PRACTICING

การฝึกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาภายใน

คือกุญแจสําคัญที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงแก่นสารของการพัฒนาภายใน การฝึกปฏิบัติคือเงื่อนไขสู่การเติบโตภายในและบ่มเพาะสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งไม่อาจทดแทนได้ด้วยการอ่านคู่มือหรือทําความเข้าใจผ่านการคิด แต่คือการลงมือทําจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่มีความเป็นธรรมชาติและธรรมดา คุ้นเคยจนเป็นเนื้อเป็นตัว โดยสามารถเลือกฝึกได้ตามความเหมาะสมกับจริตของแต่ละท่าน จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง จึงสามารถทําความเข้าใจและทําความคุ้นเคยกับทุกการปฏิบัติได้อย่างเป็นธรรมชาติในแบบของตนเองในที่สุด โดยแบ่งการฝึกปฏิบัติออกเป็น 5 หมวดหลัก ได้แก่

กระบวนกร หรือ วิทยากรกระบวนการ หรือ Facilitator หมายถึงผู้ที่ใช้กระบวนการเพื่อเอื้ออํานวยให้กลุ่มสามารถเกิดการเรียนรู้ จนนําไปสู่การบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กลุ่มได้ตั้งไว้

กระบวนกรพัฒนาภายใน คือ บุคคลที่มีหน้าที่สำคัญออกแบบและอำนวยการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพให้ผู้เรียนรู้ได้มาเห็นและเข้าถึง ความหมายในการมีชีวิตที่เชื่อมโยงกับตนเอง เชื่อมโยงกับผู้อื่น เชื่อมโยงกับชุมชน สังคม โลกและธรรมชาติได้โดยไม่แบ่งแยกหรือตัดขาด

“เราไม่ใช่มนุษย์ที่กําลังมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ

แต่เราเป็นจิตวิญญาณที่กําลังมีประสบการณ์ของความเป็นมนุษย์”

We are not human beings having a spiritual experience;

we are spiritual beings having a human experience.

– Pierre Teilhard de Chardin

จิตวิญญาณ คือ ส่วนสําคัญในความเป็นมนุษย์ที่ดํารงอยู่ในคนทุกคน เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ อีกทั้งสัมพันธ์กับความสุขที่เป็นองค์รวมในทุกมิติของชีวิต จิตวิญญาณรับรู้ได้ด้วยใจ และเมื่อใจเรามีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ ประสบการณ์นั้นจะช่วยยืนยันว่า คนเราสามารถเข้าถึงสิ่งที่อยู่เหนือความสุขอันเกิดจากการเสพวัตถุหรือการมีความรู้สึกดีชั่วครั้งชั่วคราวได้ ซึ่งนี่ก็คือคุณสมบัติที่เราเรียกว่า การมีสุข ภาวะทางจิตวิญญาณ (SPIRITUAL HEALTH) นั่นเอง

หนังสือ “สู่ศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์: คู่มือการจัดกระบวนการพัฒนาจิต วิญญาณ” ที่ท่านกําลังถืออยู่ในมือขณะนี้ จะทําหน้าที่เป็นเสมือนแผนที่บอกทางให้ผู้สนใจ สามารถออกเดินทางด้านในสู่การมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหมาะสําหรับผู้ที่สนใจจะนําแนวทางนี้มาใช้ทั้งเพื่อพัฒนาตนเอง รวมถึงช่วยนําพาผู้อื่นให้ เกิดการเรียนรู้ในบทบาทของผู้จัดกระบวนการอบรมหรือ กระบวนกร

ศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์
คู่มือการจัดกระบวนการพัฒนาจิตวิญญาณ

บทส่งท้าย

หากชีวิตมนุษย์เป็นการเดินทางไปในกาลเวลาที่เป็นทั้งของตนเองและเป็นการเดินทางร่วมไปกับมนุษย์คนอื่นๆ อีกทั้งกับสิ่งอื่นๆ ในโลกทั้งหมดด้วยการเดินทางนี้มีทั้งในมิติธรรมดาทั่วไป นั่นคือการเดินทางตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงตอนสิ้นสุดของชีวิต หรือเมื่อร่างกายของมนุษย์นั้นตายลง กับในอีกมิติหนึ่งซึ่งเป็นการเดินทางทางจิตวิญญาณหรือเป็นการเดินทางภายใน อันเป็นการตระหนักรู้ในตัวตนของตนเอง เห็นคุณค่าของตน เห็นความหมายและวัตถุประสงค์ในการดําเนินชีวิต เห็นข้อดีและเห็นข้ออ่อน ข้อด้อยของตน นอกจากนั้นแล้ว มนุษย์ยังสามารถพัฒนาข้อที่ดี และยอมรับส่วนที่อ่อนด้อยของตน

การเดินทางภายในของมนุษย์นี้ จะจบลงเช่นเดียวกับชีวิตของร่างกายหรือไม่? เรื่องนี้เป็นความเชื่อที่แตกต่างกันไป ศาสนาที่สําคัญๆ ในโลกต่างก็มีความเชื่อว่า การเดินทางของวิญญาณจะไปต่อ เช่น ไปเกิดใหม่ ไปมีชีวิตในอีกมิติหนึ่ง เป็นต้น อย่างไรก็ดี การเดินทางทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีศาสนาหรือไม่มีศาสนาก็ตาม

เทลยาร์ เดอ ชาร์แด็ง เคยเขียนจดหมายถึงเพื่อนของเขาคนหนึ่งว่า “ยิ่งที่ฉันยิ่งเห็นว่า ความแตกต่างระหว่าง การวิจัยและการเคารพบูชา (Research and Adoration) นั้นน้อยลงทุกที” สําหรับเขาแล้ว ขั้วที่แตกต่างกันกล่าวคือ วิทยาศาสตร์กับศาสนา วัตถุกับจิตวิญญาณ ร่างกายกับวิญญาณ การภาวนากับการทํางาน ทั้งหมดนี้จะมาร่วมกัน ซึ่งเขาเรียกว่า Cosmic Christ ที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับจักรวาล ฉะนั้น คําว่า Cosmic Christ ของเทลยาร์ เดอ ซาร์แด็ง จึงหมายถึง การวิวัฒน์ของวัตถุ (Matter’s evolution process) ที่จะไม่จบสิ้นไปกับร่างกาย แต่จะค่อย ๆ วิวัฒนาการต่อไปจนถึงความเป็นจิตวิญญาณ

ขณะที่เมื่อมองกลับเข้ามาที่ชีวิตประจําวันในยุคสมัยนี้ของเรา จิตวิญญาณที่ดูเหมือนว่าได้เลือนหายไปแล้วจากความก้าวหน้าของโลกวัตถุกําลังจะกลับคืนมา

“ใน 50 ปีที่ผ่านมานี้ มันกําลังปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนว่า งานในแบบที่พนักงานทําจนเคยชินมาเป็นเวลานาน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าประหลาดใจ หรือมิฉะนั้นก็จะสูญหายไปเลย … องค์การต่างๆ ทางธุรกิจของทั้งอเมริกาและญี่ปุ่น เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องของจิตวิญญาณและคุณค่าทางจิตวิญญาณ … คนทํางานและด้วยวิวัฒนาการของมนุษย์เอง ได้หันมาแสวงหาความหมาย เป้าหมายชีวิตและต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในชีวิตการทํางานด้วย” (Biberman & Whitty, 1997)

คณะผู้เขียนเองได้เริ่มใส่ใจในเรื่องของจิตวิญญาณ เนื่องจากในหลายปีที่ผ่านมา การศึกษาในระบบของสังคมเรานั้น เน้นอยู่เพียงแค่การจะได้มีความรู้เพื่อจบการศึกษาออกไปจะได้ทํางานดีๆ ได้เงินเดือนสูงๆ มีตําแหน่งใหญ่โต มโนคติของการศึกษานี้จะผลิตคนให้ออกไปรับใช้ระบบแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราจึงเกิดความคิดที่ว่าการศึกษาควรจะทําให้เกิดจิตวิญญาณในตัวของนิสิตนักศึกษาด้วย

การศึกษาที่ทําให้เกิดจิตวิญญาณจะต้องเป็นอย่างไร? จะมีหลักสูตรอะไรที่จะสอนเรื่องจิตวิญญาณนี้ได้? ในที่สุด เพื่อหาคําตอบคําถามเหล่านี้ พวกเรากลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันสืบหาวิธีการเรียนรู้ ทําความเข้าใจ ฝึกฝนปฏิบัติ ทํางานและทําการเผยแพร่เรื่องจิตวิญญาณ จากการเรียนรู้เรื่องนี้ เราได้มาร่วมงานกับศูนย์จิตตปัญญาศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับรู้ว่าการศึกษาในระบบก็เริ่มสนใจเรื่องของจิตวิญญาณกับชีวิต ในเวลาเดียวกัน เราก็ได้พบว่า ในแวดวงการบริหารจัดการ ภาวะผู้นําธุรกิจ การบริหารบุคคล จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ฯลฯ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการศึกษาเรียนรู้และพูดถึงเรื่องจิตวิญญาณไว้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งไม่น้อย

ทํานองเดียวกัน กรณีของการจัดกระบวนการเรียนรู้ การฝึกอบรมและการศึกษานอกระบบ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย กําลังทํางานเพื่อที่จะฟื้นคืนเรื่องจิตวิญญาณให้กลับคืนมาอยู่ในกระแสของการเรียนรู้ชีวิต การ ทํางาน และการมีสัมพันธภาพที่ดีงามได้

ดังจะเห็นได้ว่า หลายครั้งที่การจัดกระบวนการกลุ่มสามารถสร้างเสริมความสุข ความสมดุล และการเห็นเชื่อมโยงให้แก่ตัวผู้เรียนได้ในระดับที่การศึกษาทั่วไปในระบบไม่สามารถให้ได้ กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมยังได้ช่วยให้ผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้อง เกิดการยกระดับของจิตสํานึกมาสู่การมองเห็นกันและกันอย่างเทียมบ่าเทียมไหล่มากขึ้น เกิดการเคารพตัวเอง เคารพกันและกัน จนสามารถปลดปล่อยศักยภาพที่แท้ของตัวเองออกมาได้ แทนที่จะเป็นเพียงการเรียนรู้แบบเก็บกดตัวเอง หรือจํานนยอมอยู่ภายใต้อํานาจทางความคิดของคนส่วนน้อย

ทั้งหมดนี้ เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าตัวจักรสําคัญที่มีส่วนช่วยให้เกิดการบ่มเพาะและงอกงามทางจิตวิญญาณดังกล่าว ก็คือผู้ที่เป็นกระบวนกรผู้เอื้ออํานวยกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้นั่นเอง

กระบวนกรที่จะนําพากระบวนการเรียนรู้ที่มีมิติจิตวิญญาณ ตัวกระบวนกรเองจําเป็นอย่างยิ่งที่ ต้องเป็นตัวจริงของสิ่งนั้น ๆ ด้วยตัวเอง นั่นคือจะต้องเป็นผู้เรียนรู้ฝึกฝน และขัดเกลาตัวเองด้านจิตวิญญาณ จนคุณภาพเหล่านั้นดํารงอยู่ในตัวเองอย่างเป็นปกติ ที่เรียกว่ามีความ “เป็นเนื้อเป็นตัว” จึงจะสามารถนําพาให้จิตวิญญาณบังเกิดขึ้นในกระบวนการได้อย่างแท้จริง

ดังนั้นหากจะขอหยิบ ยืมคําพูดแบบเทลยาร์ เดอ ซาร์แด็ง เราอาจจะกล่าวได้ว่า

เราไม่ใช่กระบวนกรที่กําลังมานํากระบวนการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ

แต่เราเป็นจิตวิญญาณที่กําลังใช้บทบาทของกระบวนกร

เพื่อร่วมกันสรรค์สร้างจิตวิญญาณ

ด้วยคุณภาพแห่งการนําพาดังกล่าว ผู้เรียนตลอดจนทุกคนที่เกี่ยวข้องย่อมจะสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านั้นได้ด้วยใจ เป็นความรู้สึกอันลึกซึ้งที่ปรากฏขึ้นในใจ ผ่านการเอาทั้งเนื้อทั้งตัวมามีประสบการณ์ร่วมกัน ณ ตรงนั้น และด้วยคุณภาพการเรียนรู้แบบนี้นี่เอง สิ่งที่เรียกว่าจิตวิญญาณจึงจะเติบโตและงอกงามได้โดยแท้

การที่เราเข้ามาแสวงหามิติของจิตวิญญาณในชีวิตและในการทํางาน ทําให้เราเห็นว่าจิตวิญญาณนั้นเป็นศักยภาพของมนุษย์ เป็นการใฝ่ดีของชีวิตมนุษย์ ทั้งการเห็นซึ่งคุณค่าของตนเอง เคารพในคุณค่าของผู้อื่น รวมไปถึงคุณค่าของสรรพสิ่งในโลกและสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติที่มนุษย์ยังไม่เข้าใจ

ปัจจุบันที่โลกกําลังมีวิกฤติมากมายนั้น ทั้งโรคระบาด ความรุนแรง ปัญหาสังคม สงครามและสิ่งแวดล้อม หากเรามาช่วยกันทําให้โลกกลับมามีจิตวิญญาณมากขึ้น ก็น่าจะสามารถทําให้โลกของเรารอดพ้นจากวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ไม่มากก็น้อย

ท่านพุทธทาสเคยกล่าวว่า “ศีลธรรมไม่ กลับมา โลกาจะวินาศ” เราก็เชื่อว่าจิตวิญญาณเป็นส่วนสําคัญของศีลธรรมที่ท่านพุทธทาสกล่าวถึง และจิตวิญญาณนี้เป็นศักยภาพของมวลมนุษย์ทุกคนที่จะมากอบกู้วิกฤติที่กําลังเผชิญอยู่การส่งเสริมจิตวิญญาณ

ในชีวิตและในการทํางานเป็นการนําศีลธรรมให้กลับมาในโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สําคัญจิตวิญญาณสามารถช่วยให้มนุษย์เปลี่ยนทัศนคติจากการหลงในวัตถุ การบริโภคและการแข่งขัน มาเป็นการอยู่อย่างเกื้อกูลซึ่งกัน และกัน การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ไม่แปลกแยก ไม่รุ่มร้อน แต่จะเป็นการอยู่ที่เบาสบายและพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างมั่นคง

ขอผู้อ่านทุกท่านจงได้สัมผัสถึงสันติสุขภายในด้วยหัวใจอันเปี่ยมเต็ม ทั้งได้มีโอกาสที่จะสรรค์สร้างจิตวิญญาณให้งอกงามขึ้นทั้งในใจของผู้คนทั้งหลายและในโลก

คณะผู้เขียนหนังสือ
ศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์
คู่มือการจัดกระบวนการพัฒนาจิตวิญญาณ