“ท้ายที่สุดฉันเริ่มค้นพบว่า ไม่มีหรอกคำว่าตื่นรู้ ฉันไม่ได้ตื่นรู้อะไรเลย ฉันเป็นเพียงคนเดินทางที่เฝ้าจุดตะเกียงในความมืดครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ใช่เพื่อส่องแสงไปยังความมืดที่อยู่ตรงหน้า แต่เพื่อส่องให้เห็นความมืดในตัวเอง และเพื่อให้ความมืดในตัวฉันหายไป”

จุรี พิพัฒนรังคะ อดีตเคยผ่านการทำงานมาหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่งานด้านการสื่อสารมวลชน ในตำแหน่งคนเขียนบทสารคดีโทรทัศน์และโปรดิวเซอร์ คอลัมน์นีส ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ภาคนิพนธ์ อาจารย์พิเศษในมหาลัย และช่วงหนึ่งเคยเป็นแม่ค้าดูแลร้านเสื้อผ้าให้น้องสาว
ปัจจุบัน เป็นนักเขียนอิสระ โค้ช เทรนเนอร์ และกระบวนกรด้าน Mental Development ที่ผสมผสานการภาวนา จิตวิทยาเชิงพุทธ และจิตวิทยาตะวันตกเข้าด้วยกัน

ทางเดินสู่ความเป็นมนุษย์ นวนิยาย และ Inner Work
เมื่อสิบกว่าปีก่อนฉันเคยไปเรียนภาษาที่อังกฤษ ตอนนั้นฉันมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติมากมาย หัวข้อที่เรามักพูดถึงเสมอคือเรื่องครอบครัว เป็นเรื่องแปลกที่เพื่อนต่างชาติที่สนิทด้วยส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่แตกแยก บทสนทนาของเรามักดิ่งลึกอย่างที่ไม่สามารถพูดคุยกับเพื่อนที่ประเทศไทยได้ พวกเขากล้าที่จะวิเคราะห์ครอบครัวอย่างถึงแก่น ทั้งเรียนรู้ ยอมรับ และก้าวออกจากความผิดพลาดที่คนรุ่นพ่อแม่เคยทำไว้ ฉันสัมผัสได้ถึงความไม่ยอมแพ้ในโชคชะตา บางคนอาจเคยผิดพลาด แต่ก็ถอดบทเรียนจากความผิดพลาดของตัวเองได้ สิ่งนี้ทำให้เห็นถึงพลังของคำๆหนึ่ง นั่นก็คือความเข้าใจในตัวเอง
การพูดคุยกันอย่างเข้มข้นหลายชั่วโมงต่อวัน ทำให้ฉันได้พลังและมุมมองใหม่ จนรู้สึกว่ากลับถึงประเทศไทยเมื่อไหร่ต้องเล่าเรื่องราวเหล่านี้ออกมาให้ได้ ยิ่งได้เรียนคอร์สเขียนบทหนังที่โน่น แม้จะเป็นคอร์สเล็กๆ แต่มันก็สร้างแรงบันดาลใจให้อยากเล่าเรื่อง อยากสร้างคาแรคเตอร์เท่ๆ อยากเห็นตัวละครที่เรียนรู้ เติบโต และก้าวข้าม หากจะทำเช่นนี้ได้มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้น คือเล่าเรื่องราวทั้งหมดผ่านนวนิยาย
พอกลับถึงประเทศไทย ฉันกลับมาทำงานสารคดีอีกครั้ง แต่ในใจคิดตลอดว่าอยากเขียนหนังสือ ฉันฝึกเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย บทละคร บางเรื่องเขียนจบ บางเรื่องเขียนไม่จบ ทุกเรื่องที่เขียนมักเชื่อมโยงกับชีวิตในแต่ละช่วง เรื่องสุดท้ายฉันใช้เวลานานกว่าที่คิด จาก 6 เดือน กลายเป็น 6 ปี ยังไม่นับรวมช่วงที่ทดลองเขียนและฝึกฝนการเขียนการอ่านอีกหลายปี
ภายในไม่กี่ปีฉันอ่านนวนิยายมากกว่า 100 เล่ม โยงไปถึงหนังสือประเภทอื่นที่ตอนนี้แยกเก็บไว้ตามตู้ต่างๆถึง 5 ตู้ รวมหน้ากระดาษทั้งหมดที่ขีดเขียนมากกว่า 600 หน้า และหากรวมบันทึกที่เขียนไว้ด้วยก็น่าจะสูงถึง 2,000 หน้า
หลายคนเรียกสิ่งที่ฉันทำว่า “บ้า” ฉันยอมที่จะทำงานบ้าง ออกจากงานบ้างเป็นช่วงๆ ในหัวมีแต่ความคิดที่อยากจะเขียนหนังสือ เวลาใครถามถึงชีวิตตอนนี้ ฉันจะตอบว่ากำลังเขียนหนังสืออยู่ พูดอยู่นานหลายปี จนครอบครัว เพื่อนฝูง ญาติสนิท เริ่มปิดหูหนีไม่อยากฟัง
มารู้เอาทีหลังว่าสิ่งที่ทำทั้งหมดนั้น เขาเรียกว่า Inner Work มันคือการทำงานภายในผ่านเด็กน้อยในตัวเอง หรือ Inner Child อะไรบางอย่างสะกิดให้ฉันสงสัยและต้องค้นหามันให้เจอ

ชีวิตที่ตกหลุม ปีนขึ้นหลุมแบบมูราคามิ
ฉันเริ่มเรียนรู้ที่จะกลับเข้ามาพบเด็กน้อยในตัวเอง เด็กน้อยที่เคยคิดว่าเขาเข้มแข็งอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย เด็กน้อยคนนั้นต้องการการโอบกอดอย่างยิ่ง หนูน้อยไม่ได้แกร่งอย่างที่คิด แต่เป็นเพราะในช่วงวัยนั้นฉันมีอาม่าหรือคุณยายที่เป็นเหมือนนางฟ้าและแสงสว่างในชีวิต
หลายปีหลังการจากไปของคุณยาย ฉันคลั่งเหมือนหมาบ้า ปมทุกอย่างย้อนกลับมาทิ่มแทง ยิ่งในวัยสามสิบ ฉันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความเครียดทะลวงประตูหน้าต่างทุกบานที่มี จากที่เคยคิดว่าความทุกข์อยู่กับฉันไม่นาน ไม่เกินข้ามคืน เดี๋ยวก็หาย กลายเป็นว่า ในวัยสามสิบ มันอยู่กับฉันข้ามปี สลัดเท่าไหร่ก็ไม่หลุด ฉันมักวนเวียนทุกข์ซ้ำซากกับเรื่องเดิมๆ มีค่ำคืนที่จิตตกร่อง จู่ๆ รู้สึกอยากร้องไห้ ชีวิตจมกับความมืดและความกลัว ความโดดเดี่ยวเข้าถ่าโถม เศร้า เคว้ง และดิ่งลึก
สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ฉันรู้สึกสิ้นไร้หนทางที่จะหลุดออกจากมัน
ฉันเคยเดินทางคนเดียวในต่างแดน เคยสัมผัสความเหงาจากการไม่มีใคร ต้องเดินทางคนเดียว อยู่ในประเทศที่ไม่มีคนรู้จัก ยุคที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตในมือถือ บางช่วงเงินไม่พอเกือบไม่มีค่ารถกลับบ้าน แต่ฉันรู้ว่ายังมีครอบครัว และมีเพื่อนฝูงรออยู่ที่ประเทศไทย
ตรงข้ามในวันที่กลับมาอยู่กับครอบครัว มีเพื่อนฝูงพี่น้องญาติสนิทอยู่รอบตัว ฉันกลับรู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนอยู่คนเดียว ฉันสัมผัสถึงความเหงาในอีกรูปแบบหนึ่งที่เข้มข้น เป็นความเหงาโดดเดี่ยวชนิดที่สามารถฆ่าคนๆหนึ่งให้ตายได้
แต่ชั่ววินาทีนั้นเองที่ฉันตัดสินใจว่า ฉันไม่ยอมตายง่ายๆอย่างนี้หรอก ในช่วงยามที่ความทุกข์กัดกินใจ ไม่มีใครเข้าใจ แม้ฉันเองก็ยังไม่เข้าใจตัวเอง ว่าทำไมถึงดันทุรังเลือกทางเดินชีวิตเช่นนี้ ทำไมถึงอยากเขียนหนังสือ ทำไมถึงอยากพูดคุยกับเด็กน้อยในตัวเอง ไม่มีใครตอบได้ ฉันก็ตอบตัวเองไม่ได้ เสียงในใจบอกเพียงว่า ถ้าไม่ทำเช่นนี้ ชีวิตจะไปต่อไม่ได้
หากใครเคยอ่านหนังสือ ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ ของฮารูกิ มูราคามิ มันคงเป็นอารมณ์นั้น ถึงเวลาที่เราต้องกล้ากลับไปเผชิญหน้ากับสิ่งที่ติดอยู่ในใจเรามานาน คงต้องขอบคุณมูราคามิที่เข้าอกเข้าใจมนุษย์อย่างฉัน ตัวละครหลายตัวจากหนังสือหลายเล่มของเขา ช่วยปลอบประโลมจิตใจฉันได้ไม่ต่างจากหนังสือธรรมะ มันคือชีวิตที่ตกหลุม ปีนขึ้นหลุม และกล้าที่จะก้าวผ่านหลุมเหล่านั้นไปได้เยี่ยงมนุษย์ที่มีหัวใจ ตัวละครของเขาเปิดใจฉัน ช่วยให้ฉันกล้าโอบรับความเป็นมนุษย์ในตัวเอง พร้อมๆกับกล้าที่จะโอบรับความดำมืดในตัวผู้อื่น

การตื่นรู้อีกชนิดหนึ่ง
คุณคงไม่อยากเชื่อว่า ช่วงเวลาที่ฉันหลุดจากพายุหิมะมาได้ คือช่วงที่ฉันเป็นแม่ค้าขายเสื้อผ้าในห้างขายส่ง จากคนทำสารคดีที่เคยใช้ศัพท์แสงด้านปฏิรูปสังคม นั่งประชุมกับนักวิชาการ ดีลงานกับนักเคลื่อนไหวด้านต่างๆ กลับต้องมาคอยตอบคำถามเพื่อนแม่ค้าว่า วันนี้ขายดีไหม และพูดคำซ้ำๆเหมือนแผ่นเสียงตกร่องว่า ดูได้จ้า ถามได้นะคะ จากอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ที่อยากขับเคลื่อนสังคม สู่การเรียนรู้เรื่องง่ายๆ เช่น การทำมาหากินเลี้ยงปากท้อง ทุกวันที่เดินไปขึ้นรถเมล์กลับบ้าน ฉันรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับพ่อค้าแม่ขายแถวนั้น พี่ที่ขายไส้กรอกอีสาน น้าที่ขายข้าวโพดต้ม ป้าที่ขายพวงมาลัย น้องที่ขายรองเท้า
มันเป็นโมเมนท์ของการตื่นรู้ชนิดหนึ่งที่ทำให้ฉันก้าวออกจากความทุกข์ของตัวเอง เพื่อเปิดใจสัมพันธ์กับโลกและชีวิตของผู้คน ไม่ใช่แค่โฟกัสอยู่กับทุกข์ของตัวเองจนไม่เห็นอะไร
สมัยที่ทำสารคดีใหม่ๆ ฉันมักเชื่อมต่อกับผู้คนที่กำลังรอรถเมล์กลับบ้านที่ป้ายอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เหล่าคุณน้าคุณอาที่ขึ้นรถเมล์สาย 8 ด้วยกัน คุณแม่ที่กระเตงลูกเข้าเอวหนึ่ง จูงไว้ที่แขนอีกหนึ่ง คุณตาที่สวมเสื้อผ้าเก่าๆ แว่นตาเก่าๆ ใบหน้าเต็มไปด้วยริ้วรอยชีวิตที่ไม่ยอมแพ้ ล้วนคือพลังชีวิตที่มีเลือดเนื้อที่ฉันสัมผัสได้ แต่ความรู้สึกเหล่านี้หายไป เมื่อฉันปิดตัวเอง นั่งเขียนหนังสือคนเดียวในห้องนอน
การตื่นรู้สำหรับฉัน หากว่ากันตรงๆ มันจึงไม่ใช่ช่วงเวลาของการเข้าวัดปฏิบัติธรรม นั่งฟังเทศน์ หรือต้องข้องเกี่ยวกับศาสนาเท่านั้น แต่มันคือทุกขณะของชีวิตที่เราเปิดใจรับรู้เรื่องราวต่างๆ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา และใช้ชีวิตโดยไม่ตัดแยกตัวเองออกจากคนอื่น หรือสิ่งอื่น

เสียงระฆังอันไพเราะแค่ 2 ครั้ง
หากจะให้เล่าจุดเริ่มต้นของการภาวนา ต้องบอกว่า มันเริ่มจากเสียงระฆังอันไพเราะของหมู่บ้านพลัม หลังกลับจากงานภาวนาฉันเริ่มฝึกสติกลับมาที่ลมหายใจตามเสียงระฆัง นั่นเองคือจุดเปลี่ยนของชีวิต
มันคือจุดเริ่มต้นของการกลับสู่ปัจจุบันขณะ ฉันสามารถเข้าสมาธิ จิตนิ่งล้ำลึก โดยไม่ต้องใช้คำบริกรรม เพราะเป็นสมาธิที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หลังฝึกหายใจกับเสียงระฆังได้ราว 6 เดือน
ช่วงที่เริ่มฝึก ฉันนึกว่าเป็นเพราะดาวน์โหลดเสียงระฆังเข้ามาในโน้ตบุ๊คไม่สมบูรณ์ จึงได้ยินเสียงระฆังเพียง 2 ครั้งเท่านั้น แทนที่จะเป็น 3 ครั้ง กระทั่งการฝึกสติทำให้รู้ว่า ที่ไม่ได้ยินเสียงระฆังครั้งแรกเป็นเพราะขาดสตินั่นเอง เพราะมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับงาน เสียงระฆังครั้งแรกจึงผ่านเลยไป
พอได้ยินครบ 3 ครั้ง ก็พบปัญหาอีกว่า ไม่สามารถหยุดนิ้วตัวเองได้ การหยุดไม่ใช่เรื่องง่าย ต่อเมื่อฝึกฝนต่อเนื่อง การหยุดจึงง่ายขึ้น แต่แม้นิ้วจะไม่ดีดลงแป้น สมองกลับเต็มไปด้วยความคิด ในใจนึกถึงแต่เรื่องที่จะพิมพ์ต่อ ไม่สามารถหยุดคิดได้
การฝึกสติทำให้ฉันเห็นว่า แค่เพียงชั่วขณะที่เสียงระฆังดังขึ้น 3 ครั้ง ในใจฉันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ต้องใช้เวลานานพอควรทีเดียวกว่าฉันจะหยุดกายหยุดใจ ฟังเสียงใสๆครบสามครั้งได้สำเร็จ วันนั้นฉันสัมผัสถึงความนุ่มๆของสภาวะภายใน ลมหายใจที่ลึกแต่ผ่อนคลาย และร้อยยิ้มน้อยๆที่ริมฝีปากตัวเอง

ไม่มีฉัน
สำหรับฉันการฝึกจิตก็คือ การเทรนนิ่งจิตของเราให้อัพแอนด์ดาว์นอยู่เป็นประจำ เหมือนการออกกำลังกายที่ฝึกจนเป็นนิสัย จิตที่ถูกฝึกก็จะมีสติเป็นนิสัย ฉันฝึกดูใจตัวเอง ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะกลับมาที่ลมหายใจ เห็นใจของตัวเองที่คิด หยุดคิด หรือคิดอยู่ตลอดไม่เคยหยุด
กระทั่งวันหนึ่งขณะอ่านหนังสือเพชรตัดทำลายมายา ของ หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ฉันตระหนักถึงลมหายใจเข้าออกของตัวเองพร้อมกับท้องที่กระเพื่อมขึ้นลง จังหวะที่อ่านถึงสัญญาผิดๆ 4 อย่าง คือการยึดมั่นว่ามีตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะนั้นเอง ฉันเกิดความเข้าใจบางอย่าง ความเข้าใจนี้ทำให้จิตนิ่งเหมือนอยู่ในสมาธิ ฉันตระหนักถึงความนิ่งนั้นจนต้องวางหนังสือ แล้วจัดท่านั่งสมาธิ สมาธิที่เกิดขึ้นดิ่งลึกเข้มข้นต่อเนื่องนาน 20 นาทีแล้วจึงคลายออก เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะฝึกกรรมฐานอย่างจริงจัง
มารู้ภายหลังว่าสิ่งที่ฉันฝึกในช่วง 6 เดือนนั้น แท้จริงแล้วมันก็คือ สติปัฐฐาน 4 นั่นเอง คือมีสติตั้งอยู่บนฐานของกาย(ลมหายใจ) และจิต(ความคิด) นานเข้าฉันเริ่มเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตชัดขึ้น ละเอียดขึ้น และด้วยกำลังของสติที่มากขึ้น ฉันเริ่มเห็นเวทนาที่บางครั้งทุกข์บางครั้งสุข สุขก็สุขล้ำลึก ง่ายๆแค่ยืนมองธรรมชาติ ฟังเสียงนกร้อง แต่เมื่อทุกข์ก็ดิ่งจมล้ำลึกกว่าที่เคย กระทั่งเห็นปมในใจที่เคยเจ็บปวดในวัยเด็ก โลกทั้งสองสลับไปมาอยู่ข้างใน จนวันหนึ่งทนไม่ไหวอยากไปให้พ้นจากความรู้สึกสองขั้วนี้
การมีสติอยู่กับความทุกข์ เห็นความคิดที่ปรุงแต่งจนเกิดเป็นทุกข์ซ้ำซาก ได้พาฉันสู่ฐานที่ 4 คือฐานของธรรม ฉันเห็นถึงความไม่เที่ยงของความรู้สึกและความคิดที่มาแล้วไป เห็นความโกรธขณะที่เริ่มก่อตัว กระทั่งปรี้ดสูงขึ้น แตะเพดาน คลายตัว แล้วสลายหายไป
การได้เห็นเช่นนี้บ่อยๆ ทำให้การยึดมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งหายไป เพราะเห็นแล้วไม่ว่าอารมณ์นั้นจะหนักหน่วงแค่ไหน แต่ประเดี๋ยวมันก็จะหายไป
การเห็นถึงการเกิดขึ้นของอารมณ์และความคิด ดึงโน่นนิดนี่หน่อยมาผสมกันเข้าจนเกิดทุกข์ยาวเป็นหางว่าว มันทำให้ฉันเข้าใจคำว่าอนัตตาพร้อมๆกับคำว่าอนิจจัง และตระหนักได้ว่าทั้งหมดนั่นไม่ใช่ฉัน มันเป็นเพียงแค่สภาวะที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย และหายไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น
ฉันตระหนักถึงสิ่งนี้ชัดเจนในวันหนึ่งขณะนั่งสมาธิที่สถานปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นโลกภายในใจ เช่นอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก โลกภายนอกใจ เช่น แสงแดด สายฝน ร่างกาย ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก(อนัตตา) ถ้าข้างนอกฝนตก ลมแรง ร่างกายจะรู้สึกหนาว ขนลุก หากข้างนอกแดดออก อากาศจะอบอ้าว ร่างกายจะรู้สึกร้อน เหงื่อออก พอขยับกายนิดนึง เลือดที่ถูกกั้นไว้จะไหลเวียน ขาหรือหลังที่ปวดก็จะหายปวด(อนิจจัง) ปวด-หายปวด, ร้อน-หายร้อน, หนาว-หายหนาว, ฝนตก-ฝนหยุด, แดดออก-แดดหุบ, เกิด-ดับ, เกิด-ดับ, เกิด-ดับ
เป็นครั้งแรกที่ตระหนักได้ว่า ทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้นตามแต่เหตุปัจจัย โดยไม่จำเป็นต้องมีฉันเข้าไปเกี่ยวข้อง อาการขนลุก เหงื่อออก ฉันไม่ได้เป็นคนกำหนด ฉันไม่สามารถสั่งร่างกายให้ปวดหรือหายปวดได้ มันเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย และดับลงตามเหตุปัจจัย นี่ไง อนิจจัง นี่ไง อนัตตา ทุกสิ่งจึงมีความเสื่อมและแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา


Life Mission
แม้กระนั้น ความทุกข์ ความดิ่งของอารมณ์ ยังคงแวะเวียนมาทักทายอยู่เรื่อยๆ แต่ฉันมีเครื่องมือที่จะใช้ต้อนรับมันแล้ว มันช่วยให้ฉันเผชิญหน้ากับความทุกข์ ความบ้าคลั่งในตัวเองได้อย่างมีสติมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเข้าใจตัวเองมากขึ้น
สติและการตระหนักรู้ยังใช้ได้ดี ในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับทรอม่าหรือปมในใจ ซึ่งทำให้ฉันบาดเจ็บเจียนตายอยู่หลายครั้ง แต่ระหว่างทางฉันพบดอกไม้บานตามที่ต่างๆมากขึ้น จากช่วงหนึ่งที่ไม่เคยแม้แต่จะแหงนมองดูท้องฟ้า ฉันได้เห็นท้องฟ้าสดใส เมฆสีขาวลอยฟ่องเหมือนท้องฟ้าในหมู่บ้านของหนูน้อยอาราเล่ การภาวนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตฉันมากขึ้นเรื่อยๆอย่างแยกไม่ออก ในที่สุดมันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ฉันทำ และทำให้ได้พบ Life Mission ของตัวเอง
ฉันพบว่าประสบการณ์เดินทางภายใน พาฉันมาสุดทางด้านการทำงานกับจิตใจของผู้คน เพื่อส่งต่อวิถีของการเข้าใจตัวเองและเข้าใจผู้อื่น ฉันต้องอ่านหนังสืออีกหลายเล่ม เทคคอร์สอีกหลายสิบคอร์ส เซิร์ทกูเกิ้ลอีกนับพันครั้ง จึงเริ่มเข้าใจว่าฉันได้ผสมผสานวิถีภาวนา จิตวิทยาเชิงพุทธ และจิตวิทยาตะวันตกเข้าด้วยกันโดยไม่รู้ตัว และฝึกฝนตนเองในหลากหลายสายการปฏิบัติทั้งพุทธเถรวาท มหายาน และวัชรยาน
และจะว่าไป การทำ inner work ก็คล้ายการทำวิปัสสนาอย่างมาก เทียบเคียงได้กับการฝึกสติปัฐฐาน 4 ที่พาเราฝึกสติกับสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจ ฝึกที่จะเห็น ยอมรับ เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า การตระหนักรู้ หรือ self-awareness
สุดท้ายแล้วฉันเชื่อว่าไม่ว่าประตูบานไหน ย่อมนำทางเราสู่ความรักและความเข้าใจ(ปัญญา)ได้ทั้งสิ้น โดยมีความเป็นจริงเพียงหนึ่งเดียวรอเราอยู่ด้านหลังบานประตูเหล่านั้น


ปีศาจที่ร้องขอการให้อภัย
เมื่อมองกลับเข้ามาในใจ ฉันค้นพบว่าการตื่นรู้คือภาวะของการตื่นสู่ความเป็นมนุษย์ ตื่นสู่ความเชื่อมโยงที่ดึงฉันกลับสู่ความเป็นมนุษย์ เข้าใจความเป็นมนุษย์ที่หมายถึงความไม่สมบูรณ์แบบ มีทั้งชั่วและดีในตัว ทั้งด้านมืดและด้านสว่าง ยิ่งฉันพัฒนาสติให้เข้มข้นขึ้นเท่าใด ฉันยิ่งเห็นด้านมืดของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น
ได้ยินเสียงในใจตัวเองที่บางครั้งก็พูดจาไม่น่าฟัง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยได้ยิน เพราะไม่เคยมีสติฟังได้ทัน แถมอัตตายังบดบังไว้มิด ทำให้หลงคิดว่าตัวเองเป็นนางฟ้า คิดดีพูดดีเสมอ ไม่เคยตัดสินใคร
เมื่อสติและการตระหนักรู้เข้มข้นขึ้น ฉันสามารถได้ยินเสียงทุกเสียง ทั้งเสียงนางฟ้าและปีศาจที่ดังอยู่ในใจ และยังสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างละเอียด ทำให้รู้ว่า ฉันมีทุกอารมณ์ในตัวเอง จนไม่สามารถหลอกตัวเองได้ว่า ฉันรู้สึกดี ไม่โกรธ ไม่เกลียด มีแต่เพียงความรัก ความเมตตา และความปรารถนาดีให้หมู่มวลสรรพสัตว์เท่านั้น
เช่นกันในยามที่สติและการตระหนักรู้ชัดแจ้ง ฉันสามารถสัมผัสความทุกข์ในตัวเองลึกกว่าเคย เห็นถึงความทุรนทุรายของปีศาจที่เรียกร้องหาคนเข้าใจ ร้องขอการให้อภัย ความจริงแล้วปีศาจในตัวฉันรู้สึกผิด มันไม่ได้ภูมิอกภูมิใจที่ทำตัวเกเรเช่นนี้ มันกระซิบบอกฉันทุกวันว่า มันอยากเป็นคนที่ดีกว่านี้ และมันเจ็บปวดแค่ไหนที่มันทำไม่ได้ และไม่มีใครเข้าใจมัน

เมื่อฉันได้ยินเสียงความเจ็บปวดในตัวเอง วันนั้นฉันสัมผัสถึงการเชื่อมโยงบางอย่างผ่านความเจ็บปวด ในความเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ เราทุกคนต่างมีบาดแผล ทั้งที่เป็นผู้ถูกกระทำและกระทำคนอื่น เราต่างว่ายวนอยู่กับการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น ทำร้ายกันและกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า
พอเห็นเช่นนี้ ฉันเริ่มเรียนรู้ที่จะกอดตัวเอง ให้อภัยตัวเอง และเกิดความรู้สึกอยากโอบกอดผู้คนทั้งโลก รู้สึกเชื่อมต่อกับผู้คนเหล่านั้นผ่านความทุกข์
การฝึกทำ Inner Work ช่วยให้ฉันกล้ายอมรับว่า ฉันเจ็บปวด กล้าที่จะบอกพ่อกับแม่ว่า ที่ผ่านมาฉันเจ็บปวดมากแค่ไหนที่เติบโตมาในครอบครัวเช่นนี้ ฉันกล้าที่จะพูดคุยเรื่องความเจ็บปวดและบาดแผลในวัยเด็กกับน้องสาว ขณะเดียวกันก็กล้าที่จะรักแม่อย่างที่แม่เป็น รักพ่ออย่างที่พ่อเป็น และรักตัวเองอย่างที่เป็น
สิ่งนี้มันเปลี่ยนพลังงานในตัวฉันอย่างเห็นได้ชัด จนทุกคนที่ได้พบเจอหรือทำงานร่วมกันสัมผัสได้

เมื่อใดก็ตามที่เรากล้าสัมผัสกับปีศาจในตัวเรา กล้าโอบกอดทั้งนางฟ้าและปีศาจในตัวเองได้ เมื่อนั้นเราจะไม่ตัดสินคนอื่น เราจะมีความเข้าอกเข้าใจคนอื่นอย่างมหาศาลโดยไม่ต้องเสแสร้ง เราจะเคารพความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น กระทั่งสัมผัสถึงหัวใจความเป็นมนุษย์ของผู้คน
พ่อ แม่ เพื่อนฝูง ญาติมิตรยอมรับในตัวฉันมากขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าดีใจที่สุดคือ น้องสาวซึ่งเคยต่อต้านฉันสุดชีวิต เพราะมองว่าการสัมผัสปีศาจในตัวเองกำลังจะทำให้ฉันเป็นปีศาจอีกตัว มาวันนี้เริ่มเห็นชัดแจ้งว่าเกิดอะไรขึ้น การกดเก็บความรู้สึกทุกอย่างไว้ และยืนยันว่าฉันโอเคตลอดเวลาต่างหาก ที่จะเปลี่ยนเราให้กลายเป็นปีศาจ
น้องสาวเริ่มเข้าใจและยอมรับความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น เรามีช่วงเวลาของการเดินทางภายในร่วมกัน กระทั่งตอนนี้แม้แต่เพื่อนน้องสาวที่ไม่เคยสนใจเส้นทางสายนี้เลย ไม่ว่าจากประตูบานไหน ก็เริ่มหันมาสนใจเรียนรู้ที่จะทำงานกับความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น

เส้นกางกั้นที่หายไป โลกภายในสะท้อนโลกภายนอก
วันที่เราตื่นขึ้น เราจะไม่สามารถแยกตัวเราออกจากสังคมที่เราอยู่ได้อีก เราจะเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความเป็นหนึ่งเดียวจะอยู่ในตัวเราและสะท้อนออกมาข้างนอกตัวเรา
ยิ่งเราต่อต้านโลกภายนอกตัวเรามากเท่าไหร่ เราจะยิ่งทุกข์ ทุรนทุรายกับโลกภายในตัวเรามากเท่านั้น กระทั่งวันที่เราเรียนรู้ว่า โลกภายนอกกับโลกภายในไม่เคยแยกขาดออกจากกัน เราจะเริ่มกลับมาเชื่อมต่อกับตัวเรา โอบรับความเป็นตัวเราที่เคยวิ่งหนี เมื่อนั้นโลกข้างในกับโลกข้างนอกจะกลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้ง
อธิบายง่ายๆว่า มันคือการตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งในตัวเราและคนอื่น เมื่อเราได้เห็นการดีดดิ้นทุรนทุรายในตัวเราจากสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่อยากเป็น อยากหนี แต่ก็ยังทำ ยังเป็นสิ่งนั้นอยู่ เราจะกล้าให้อภัย เข้าใจคนอื่น และเห็นใจกันและกันมากขึ้น
มันคือโมเมนท์ของการเชื่อมทุกสิ่งเข้าด้วยกัน ฉันเริ่มรู้สึกเป็นครั้งแรกว่า เส้นกางกั้นระหว่างตัวฉันกับสิ่งต่างๆจางหายไป มันมีความ Flow เกิดขึ้นระหว่างตัวฉันกับโลกภายนอก รวมถึงผู้คนที่พบเจอ
การเชื่อมต่อนี้ทำให้ฉันสามารถออกจากทุกข์ที่เผชิญอยู่ได้ และในเมื่อฉันก้าวออกมาได้ คนอื่นๆ ก็ย่อมออกมาได้ด้วย การตื่นในความหมายหนึ่งจึงเป็นการเชื่อมต่อระหว่างตัวเราและคนอื่นๆในฐานะมนุษย์ ที่ย่อมมีความรู้สึกสุขทุกข์ไม่ต่างกัน เมื่อใดที่เราทำความรู้จักตัวเราได้กระจ่างแจ้ง เราย่อมรู้จักผู้อื่นและเข้าใจผู้อื่นได้กระจ่างแจ้งเช่นกัน
เมื่อใดที่เราสัมผัสกับทุกข์ในใจเราได้อย่างลึกซึ้ง เราจะเริ่มเข้าใจทุกข์ของผู้อื่น และอยากช่วยให้ผู้คนเหล่านั้นพ้นจากทุกข์ นี่คือคุณค่าของการตื่นรู้ที่ฉันสัมผัส มันช่วยเชื่อมโยงฉันกับมนุษย์คนอื่นในฐานะมนุษย์
สังคมของเราจะอยู่รอดได้ด้วยการเชื่อมโยงนี้
