“เหมือนคนไม่เคยลิ้มรสน้ำผึ้ง ถึงมีคนบอกเล่าว่าน้ำผึ้งหอมหวานอย่างไร ก็ไม่อาจเข้าใจความหวานหอมที่ว่าได้ แต่เมื่อได้ลิ้มรสสักครั้ง ก็จะรู้ซึ้งตลอดไป”

คืออุปมาที่ว่า ทำไมต้อง ‘ตื่นรู้’ และทำไม รศ.นพ.ธวัชชัย กฤษณะประกรกิจ จิตแพทย์และอาจารย์ถ่ายทอดพุทธศาสนา วัชรยาน และ อติโยคะ-ซกเช็น จึงไม่เคยหยุดศึกษาทบทวนทั้งโลกภายนอกและในตัวเองเลย

ที่ว่าไม่เคยหยุดศึกษา เพราะนอกจากหมอธวัชชัยจะมุ่งศึกษาด้านจิตเวชศาสตร์ วิชาการสะกดจิตบำบัดขั้นสูง  ซึ่งนัยหนึ่งคือศาสตร์บำบัดในทางโลก เขายังสนใจการบำบัดทางธรรม เดินทางไปฝึกอบรม วิปัสสนา ราชาโยคะ  สหัจมรรค จากครูอาจารย์ทั้งในและต่างประเทศ  ได้ศึกษาคำสอนใน วัชรยาน และไศวนิกาย ของแคชเมียร์ กุณฑลินีโยคะ ณ The Movement Center กับ Swami Chetanananda ผู้เขียนหนังสือ Dynamic Stillness เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา

กุณฑลินีโยคะ คือโยคะที่เน้นภาวนาจักระทั้ง 7 หรือศูนย์พลังงานในร่างกายมนุษย์. มีการกำหนดลมหายใจ การเคลื่อนจิตรู้ ผ่านจักระ และการทำงานในระดับจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกควบคู่ไปด้วย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ากุณฑลินีโยคะ คือ การภาวนาที่เชื่อมมิติของพลังชีวิต ทั้งภายในและภายนอกตัวเรา จนบรรลุความเป็นหนึ่งของการสั่นสะเทือนที่ยิ่งใหญ่ ( The Great Tremor)

หากให้ทบทวนว่าทำไมเขาจึงสนใจเดินบน -สิ่งที่คนส่วนใหญ่ระบุว่าคือ- โลกคู่ขนาน ระหว่างแพทย์ในทางวิทยาศาสตร์และการบำบัดในทางธรรม เขายืนยันชัด ‘ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ’ และถึงที่สุด ‘เส้นแบ่ง’ ของโลกคู่ขนานที่ว่า อาจไม่มีจริง เป็นแต่เพียงสิ่งสมมติที่ขีดขึ้นก็ได้

และหากได้ฟังการเรื่องราวและการเดินทางของนายแพทย์ธวัชชัย สุดท้ายอาจสรุปเช่นนั้น…

การเป็นจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

เด็กชายธวัชชัยเกิดในครอบครัว เชื้อสายจีน เป็นบุตรคนที่ 3 จากพี่น้องทั้งหมด 5 คน จบการศึกษาชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล แล้วสอบเข้าเรียนแพทย์ ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เขาทำงานเป็นแพทย์เต็มตัวที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นอยู่ระยะหนึ่ง จึงโอนย้ายเป็นอาจารย์ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำงานสอนจนดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตร์จารย์ ระหว่างนั้นเอง เริ่มสนใจเข้าอบรมการย้อนอดีตชาติบำบัดและการสะกดจิตบำบัดขั้นสูง ต่อมาจึงก่อตั้งศูนย์อนัมคาราเพื่อปัญญาเมตตาและสันติสุข ทำในเรื่องจิตใต้สำนึกบำบัด และการปฏิบัติในพุทธศาสนา วัชรยาน ตั้งแต่ปี 2555  จนถึงปัจจุบัน เป็นจิตแพทย์ ประจำโรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น

เมื่อถามว่า ตั้งแต่เมื่อไรที่เขาเริ่มสนใจศาสตร์ทางธรรมหรือการสำรวจโลกภายใน นายแพทย์ธวัชชัยตอบว่า เป็นความสนใจส่วนตัวตั้งแต่เด็กๆ และจุดประสงค์ที่ตั้งใจศึกษาเรียนรู้เพื่อเป็นจิตแพทย์ ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

“ตั้งแต่จำความได้ สิ่งที่อยู่ในความสงสัยและสนใจของตัวเองคือ ความจริงของชีวิต ของโลก และคำถามที่ว่า อะไรคือความจริงสูงสุด เช่น สงสัยกับตัวตนของตัวเองว่ามีจริงไหม ทำไมบางครั้งเราสำนึกหรือรู้ว่ามี ‘ตัวฉัน’ ทำไมบางครั้งที่ทำอะไรเพลินๆ ‘ตัวฉัน’ ก็หายไป สงสัยว่า ‘ตัวฉัน’ ในตอนเช้า ยังเป็น ‘ตัวฉัน’ ในตอนกลางวันอยู่ไหม สงสัยว่า ‘ตัวฉัน’ มีความต่อเนื่องจริงๆ หรือ? สงสัยว่าโลกหรือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราเป็นเรื่องจริง หรือเป็นเพียงฉากในละคร ผมหรือเด็กคนนั้น ก็จะไปแอบอยู่มุมตึกเพื่อสังเกตชีวิตของผู้คนว่าเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร หากไม่มีเราเข้าไปรับรู้ ทุกคนหรือทุกสิ่งยังเป็นอย่างที่เป็นไหม 

“นี่คงเป็นความสนใจหนึ่งที่ทำให้เราฝึกสมาธิตั้งแต่เด็ก ใช้เวลาทบทวนหนังสือเรียน สลับกับอ่านหนังสือธรรมะและฝึกสมาธิไปด้วย ที่เราเลือกเรียนแพทย์ ตั้งใจเป็นจิตแพทย์ ก็เพราะมีใจปรารถนาจะช่วยผู้ที่มีความทุกข์ใจ อยากให้เขามีความสุข มีรอยยิ้ม มีความเข้าใจชีวิตมากขึ้น” นายแพทย์ธวัชชัยกล่าว

มหัศจรรย์ความฝันที่ยังจำได้

หากการเป็นจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ อย่างน้อย มนุษย์คนหนึ่งต้องผ่านความขยันหมั่นเพียรจนสำเร็จการศึกษาในศาสตร์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความแม่นยำในตำรา ตำราที่ว่ายังมีมากหมายหลากหลายทฤษฎีให้ต้องท่องจำ ทั้งยังต้องทำงานอย่างเข้มงวด เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่นานปีเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ

แต่การเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะต้องผสานระหว่างทฤษฎีวิทยาศาสตร์กับการบำบัดจิตใจในทางธรรมะ อาจต้องบอกว่า ไม่ใช่จิตแพทย์ทุกคนที่จะใฝ่ใจ

ที่มาของเรื่องทั้งหมด นายแพทย์ธวัชชัยเล่าว่ามาจากประการณ์ชีวิต 2 เหตุการณ์ใหญ่ที่ได้จากการนั่งสมาธิในวัยเด็กและนิมิตในวัยกลางคน

“เมื่อฝึกสมาธิจนจิตสงบนิ่ง มีปรากฏการณ์เหนือคำอธิบายมากมายเกิดขึ้นที่ทำให้เชื่อมั่นว่ายังมีความจริงอื่นที่อยู่เหนือการรับรู้จากสัมผัสปกติ และเราปรารถนา และต้องไปแสวงหาให้ถึงที่สุดของความจริงนั้นให้ได้ 

“ช่วงมัธยม ตอนนั้นผมอยู่คนเดียวบนบ้าน รู้สึกตัวดีเป็นปกติ ขณะนั้นเป็นตอนกลางวัน แต่จู่ๆ ปรากฎว่าห้องทั้งห้องสว่างไสวขึ้น แล้วมีร่างเพชร 2 ร่าง ( Vajra Body) เป็นเพชรรูปข้าวหลามตัดหลายๆ ชิ้น สีดำวาววับรวมกันเหมือนร่างคนระยิบระยับลอยอยู่  ร่างแรกเป็นร่างใหญ่ลอยอยู่ข้างหน้า อีกร่างซึ่งเล็กกว่าลอยเยื้องไปทางด้านหลัง ทั้งสองร่างค่อยๆ ลอยช้าๆ ตรงเข้ามาที่ผมยืนอยู่ ผมรู้สึกว่าร่างทั้งสองมีพลังเข้มข้นมากจนผมต้องหลับตาไม่กล้ามอง แล้วร่างเพชรทั้ง 2 ก็หลอมรวมเข้ามาในตัวผม มันรู้สึกซ่าน ขนลุกไปทั้งตัวพร้อมกับความสั่นสะเทือนรุนแรงไปทั่วร่างกาย 

“ชั่วเวลาหนึ่ง ความรู้สึกเข้มข้น ก็ค่อยคลี่คลายกลับมาเป็นปกติ ร่างเพชรนั้นหายไป ในเวลานั้นผมไม่รู้ว่าสิ่งนี้คืออะไรจนเมื่อมาศึกษาอติโยคะ-ซกเช็นในวัชรยาน  ถึงเข้าใจว่านี้คือการถ่ายทอดความรู้ขององค์คุรุแบบจิตสู่จิต หรือ mind transmission”

แม้จะเพิ่งเข้าใจปรากฎการณ์นั้นในวันที่เขาโตขึ้นและได้ศึกษาอติโยคะ-ซกเช็น ในวัชรยาน แต่ถือเป็นประสบการณ์หนึ่งที่ทำให้นายแพทย์ธวัชชัย ซึ่งแม้จะเรียนแพทย์และฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจิตเวชแล้ว ยังคงศึกษาปฏิบัติธรรมหลากหลายสำนัก ทั้งในและต่างประเทศ และหาทางศึกษากับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะของสาขานั้นๆ

“ในการศึกษาและปฏิบัติธรรม ผมจะดั้นด้นสืบเสาะไปเรียนรู้จากครูอาจารย์ต้นตำรับของแนวทางนั้นๆ ทั้งที่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และยังได้บวช 1 พรรษาที่วัดถ้ำผาปู่ กับหลวงพ่อสีทน สีลธโน ในสายหลวงปู่คำดี ปภาโส  ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั้งหมดนี้เพื่อพยายามต่อจิ๊กซอว์ของความจริงแท้ให้ได้ 

“และแม้ระหว่างศึกษาจะทำให้ค่อยๆ เข้าใจมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น การปฏิบัติของผมก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ เป็นไปตามกระแสโลกบ้าง หันมากระแสธรรมบ้าง สลับสับเปลี่ยนกันไป”

กระทั่งความฝันครั้งหนึ่งเมื่อ 20 ปีก่อน ที่อาจเรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งในชีวิต  ยังจำได้ว่าเป็นความฝันที่แจ่มชัดเหมือนจริง จดจำได้ทุกรายละเอียด และความรู้สึก

“ผมฝันเห็นพระลามะทิเบต 2 องค์เดินเข้ามาหา แล้วลามะองค์หนึ่งก้มศรีษะลงมาที่ผมยืนอยู่ มองเข้าไปที่ศรีษะท่านเห็นหลุมดำลึกมากทะลุลงไป ผมได้ยื่นมือเข้าไปสัมผัสกับหลุมดำนั้น  แล้วรู้สึกถึงพลังหมุนวนรุนแรง พลังนั้นเลื่อนผ่านมาตามแขนตรงไปสู่หัวใจ  เกิดความสั่นสะเทือนที่รุนแรงมากในหัวใจ  ผมเช้าใจว่านั่นคือการถ่ายทอดความรู้ วิธีการภาวนาที่หัวใจ ซึ่งผมได้นำมาสอนศิษย์ในเวลาต่อมา “

อาจตีขลุมเอาว่าเป็นความบังเอิญ แต่ลามะที่พบในความฝัน ปรากฎจริงในหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อ Dynamic Stillness ผู้เขียนคือ Swami Chetanananda และก็คือ Swami Chetanananda คือลามะท่านนั้น

“พอเห็นรูปท่านในหนังสือ จำได้เลยว่าท่านนี้แหละที่เราพบในความฝัน ความรู้สึกตอนนั้นคือ ‘อยู่ไม่ได้แล้ว’ ผมรีบกลับมาทำเรื่องขอทุนจากคณะแพทย์ไปฝึกอบรมเรื่องสมาธิ เพราะขณะนั้นผมทำคลินิกสมาธิบำบัดที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการบำบัดทางจิตนอกเหนือจากการใช้ยา ผมจึงเร่งขอทุนเพื่อไปอบรมที่ The Movement Center ซึ่งเป็นสถาบันที่ครูท่านนี้สอนกุณฑลินีโยคะ ต้องนับเป็นความกรุณาที่ทางคณะแพทย์ก็ให้ทุนด้วย

“ที่นี้เองที่ทำให้ผมได้รับประสบการณ์การตื่นรู้ภายใน เป็นการฝึกที่ถือว่าได้รับการถ่ายทอดจากคุรุเบื้องบน ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนกับก้อนพลังงานไร้ร่างขนาดมึมา  ส่งพลังงานที่หนาแน่นนั้นมาครอบคลุมทั่วร่างกาย แล้วจักระในร่างกายทั้งหมด ก็ระเบิดออกอย่างรุนแรงพร้อมกัน ทั้งโลกเหมือนสั่นสะเทือนแล้วพังทลายลง ความนึกคิดดับ มีแต่เสียงสวดมนต์ด้วยภาษาโบราณดังกึกก้อง แต่ในจิตใจมีแต่ความเงียบสงบ ไร้การกระทำ ไร้ความพยายาม ศิโรราบให้กับความจริงที่ปรากฏนั้น”

ช่วงเวลา 1 เดือนที่เข้าอบรมที่ The Movement Center  พอเหมาะพอดีที่พระลามะรินโปเชผู้ใหญ่ชื่อ ลามะ เซริง วังดู รินโปเช นิกายนฺยิงมะปะ ถือเป็นนิกายย่อย 1 ใน 4 ของพุทธวัชรยาน ทิเบต เดินทางมาที่ The Movement Center ด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้วัชรยานอย่างจริงจังในเวลานั้น และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจในด้านวัชรยาน

อย่างที่เขากล่าวว่า ‘เป็นความสนใจที่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ’ 

ความหมายของ ความจริงและการ ตื่นเพื่อรู้

เพราะตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบว่า ‘ความจริง’ คืออะไรมาตั้งแต่ยังเด็ก คำตอบของหมอธวัชชัยในวันนี้ การตื่นรู้ หรือ awakening คือประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของบุคคลที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน พ้นไปจากความคิดคำนึง  พ้นไปจากมโนภาพ  พ้นไปจากการกระทำทั้งหมด

“การตื่นรู้ทำให้เห็นความจริงที่อยู่เบื้องหลังของทุกปรากฏการณ์ เป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่กว่าจิตสำนึกเดิมที่เคยยึดอยู่ เป็นความจริงที่เชื่อมโยงกับทุกชีวิต คุณค่าของชีวิตคือการได้ช่วยให้สรรพชีวิตทั้งหลายพบความสุขอันแท้จริง  การตื่นรู้ทำให้พบสัจธรรม หลุดพ้นจากความทุกข์ของอัตตา  เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงต่อชีวทัศน์ โลกทัศน์ ระบบคุณค่า และความหมายของการมีชีวิต ทั้งของตัวเองและผู้อื่น”

แต่หากเทียบเคียงการเดินทางของนายแพทย์ธวัชชัย หลายคนอาจตั้งคำถาม การเข้าถึงความจริงแบบนี้ จะเกิดขึ้นจริงกับบุคคลอื่นหรือไม่ และการตื่นรู้ในความหมายนี้ จำเป็นต่อทุกผู้คนจริงหรือ?

“ชีวิตเหมือนห้องเรียนที่เราจะฝึกฝนจนเข้าใจแจ่มแจ้งได้ การบรรลุธรรมเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนเข้าถึงได้ เพราะเราต่างมีพุทธะภาวะที่สมบูรณ์ หมายความว่าแต่ละคนมีเมล็ดพันธุ์ของการตื่นรู้ในตัวอยู่แล้ว  เพียงแต่รอเวลาที่จะเปิดเผย และถ้าค้นให้ลึก มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาต่างมีความปรารถนาจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่ทำให้พ้นทุกข์ ซึ่งการรู้แจ้งในธรรมชาติแท้จริงในตัวเอง เป็นแสงสว่างภายในเพื่อช่วยให้เราพบความจริงและช่วยผู้อื่นได้พบความจริงนี้และพ้นทุกข์ได้เช่นเดียวกัน”

นายแพทย์ธวัชชัยกล่าวต่อว่า อุปสรรคที่ทำให้แต่ละคนยังไม่อาจค้นพบความจริง อุปสรรคที่สำคัญที่สุด คือ ‘ตัวเอง’

“อุปสรรคอยู่ที่ ‘ตัวเอง’ คือไม่ให้ความสำคัญ ปฏิบัติก็ไม่สม่ำเสมอ พยายามแสวงหาไปเรื่อย แต่ไม่ทุ่มเทลงลึกในแนวทางนั้นๆ หรือมองการปฏิบัติธรรมเป็นเพียงงานอดิเรก

“อีกประการคือการปฏิบัติธรรมที่มุ่งเน้นแต่เพื่อตัวเองถือเป็นข้อจำกัด  เปรียบได้กับนักเรียนแพทย์ 2 คน คนหนึ่งเรียนหนังสือเพื่อให้สอบได้คะแนนดีๆ  นักเรียนแพทย์อีกคนเรียนเพื่อเอาความรู้ไปรักษาช่วยเหลือคนป่วย  คนไหนจะเรียนเก่งและจริงจังกว่า?”

นอกจากนี้ยังเป็นกรอบคิดที่ไม่สมดุล การทำอะไรมากเกินพอดี เช่น ยึดติดในหลักการ  ยึดติดบุคคล  ยึดติดตำรา ยึดติดกับมโนภาพที่เป็นเพียงภาวะแฝงของจิตที่ปลดปล่อยออกมาในแต่ละขั้นตอน ก็ไม่ควรหยุดแต่เพียงเท่านั้น  ต้องวางลงทั้งหมด จนขาดสะบั้นหมดออกจากใจ ธรรมแท้จึงปรากฏ

“ในสมาธิภาวนาครั้งหนึ่ง ปล่อยวางหมด วางการทำสมาธิ วางผู้กระทำ วางการกระทำทุกอย่างสิ้นเชิง  จู่ๆก็ปรากฏสภาวะความรักเมตตาอนันต์  ซึ่งยิ่งใหญ่มากและพ้นไปจากความนึกคิด ได้แผ่พวยพุ่งออกจากหัวใจ  แล้วขยายแผ่ไพศาลแทรกซึมไปทั้งจักรวาล มีแต่อณูความรักอันปีติท่วมท้นเป็นหนึ่งเดียวทั้งหมด  หมดสิ้นความคิด มีแต่การดำรงรู้ในพลังรักบริสุทธิ์ ทั้งกลางวันกลางคืน ตลอดเวลานานหลายวัน  จะยืนเดินนั่งนอน ทานข้าว อาบน้ำ ทุกที่ทุกแห่งรอบตัวในทุกสิ่ง  คือสภาวะความรักที่ละเอียดอ่อนโยน ทำอะไรมีแต่ความรักทำ  ตัวเราก็เป็นความรัก  การกระทำก็เป็นความรัก  ความรักเดิน ความรักนั่ง ความรักนอน  ไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องกำหนด ไม่ต้องตั้งสติอะไรเลย  เป็นความรักที่เป็นสติธรรมชาติ เป็นไปเองและแทรกซึมอยู่ในทุกสิ่งอย่างเท่าเทียม  เป็นความอัศจรรย์ของชีวิต ! ”

สุดท้ายนี้ นายแพทย์ธวัชชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า การสำรวจโลกภายในจนพบความจริงและเกิดการเปลี่ยนแปลงในใจตัวเอง คุณูปการของสภาวะนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะผู้นั้น แต่การตื่นรู้ของบุคคลหนึ่ง คือการตื่นรู้ของทั้งหมด เราทุกคนคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นความจริงสูงสุดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นก้าวเล็กๆ หรือก้าวใหญ่ๆ แต่หากหมั่นศึกษา ฝึกปฏิบัติ และเกื้อกูลเป็นกัลยาณมิตร สิ่งที่เกิดขึ้นในคนหนึ่งคน ย่อมส่งผลต่อใครอีกหลายคน เมื่อหลายคนส่งถึงกันนั่นย่อมเกิดความเชื่อมโยงและส่งผลต่อการตื่นรู้ในสังคมในที่สุด “เพราะไม่มีใครหลุดพ้นได้โดยลำพัง เมื่อข้ามพ้นจากสำนึกตัวตนไปสู่ธรรมชาติความจริงอันสมบูรณ์ยิ่งใหญ่  ย่อมก่อเกิดความกรุณามหาศาล มีแต่ความปรารถนาจะแบ่งปันสิ่งดีๆ ต่อกัน สังคมจะเป็นสถานที่อันอุดมด้วยปัญญา เมตตาและสันติสุขที่แต่ละคนจะเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้”