฝึกไปในที่สุด แต่ KPI ที่ควรตั้งมากกว่าคือ ‘การได้ทำความเพียร’ ได้เห็นความคิด ได้พยายามดึงตัวเองกลับมา ยิ่งทำบ่อย ยิ่งถือเป็นการฝึก เช่น เราควรดีใจที่เราได้ทำความเพียรไปแล้ว 5 วัน ไม่ใช่ดีใจว่าเรานั่งแล้วสงบ สงบก็เป็นเพียงสภาวะหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่ง การฝึกสติในปัจจุบันมักเน้นไปที่คำว่า ‘ต้อง’ ทำอะไรโดยไม่ได้อธิบายขบวนการอย่างแท้จริง มันเลยทำให้คนรู้แค่ว่าต้องทำอะไร แต่ทำไม่เป็น” นอกจากนี้ หลายครั้งที่มีการสอนกัน บางคนสอนแค่ ‘วิชา’ แต่ไม่ได้เป็นเนื้อเป็นตัวเขาจริง ๆ หรืออาจเรียกได้ว่า ‘ไม่ congruence’ มันเลยทำให้เรารู้สึกไม่เชื่อมโยงกันจริง ๆ”
#การฝึกสติคืออะไร
“การฝึกสติ หรือ การปฏิบัติธรรม คือก่ารเป็นสักขีพยานของการปรากฏขึ้น ไม่ว่าจะลมหายใจ หรือร่างกายที่มันนั่งอยู่ หรือ จิตที่มีการคิด หรือ รู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
พื้นฐานสำหรับการฝึกสตินะ
อย่างแรก เป้าหมายของการเจริญสติคือการที่เราอยู่กับความจริงอย่างที่มันเป็น
อย่างที่สอง เรารับรู้ว่าความคิดของเรา เป็นสิ่งที่เรารับรู้อยู่คนเดียว หรือ เรียกภาษาวิชาการก็คือ Subjective Phenomena รู้แล้วก็รู้เฉย ๆ
อย่างที่สาม เราต้องฝึกที่จะไม่ยึด ไม่หลงไปว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นของเรา หรือ เราเป็นอะไร
อย่างที่สี่ เราต้องเป็นมิตรกับตัวเอง ไม่ว่าจะพลาดอะไร หลงไปคิด หลงไปรู้สึก ก็ขอให้ยอมรับ และไม่ตำหนิตนเองต่อ ทันตอนไหนก็ตอนนั้น…
เราสามารถฝึกตนเพื่อที่จะเชื่อมโยงกับโลกภายในด้วยการมีการตระหนักรู้ในตนเอง หรือ self- awareness เช่น รู้ทันว่าตอนนี้กำลังของขึ้น ก็ถือว่าเท่าทัน หรือ รู้ทันตอนปล่อยของไปแล้ว แล้วขอโทษ ก็ยังทัน ไม่ทันเลยคือไม่รู้ตัวเลย ปล่อยของเต็มที่ไม่ยั้ง…
โดยธรรมชาติของการฝึกสตินะ มันคือการเท่าทันทีละขณะ ๆ
พอเรามีการตระหนักรู้แล้วเราก็ต้องฝึกการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันกับตนเอง อย่างเช่น เวลาถามว่าตอนนี้เจออะไร บางคนก็อาจจะมีความคิด เช่น งง เขาต้องการอะไร คำตอบที่คาดหวังคืออะไร ฯลฯ เราก็เท่าทันในความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะไป
ถ้าเริ่มเห็นทีละขณะ ๆ ได้แล้ว ต่อไปคือระดับ Metacognition คือให้เราเห็น pattern ตัวเอง ว่าเราติดอะไร เช่น รู้พูดว่าอะไรทำให้เกิดการ trigger ขึ้นทุกครั้ง ฯลฯ
ความเห็นที่ตรงเป็นก้าวย่างที่สำคัญ เช่น รู้ว่าความคิดมันควบคุมไม่ได้ ถ้าเผลอไปยุ่งกับมัน ก็ปล่อยมันไป ตรงตามหลักสัมมาทิฐิก่อนเป็นอย่างแรกเลย เมื่อเห็นอดีตขึ้นมา ก็ได้แค่เห็นว่ามันจบไปแล้ว เห็นว่าหลงกับอดีตมันก่อให้เกิดปัญหา แล้ววางความคิดนั้นลง หากเราตัดสินไปแล้ว ก็ไม่เผลอไปตัดสินว่าเราตัดสินแล้ว แค่สังเกตไป โดยเราทำได้แค่สังเกตให้มันเร็วขึ้นและเร็วขึ้นเรื่อย ๆ หากทำได้เป็นปกติ เป็นธรรมชาติ เราจะไม่ค่อยติดพันอยู่กับอะไร เราจะเข้าถึงความปลอดโปร่งที่มันมีอยู่แล้ว หรือ การเข้าถึงพุทธะ หรือ ความเป็นจริง แล้วเมื่อเรามีสติ เราจะมีโอกาสในการเลือกสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงมากขึ้น”
#ฝึกสติแล้วถ้ายังมีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นล่ะจะทำอย่างไร
“Positive people still have negative thoughts…
การที่เราสังเกตเป็น เห็นมันได้เฉย ๆ มันก็เป็นภูมิคุ้มกันทางจิต มี Mental Immunity…ส่วนความรู้สึกนึกคิดเป็นเชื้อโรค เราไม่มีหน้าที่ขจัดเชื้อโรค เชื้อโรคมันเข้าร่างกายเราตามปกติ การมีภูมิคุ้มกันคือแค่เห็น แล้วไม่ทำตาม ก็เท่านั้น มีความคิดดีบ้าง ไม่ดีบ้าง นั่นคือสมบูรณ์แล้ว เป็นปกติของมนุษย์”
#สิ่งสำคัญที่อาจารย์อยากเตือนสำหรับInfluencerและนักเดินทางหลายๆคน
“Quality ที่เราจะนำพาผู้คน มันจะไปได้ดี ถ้าเรากลับมาข้างใน…การทำให้คนหลงมันอันตรายมาก ๆ เลย หลายคนนะ รีบ หรือไม่ก็ชอบโทษตนเองเวลาฝึกเร่งมากก็ไม่ไปไหนนะ
แค่รู้ว่าเผลอก็พอแล้ว จะรีบไปไหน มันจะถึงเวลาเอง ไม่ต้องวิ่งแสวงหา
การที่บอกตัวเองว่าให้ ‘รีบดึงออกมา’ เวลาที่หลงไป ภาษามันส่งนัยยะออกมาว่า การหลงไหลคือเสียแต้ม หลงไปไม่ดี ต้องดึงออกมา ทั้ง ๆ ที่จริง บางทีเราก็หลงหรือไหลบ้าง จับได้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อะไรที่ไม่ดี แก้ไขโดยไม่ต้องด่าตัวเองได้ไหมครับ
คนเรา เรายอมรับเพื่อที่จะแก้ไขตนเองโดยไม่ต้องด่าตนเองได้นะครับ
ลองอยู่กับความไม่ชัดเจน ความค้างคาใจดู โดยไม่ต้องไปรีบจัดการมัน”
#ทักษะสำคัญในศตวรรษที่21
“กลับมามองโจทย์ใหญ่ของคนยุคนี้ คือเรื่องการหนี…คนรุ่นใหม่ต้องการตัวกระตุ้นตลอดเวลา เพราะการมีอยู่ของ ‘ตัวตน’ ต้องพึ่งปฏิสัมพันธ์ พอคนอื่นไม่ตอบสนองก็จะรู้สึกไร้ค่า
ดังนั้น ทักษะที่สำคัญที่สุดในยุคนี้คือ ‘การอยู่เฉย ๆ’ ให้เป็น หรือ การไม่ดิ้นรน…เบื่อ ๆ บ้างก็ได้ ไม่ต้องหาอะไรทำตลอด ไม่ต้องมีตัวตนตลอด หรือ ไม่ต้องไปดิ้นรนหาทางออกให้กับความทุกข์ตลอด ๆ โดยการถามว่า ‘ทำไม ๆ’ ถามแล้วก็ไม่ได้คำตอบ กลับถลำลึก วกวน จมไปกับปัญหา
วิธีการที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาการหนีคือ ‘Accept First’ Change later ยอมรับสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง แล้วค่อย ๆ เปลี่ยน ไม่งั้นจะเป็นการหนี เปลี่ยนที่อยู่ แต่ไม่ได้เปลี่ยนทางใจ
เรื่องการตอบสนอง การมีปฏิกิริยาของผู้อื่น ใครจะโกรธ ใครจะเสียใจ มันก็เรื่องของเขา มันโอเคที่มันจะไม่โอเค มีปัญหา แต่เดี๋ยวค่อยแก้ก็ได้ รวมถึงถ้ามีคนไม่เข้าใจเรา เขาก็ไม่ต้องเข้าใจเราบ้างก็ได้ ขนาดตัวเราบางทียังไม่เข้าใจตัวเองเลย…
เรื่องการรักตนเอง ใครยังยอมรับตนเองอย่างไม่มีเงื่อนไขไม่ได้ ก็ยอมรับข้อเท็จจริงข้อนี้ แต่ก็ไม่ได้ด้อยคุณค่า…
ไม่รู้เรื่องก็ไม่เป็นไร ไม่รู้เรื่องบ้างได้ไหม ไม่ต้องเข้าใจไปหมดทุกเรื่อง ไม่เข้าใจก็ยิ้มก็ได้ ไม่ต้องร้องไห้ก็ได้…
ต้องมองชีวิตอย่าง Wholistic…เห็นความไม่เที่ยงของทั้งสุขและทุกข์ ต้องอยู่กับความทุกข์ให้ได้ด้วยเหมือนกัน โดยมองว่าความทุกข์เป็นเรื่องธรรมชาติ…ทุกขํ มันไม่เป็นตัวตน ไม่เป็นสภาวะ…พอเราไปยึดว่าเมื่อไหร่จะหายทุกข์ ยิ่งเป็นหนักเลย…แม้แต่สติเองก็ไม่เที่ยง เป็นสังขารธรรม เป็นธรรมะฝ่ายปรุงแต่ง เราก็รู้ตัวเป็นพักๆ แต่เราจะรู้ตัวตลอดเวลาไม่ได้ เพราะเรายังไม่ใช่อรหันต์
#หลักการสะท้อนตนเองของอาจารย์ชัชวาลย์ #3PillarsOfReflection
- Open : อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด มีใจที่เปิดกว้าง อะไรจะเกิดขึ้นก็ได้ ทั้งภายในภายนอก ไม่ต้องไปขอ ถ้าจะขอก็ขอให้รู้อยู่กับปัจจุบันไป
- Observe : สังเกตไปตามจริง อย่างที่มันเห็น
- Objectivity : พอเรามองได้เป็นกลาง มันก็จะไม่ค่อยปัด หรือ หลงตาม หรือถ้าปัด และหลงตามก็จะสามารถสังเกตเห็นได้
และนี่ก็เป็นใจความสำคัญที่กัญจน์จดมาจากในการบรรยายของอ.ชัชวาลย์
จริง ๆ แล้ว ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่กระแทกใจผู้ฟัง แต่กัญจน์ขออนุญาตนำเสนอใจความหลักไว้แต่เพียงเท่านี้ และอยากแนะนำให้ผู้ที่สนใจได้เข้าไปศึกษาแนวคิดจากอาจารย์ในหนังสือของท่านด้วยตนเอง หรือ ลงคอร์สเรียนกับท่านที่ศูนย์จิตปัญญาศึกษา
เพราะสิ่งที่ท่านสอน ส่วนมากเป็นแนวทางปฏิบัติ ที่มุ่งเน้นให้เราพาใจกลับบ้านอย่างโอบอุ้มตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องหมั่นทำอยู่บ่อย ๆ ไม่สามารถอ่านครั้งเดียว หรือ เข้าคอร์สครั้งเดียวแล้วจบได้
#ประสบการณ์ส่วนตัว
กัญจน์รู้สึกขอบคุณอ.ชัชวาลย์ และทางมูลนิธิสหธรรมิกชนมาก ในการเอื้อให้เกิดพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ เพราะรู้สึกว่ามันสำคัญมากที่รากฐานของเรา ‘ผู้ที่ทำงานภายใน’ จะแน่น และมั่นคง เพียงพอที่การส่งต่อจะอยู่บนฐานของสติ และความเป็นจริงหลาย ๆ ประโยคก็เป็นประโยคที่สะท้อนกลับมายังใจตนเองในหลาย ๆ เรื่อง
สิ่งที่กัญจน์ได้ชัด ๆ เลย คือ ไม่ว่าฐานเราจะมาจากอะไร…ความกลัว การหนี หรือ อะไรก็ตามแต่มันสำคัญมากที่จะไม่หนีต่อ แต่ยอมรับ แล้วหันหน้ามาเผชิญกับมันตามความเป็นจริง ด้วยน้ำเสียงที่โอบอุ้ม และเป็นมิตรต่อตนเอง มันไม่ผิดที่เราจะไม่รู้ จะพลาด หรือ จะตั้งอยู่บนฐานผิด ๆ แต่เมื่อรู้แล้ว (ด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็ตามแต่) ก็กลับมารู้ตัวอยู่บ่อย ๆ ดึงตัวเรามาในฐานตามจริงอยู่บ่อย ๆ ด้วยความใจเย็น
แล้วสักวัน ด้วยการฝึกฝนนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ใจเราจะค่อย ๆ มีคุณภาพขึ้นเรื่อย ๆ จนเราสามารถส่งต่อคุณภาพนี้ไปยังใจผู้อื่นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนเอง
ขอบคุณค่ะ