การดูแลแบบประคับประคอง ทางเลือกที่ดีกว่าการุณยฆาต
การุณยฆาต เป็นทางออกที่ง่ายเกินไปสำหรับคนป่วย
สวนทางกับพัฒนาการของวงการแพทย์ ซึ่งได้พัฒนาวิธีบำบัดโรคได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
ถึงแม้ว่าในหลายกรณี การบำบัดโรคนั้นเองกลับก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน แต่ในทางกลับกัน การแพทย์แผนปัจจุบัน ก็มีวิธีบำบัดความทุกข์ทรมานที่มีประสิทธิผล โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นโรคที่รักษายาก หรือรักษาไม่หาย
ยุคนี้เราสามารถทำให้ผู้ป่วยที่มะเร็งลุกลามกระจายไปทั่วตัว และปวดอย่างทุกขเวทนามากเสียจนอยากตาย ให้หายปวดได้เป็นปลิดทิ้ง และสามารถใช้ชีวิตได้เต็มที่เช่นเดียวกับคนที่ไม่ป่วย เราพบว่า ผู้ที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรง แต่ไม่ทุกข์ทรมานจากความปวดหรืออาการรบกวนอื่นๆ ไม่มีใครอยากรีบตายหรอก โดยที่หากยังไม่ถึงเวลาที่จะจากไป ก็ยังสามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ได้
ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้ป่วยรู้ว่า ตนเองเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และเข้าใจในสัจธรรมว่า ถึงจะตายก็ได้ แต่ขอไม่ทรมานก่อนตาย
ซึ่งในวงการแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถที่จะเคารพความประสงค์ของผู้ป่วยที่จะไม่รับการรักษาตัวโรค เพื่อมิให้ต้องรับผลข้างเคียงจากการรักษา หรือเป็นภาระแก่คนในครอบครัวและสังคม หรือเพื่อใช้เวลาในการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์เป็นประโยชน์แทนการรักษาตัวในโรงพยาบาล
ผู้ป่วยก็มีสิทธิปฏิเสธการรักษาเหล่านั้น โดยจะยังคงมีบุคคลากรทางการแพทย์ช่วยดูแลต่อเนื่อง เพื่อบำบัดอาการทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
การแพทย์แนวนี้ เรียกกันว่า Palliative care ซึ่งภาษาไทยใช้ว่า “การดูแลระยะท้าย” หรือ “การดูแลแบบประคับประคอง” ซึ่งเน้นการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และเรื่องการดูแลแบบประคับประคองนี้ยังอยู่ในสิทธิรับบริการสาธารณสุขของรัฐทุกสิทธิอยู่แล้ว
ต้นฉบับ กรุงเทพธุกิจ บทความพิเศษ : การดูแลแบบประคับประคอง ทางเลือกที่ดีกว่าการุณยฆาต