Search
Close this search box.

ชีวิตนี้ต้องไม่เป็นโมฆะ

“ผมเป็นนักเรียน นักเขียน นักแปล และเป็นกระบวนกร หน้าที่หลักคือการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม ให้ก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์ยุติธรรมและยั่งยืน ผมทำงานนี้มาตลอดชีวิตตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย และตั้งใจที่จะตายคางานนี้”

นี่คือคำพูดที่แสดงถึงจุดยืนอันมั่นคงภายในของ อาจารย์ประชา หุตานุวัตร ในฐานะผู้อำนวยการของโครงการมหาวิทยาลัยทางเลือกของเสมสิกขาลัย ตลอดหลายสิบปีที่ท่านได้เรียนรู้บนเส้นทางของการเติบโตภายใน จนมาสู่บทบาทของการเป็นครู อาจารย์ผู้มีปณิธานในการถ่ายทอดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและการพัฒนาภายในควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงโลกภายนอก กว่าจะถึงวันนี้ เส้นทางของการเติบโตของอาจารย์เป็นอย่างไร

บนเส้นทางสู่การเติบโตภายใน

สำหรับปุถุชนอย่างผม การตื่นมีหลายระดับ หลายมิติ และไม่ได้เป็นไปตามลำดับขั้นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ในห้องเด็กเรียนเก่ง ผมเริ่มเห็นว่า การแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตาย ไม่สนุกเสียแล้ว มีแต่ความทุกข์ เมื่อได้อ่านงานของอาจารย์พุทธทาสมากพอ ก็ตื่นขึ้นมาว่า ชีวิตที่ถือเอาการแสวงหาทรัพย์ อำนาจ ชื่อเสียง และกามสุข เป็นเป้าหมายสูงส่งนั้นแหละเป็นต้นเหตุของทุกข์ ผมจึงตัดสินใจออกจากลู่นั้น เลือกทางใหม่ ที่จะลดทุกข์ของตนเองและสังคมแทน

การเฝ้าดูจิตเกือบตลอดเวลาด้วยความอยากรู้อยากเห็นตาม การอ่านคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส โดยปราศจากครูบาอาจารย์ทำให้ผมพลัดเข้าสู่ภาวะอยู่ในปัจจุบันขณะโดยไม่ต้องกำหนด เป็นเวลาหลายเดือน เพราะขาดครูบาอาจารย์แนะนำใกล้ชิด จึงไม่สามารถรักษาภาวะนั้นไว้ให้ยั่งยืนได้

เมื่อรู้ชัดว่าเป้าหมายของชีวิต ไม่ใช่การหาทรัพย์ อำนาจ ชื่อเสียง กามสุขแล้ว ต่อจากนั้นไม่นาน ผมก็หันมาสมาทานลัทธิมาร์กซ์ ที่เสนอเป้าหมายชีวิตใหม่ ว่า ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่อุทิศเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่แล้วสามปีของการช่วงชิงอำนาจ ‘ช่วงชิงการนำ’ ภายในแวดวงชาวมาร์กซิสต์ ก็ทำให้ผมตื่นขึ้นมารู้ว่า ขบวนการนี้ไม่สามารถนำไปสู่สังคมใหม่ที่ดีงามได้แน่ ที่กล่าวนี้ไม่ได้มีนัยว่าผมดีกว่าคนอื่น ผมก็อยู่ในอีหรอบเดียวกันนั่นแหละ

พอศรัทธาต่อลัทธิมาร์กซ์ตกลง ผมก็ก้าวออกจากลู่นี้เพื่อหาทางใหม่ โชคดีที่ผมมีเพื่อนดีที่สร้างชุมชนพุทธแบบร่วมสมัย ผมจึงไม่เคว้งคว้างมากและนานเกินไป

เมื่อออกจากขบวนการฝ่ายซ้าย และได้บวชเรียนฝึกภาวนากับครูบาอาจารย์ในป่าเขาอย่างจริงจังในปีแรก ผมก็ได้เห็นว่า ความทุกข์ของตนนั้น เกิดจากความคิดของตนเองเป็นส่วนใหญ่ นี่ก็เป็นการตื่นที่สำคัญมาก กล่าวคือ คนส่วนมากคิดปรุงแต่ง รวมทั้งตีความสิ่งที่เรารับรู้ด้วยจินตนาการของเราเอง โดยมักไม่ได้ตรวจสอบความคิดนึกนั้นกับความเป็นจริง หรือในหลายกรณีตรวจสอบไม่ได้ แต่เราก็คิดเป็นตุเป็นตะว่านั่นว่านี่ แล้วก็ทุกข์ใจร้อนใจ ดีใจเสียใจ กับนิยายที่เราสร้างขึ้นนั้นๆ ที่ว่าสำคัญก็เพราะว่าคนส่วนมากลืมไปกว่าความคิดความเชื่อและความจริงเป็นคนละเรื่องกัน เข้าทำนอง ‘ไม่รู้ว่าไม่รู้เป็นโทษหนัก’ ตามคติเต๋า

เมื่อพบกับสุขจากการภาวนาเล็กๆ น้อยๆ ก็ตื่นและรู้ว่า โอ สุขที่ยิ่งกว่ากามสุขที่เคยรู้จักนั้นมีจริง นี่ก็สำคัญมาก

เมื่อใคร่ครวญถึงความไม่แน่นอนของสรรพสิ่งรอบตัวเป็นประจำช่วงหนึ่ง ก็ทำให้จิตสลด เป็นความสุขสงบจากการสลัดออกของจิตชั่วเวลาที่เห็นความไม่เที่ยงนั้น นี่ก็เป็นการตื่นอีกแบบหนึ่ง

เมื่อใคร่ครวญสังคมทั้งระบบ ก็เห็นว่าทุกข์ของสังคมมีมาก คนทรัพย์น้อย อำนาจน้อย ไม่มีชื่อเสียง ถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดเวลา เป็นฝ่ายเสียเปรียบในระบบสังคมที่เป็นอยู่ เมื่อศึกษาลึกลงไปก็พบว่า ทุกข์ทางสังคมนี้มีเหตุมาจากการจัดโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ที่เรียกว่าทุนนิยมเสรี ที่ให้อำนาจอย่างมากเกินพอดีกับชนชั้นนำผู้มั่งมีเงินทองและทรงอำนาจ ที่จะเอารัดเอาเปรียบชนชั้นกลางและผู้ยากไร้ แถมชนชั้นนำเหล่านี้ยังถลุงเอาธรรมชาติมาใช้สอยจนดุลของระบบนิเวศเสียไปหมด โดยระบบนี้ส่งเสริมโลภจริตอยู่ตลอดเวลา ทั้งในแง่ของปัจเจกบุคคล (แข่งกันว่าใครจะรวยกว่ากัน ใครจะมีอำนาจมากกว่ากัน) และเป็นหมู่เหล่า (แข่งกันว่าประเทศไหนจะมีจีดีพีสูงกว่ากัน)

ขณะเดียวกัน เมื่อศึกษาระบบสังคมนิยมที่ต้องการแก้ปัญหาของทุนนิยม ก็พบว่า ระบบสังคมนิยมก็ล้มเหลว เพราะโครงสร้างสังคมทำให้คนกลุ่มน้อยมีอำนาจมากเกินไป และใช้อำนาจในการกดขี่คนส่วนใหญ่อีกแบบหนึ่ง แม้จะมีฝ่ายที่มีอุดมคติ ทำด้วยความปรารถนาจะให้เกิดสังคมที่ดีงาม ก็ปรากฏว่า พวกเขาจำนวนไม่น้อยคาดหวังจากมนุษย์มากเกินไป ระบบสหกรณ์และระบบคอมมูนภายใต้ระบบสังคมนิยมจึงล้มเหลวลงอย่างน่าเสียดาย เพราะพื้นฐานทางปรัชญาของลัทธิมาร์กซ์ไม่เข้าใจมนุษย์มากพอ

และเมื่อศึกษากว้างออกไปก็พบว่า โครงสร้างสังคมแบบที่สามก็มีอยู่อาจเรียกว่าเป็นระบบทุนนิยมเพื่อสังคมของยุโรปตะวันตก แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้มาก แต่ก็ไม่แก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะยังตั้งอยู่บนชุดความคิดของยุคที่ผมเรียกว่าฝรั่งตรัสรู้ (European Enlightenment) ที่เชื่อในเรื่องการเอาชนะธรรมชาติ ถือเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางในการวัดค่าของสิ่งต่างๆ และเชื่อเรื่องความเจริญก้าวหน้าแบบเส้นตรง อันเป็นมิจฉาทิฐิทางอารยธรรมอย่างร้ายแรง

การตื่นที่เกิดขึ้นจากการได้ศึกษา รวมทั้งได้ไปเห็นสภาพสังคมแบบต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ผมเชื่อว่าคำตอบหลักอยู่ในวัฒนธรรมของเราเอง คือแก่นของพุทธศาสนา จะเป็นฐานของสัมมาทิฐิทางอารยธรรมใหม่ได้ เพื่อให้เราอยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืน โดยไม่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ขณะเดียวกันก็เห็นค่ายิ่งใหญ่ของความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ ผมไม่ได้ลดความสำคัญของการถอดบทเรียนจากสังคมทุกแบบที่กล่าวมาแล้ว แต่เอาบทเรียนนั้นๆ มาตั้งใหม่บทฐานชุดความคิดใหม่ของพุทธธรรม และอารยธรรมตะวันออกอื่นๆ

นี่คือการตื่นรู้ทางสังคมและระบบนิเวศ

นิยามของการตื่นรู้​

การตื่นรู้ หมายถึง รู้ทุกข์และรู้ทางออกจากทุกข์ ทั้งทุกข์ของปัจเจกชน ทุกข์ของสังคม และทุกข์ของระบบนิเวศ ผมฝึกตนให้ตื่นรู้เพื่อลด ละ เลิก ทุกข์ทั้งสามมิติ ถ้าไม่ฝึกตน ผมก็คงจมอยู่กับทุกข์เหล่านี้ เท่ากับไม่ได้ทำหน้าที่สมกับที่เกิดเป็นคน ผมถือตามคติโบราณว่าการฝึกตนให้ตื่นรู้เป็นการทำหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ ตื่นมากเท่าไร ก็เป็นมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น

ในทางปฏิบัติการตื่นรู้นี้ มีหลายระดับ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติก็มี เพราะมนุษย์มีการตื่นรู้เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่คนมักจะไม่ได้สังเกตเห็น นอกจากนั้นยังมีการตื่นรู้ด้วยสมาธิภาวนา ที่ทำให้จิตเกลี้ยงจากนิวรณ์ขณะอยู่ในสมาธิ และที่สำคัญคือการตื่นด้วยปัญญาเห็นไตรลักษณ์ แบบปุถุชนอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ตื่นแบบชั่วครั้งชั่วคราวเมื่อสติปัญญาอยู่ตัว

ประโยชน์ของการตื่นคือการลด ละ เลิกความทุกข์ทั้งสามมิติ ในระดับปัจเจกชน ทำให้ผมทุกข์น้อยลง ในระดับสังคม ทำให้เพื่อนมนุษย์ทุกข์น้อยลง ในระดับนิเวศ ทำให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืนฟื้นตัวได้ง่ายขึ้น สำหรับผมการเข้าถึงความจริงคือทุกข์และต้นตอของทุกข์นั้นเป็นปฐมเหตุ การตื่นรู้นั้นเป็นผล ผมเชื่อว่าถ้าฝึกไปเรื่อยๆ ก็จะก้าวสู่การเป็นอริยชนที่เป็นการตื่นอย่างยั่งยืน ที่เป็นอิสระสิ้นเชิงจากการเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ทำให้ไว้วางใจชีวิตและจักรวาล และทำสิ่งที่ดีงามอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องฝึกฝืนอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายใน ถ้ามองการตื่นรู้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะภายใน เป็นการมองด้วยชุดความคิดเดิม หรือกระบวนทัศน์เก่า ที่ผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยชนชั้นนำ เพื่อให้ศาสนาเป็นเครื่องมือทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อง และอยู่ในอำนาจครอบงำของตน เพื่อพวกตนจะได้เอารัดเอาเปรียบและร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้นไป โดยคนส่วนใหญ่หลับใหลอยู่กับความรู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยด้อยค่า แล้วแข่งขันกันบริโภค จับจ่ายใช้สอย ถีบหัวกัน เพื่อปีนขึ้นไปข้างบนเรื่อยๆ อย่างไร้ความหมาย ผมถือว่าถ้าฝึกตื่นรู้แต่ภายในก็เป็นการหนีความเป็นจริงของโลก หาความสุขเฉพาะตนหรือพวกตน ผมถือว่าพระพุทธเจ้านั้น ท่านเห็นทั้งทุกข์ของปัจเจกบุคคลและทุกข์ของสังคม ท่านจึงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นเพื่อเป็นชุมชนทวนกระแส เผยแพร่วัฒนธรรมที่เป็นสัมมาทิฐิ

ชีวิตและสังคมที่ดีงามต้องตั้งอยู่บนชุดความคิดที่ถูกต้อง โดยดูจากหลักอริยสัจ 4 อันเป็นกฎธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ โครงสร้างภายในจิตใจและโครงสร้างทางสังคมต้องนำไปสู่การลดละ ความต้องการที่เกินจำเป็นของมนุษย์ (ตัณหา) และพอกพูนความกรุณาและปัญญาของมนุษย์และสังคมให้งอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป โครงสร้างสังคมที่ดีงามคือกัลยาณมิตรของมนุษย์ที่ควรเอื้อให้มนุษย์ได้มีโอกาสพัฒนาปัญญาและกรุณาในปัจเจกบุคคล ไม่ใช่พัฒนาความโลภและความหลงดังที่ระบบโครงสร้างปัจจุบันเป็นอยู่

หลุมพรางระหว่างการเดินทาง

ขณะที่ตื่นขึ้นนั้น คือชีวิตที่กำกับด้วยสติและปัญญา ความเครียดก็น้อยลง ผมก็เอาตัวเองเป็นที่ตั้งน้อยลง คิดถึงอกเขาอกเรามากขึ้น คนรอบเราก็พลอยเครียดน้อยลงไปด้วย และก็เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ฝึกไปด้วย อย่างไรก็ตาม ความที่ยังเป็นปุถุชน ผมก็มีช่วงที่ขาดสติปัญญากำกับไม่ใช่น้อย เมื่อนั้นชีวิตก็เครียด ก็ทุกข์ คนรอบข้างก็ทุกข์และเครียดไปด้วย แม้จะทำงานเพื่อสังคมเป็นหลักในชีวิตมาโดยตลอดก็ตาม ในนามของการทำงานเพื่อสังคมนั้น เราก็เอาตัณหาอุปาทานไปจับงานที่ทำ เมื่อนั้นเราก็สร้างปัญหาไม่ใช่น้อยในนามของคุณงามความดี

หากไม่มีการตื่นและเติบโตภายใน ผมคงเป็นคนเครียด อาจจะเครียดจนเจ็บป่วยตายไปแล้วก็ได้ หรือไม่ อาจจะร่ำรวย หรือเป็นนักการเมือง มีเงิน มีอำนาจ ทำร้ายผู้คนใกล้ไกล เพื่อสนองอัตตาวาทุปาทานของตนเอง โกหกตอแหลเพื่อตนเองจะได้ทรัพย์ อำนาจ ชื่อเสียง และกามสุขมากมายอย่างไม่รู้จักจบสิ้น อาจจะดูเหมือนสำเร็จทางโลกมาก แต่ชีวิตคงไม่มีความสุข เป็นภาชนะก้นรั่ว เติมเท่าไรก็ไม่เต็ม เพราะไม่ได้แก้ปมที่ว่าตัวเองดีไม่พอ มีไม่พอ เก่งไม่พอ ฉลาดไม่พอ ที่สังคมยัดเยียดให้ตั้งแต่เล็กนั้นเอง ผมก็อาจจะกลายเป็นเหยื่อของระบบที่ใช้ผู้คนเป็นทาสเพื่อให้ระบบดำรงอยู่ต่อไป เพื่ออำนวยให้คนจำนวนน้อยร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้นไป มีอำนาจยิ่งๆ ขึ้นไป แต่ก็หาได้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไปไม่ เพราะทั้งคนมีและคนยากไร้ต่างก็เป็นเหยื่อของระบบเช่นเดียวกัน

อุปสรรคสำคัญที่สุดของการตื่นคือการรู้ไม่เท่าทันอัตตาวาทุปาทาน ที่เข้ามาครอบงำเวลาขาดสติปัญญา เนื่องจากละเลยการฝึกฝนตนเอง เพราะศรัทธาตก เลยใช้ชีวิตอย่างประมาท ทำร้ายผู้คนโดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง สำหรับผม การก้าวผ่านอยู่ที่การเข้าหากัลยาณมิตร ฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์ อ่านหนังสือที่เป็นสัมมาทิฐิ ใคร่ครวญชีวิต เตือนตนให้ระลึกถึงทุกข์โทษของการใช้ชีวิตอย่างประมาท พอพลังศรัทธากลับมา ก็ฝึกฝนตนเองต่อไป

ตื่นเพื่อตนเอง ตื่นเพื่อทั้งหมด

ถ้าคนที่ฝึกตนจริงจังเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างในจิตใจตนเอง และร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างสังคมพร้อมๆ กันไปด้วย ก็จะสามารถสร้างสังคมสัมมาทิฐิขึ้นได้ แบบค่อยเป็นค่อยไป โอกาสที่สังคมไทยจะก้าวไปสู่สังคมที่ดีงามโดยไม่ต้องรบราฆ่าฟันกันเองก็เป็นไปได้ แต่ถ้าคนที่ฝึกตนมุ่งแต่การตื่นรู้ส่วนตนและไม่รู้เรื่องโครงสร้างสังคม การตื่นรู้นั้นก็มีผลกระทบต่อสังคมในภาพรวมน้อยมาก การตื่นรู้แบบนั้นก็เป็นเพียงการหนีอย่างหนึ่งนั่นเองดังกล่าวมาแล้ว แม้ตนเองจะบรรลุธรรมก็ตาม ถ้าถามว่าพระสงฆ์ก็ต้องเข้าใจโครงสร้างสังคมด้วยหรือ เห็นพระบางรูป ท่านก็ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองเลย แต่ท่านก็สอนให้มีเมตตากรุณาผู้อื่น และเท่าทันกิเลสของตนเอง

คำตอบของผมก็คือ พระคุณเจ้าเหล่านั้น ย่อมดีกว่าพระที่ไม่ฝึกฝนตน ท่านจะได้เสวยสุขจากการตื่นส่วนตัวของท่าน ท่านอาจจะ ‘ถือศีลกินวาตาเป็นผาสุกทุกวันคืน’ และเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนใกล้ชิด แต่ท่านจะมีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมน้อยมาก หรือน้อยกว่าที่ควร สังคมก็ยังเป็นมิจฉาทิฐิเหมือนเดิมทั้งยามที่ท่านยังอยู่และเมื่อตายจากไป ผมถือว่าเป็นการตื่นที่เห็นแก่ตัวแบบหนึ่ง ยกตัวอย่างสังคมญี่ปุ่น ในวัดเซนอาจจะมีพระสงฆ์ที่บรรลุธรรมบางรูปเกิดขึ้น แต่อิทธิพลต่อสังคมของท่านเท่ากับศูนย์ สังคมญี่ปุ่นก็มีโครงสร้างมิจฉาทิฐิเต็มรูปแบบต่อไปดังเห็นอยู่ในปัจจุบัน เหลือแต่เศษเสี้ยวของพิธีกรรมเล็กๆ น้อยๆ เช่น พิธีชา การจัดดอกไม้ ฯลฯ ที่ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ก็ลืมแก่นของพุทธธรรมของพิธีเหล่านี้ไปแล้ว

ก้าวเล็กๆ คือเริ่มที่ตัวเราแต่ละคน เริ่มทำเท่าที่เรารู้เราเข้าใจทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน แล้วศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้น และให้กำลังใจกันและกันให้ทำอย่างต่อเนื่อง โยงใจกันเป็นเครือข่าย แบ่งปันประสบการณ์ให้คนอื่นรับรู้ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขบวนการทางสังคมที่เป็นสัมมาทิฐิขึ้น

ก้าวใหญ่ๆ ต้องเรียกร้องอุดหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง จากทุนนิยมเสรีเป็นทุนนิยมที่มีสติเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือจะเรียกว่าธัมมิกสังคมนิยมก็ได้

ตื่นรู้สำหรับปัจเจกชนนั้น การฝึกตนที่กล่าวมานี้ ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน คนทั่วไปต้องเริ่มจากหาครูบาอาจารย์อย่างจริงจัง นี่รวมถึงอ่านหนังสือให้ถูกเล่ม ใช้สื่อถูกเรื่องด้วย เมืองไทยเราโชคดีที่เรามีครูบาอาจารย์อย่างท่านพุทธทาส อาจารย์ชา สุภัทโท สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้ผลิตงานพูดงานเขียนที่เป็นสัมมาทิฐิไว้มากมาย นอกจากนี้ งานของท่านติช นัท ฮันห์ ท่านเชอเกียม ตรุงปะ (Chögyam Trungpa) และอีกหลายท่าน ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว

ตื่นรู้ในทางสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องเริ่มจากการรับรู้ทุกข์ของสังคม สัมผัสกับผู้ตกทุกข์ได้รับความอยุติธรรม เช่น ลงไปเยี่ยมเยียนคนจนในสลัม รู้จักชีวิตจริงคนประท้วงเพราะเดือดร้อนจากนายทุนหรือรัฐ เป็นต้น สัมผัสกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อม และพยายามเข้าใจสาเหตุตามลำดับ การสัมผัสทุกข์ทำให้เกิดกรุณาธรรมขึ้น แล้วต้องศึกษาจนเห็นโครงสร้างและชุดความคิดที่ผดุงโครงสร้างนั้นๆ ไว้

ส่วนการแก้ไขต้องดูจริตนิสัยและบารมีของตน ถ้าเป็นคนชอบลุยก็อาจจับงานร้อนท้าทายผู้ทรงอำนาจที่รักษาระบบอันอยุติธรรม ถ้าชอบงานเย็นก็มีงานสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วยชุดความคิดใหม่ โครงสร้างใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบใหม่ๆ ถ้าถนัดงานสื่อ ก็สร้างสื่อที่ทำให้คนเห็นทุกข์ทั้งสามระดับ และช่วยกันหาทางออกจากทุกข์ งานเหล่านี้ถ้าทำกันเป็นหมู่เป็นคณะจะดียิ่ง ใหญ่เล็กตามความถนัดของตน เป็นการสร้างบารมีธรรมให้กับตนเองและสังคม ข้อสำคัญก็คือเมื่องานเริ่มสำเร็จ เราจะต้องรักษาตนให้สามารถกระทบไหล่กับเงิน อำนาจ และชื่อเสียง โดยไม่เสียคนให้ได้

การตื่นทั้งสามมิตินั้นสามารถสานเป็นเรื่องเดียวกันได้ ชีวิตจึงจะไม่เป็นโมฆะ หรืออาจกล่าวได้ว่า วิถีเปลี่ยนแปลงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีงามขึ้นและวิถีบรรลุธรรม เป็นทางสายเดียวกันได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทำงานเพื่อส่วนรวมคือสร้างบารมีของส่วนตัวให้ค่อยๆ เต็มขึ้น และเมื่อทำงานเพื่อสังคมโดยเห็นแก่ตัวน้อยลงๆ งานนั้นๆ ก็ทรงคุณภาพเป็นบารมีของสังคมใหม่ในอนาคต