Search
Close this search box.

ปล่อยตัวเองออกจากสนามรบ

จากอดีตวิศวกรดีกรีปริญญา 3 ใบ สู่ผู้บริหารโรงเรียนสอนพิเศษตามความฝัน ก่อนกราฟชีวิตจะหักลงเพราะ ‘Midlife Crisis’

อังคณา มาศรังสรรค์ หรือ ครูณา ถูกชีวิตบังคับให้เลือกว่าจะเปลี่ยนวิถีทางและวิธีเดินอย่างไรเพื่อจัดการกับปัญหา ‘ครอบครัว’ และ ‘เรื่อง(อดีต)ของตัวเอง’

“ณาเริ่มตั้งคำถามในวันที่ทุกข์และบ้าคลั่งว่า ‘ฉันอยากได้อะไรในชีวิต?’ สุดท้ายกลับได้คำตอบแสนธรรมดาซึ่งปริญญาทางโลกถึงสามใบที่มีอยู่ ก็ให้คำตอบไม่ได้ว่า ‘เราอยากมีความสุขกับครอบครัว อยากให้ลูกรัก’ หลังจากนั้นณาจึงเริ่มเรียนรู้โลกภายในของตัวเอง

“เราเริ่มเข้าใจปมชีวิตของตัวเอง เข้าใจทัศนคติที่ถูกสร้างขึ้นจากความทรงจำด้านลบในวัยเด็ก จนกลายเป็นบุคลิกภาพแข็งกร้าวของเรา ณาสำรวจและทำความรู้จักโลกภายในตัวเองอย่างเข้มงวด จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตมากมาย จากนั้นจึงอยากจะเกื้อกูลชีวิตผู้อื่นที่เคยหลับใหลอย่างที่ณาเคยเป็นบ้าง”

หลังจากรู้จักวิธีสำรวจโลกและทำงานภายใน เธอปิดกิจการทั้งหมดเพื่อเดินทางบนถนนสายนี้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะอยู่ในนิยามของ ผู้เยียวยา กระบวนกร ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ ครู หรือนักจัดอบรบสำหรับองค์กร แต่ที่ทำให้ผู้คนรู้จักเธอมากที่สุด คือผู้ก่อตั้งมูลนิธิพื้นที่ปัญญ์รัก หรือ โรงเรียนพ่อแม่ลูก

“ถ้าไม่เคยเปลี่ยน ถึงวันนี้เราคงหย่าร้างกับสามี ลูกคงมีระยะกับเรา ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีแบบนี้ และเขาคงมีชีวิตตามปมที่เราสร้างให้เขา เขาจะไม่ได้เลือกมีชีวิตที่สงบและมีพลังชีวิตที่ดีเหมือนอย่างทุกวันนี้ กระทั่งป๊า แม่ และพี่น้อง ก็คงอยู่กันในสนามรบเกือบทุกวัน ถ้าณาปล่อยชีวิตไปตามสิ่งเหล่านี้ ชีวิตณาคงแย่มากๆ ณาอาจจะป่วยหนักหรือตายไปแล้วก็ได้”

ระหว่างทางเปลี่ยนแปลงของ ‘ลูก’

อังคณาเป็นลูกคนกลางในครอบครัวคนจีน ชีวิตของเธอตรงตามขนบของลูกคนกลาง หรือ ‘Wednesday Child’ แทบทุกประการ เธอมักน้อยใจ คิดว่าเป็นลูกที่ได้รับความรักน้อยที่สุด

“ณามักคิดว่าตัวเองไม่มีตัวตนในบ้าน เป็น nodody ที่ไม่มีใครรัก ไม่มีใครพาไปเที่ยวไหน ไม่เคยได้อะไรเป็นของตัวเองเพราะต้องรับของต่อจากพี่สาว ขณะที่น้องชายซึ่งเป็นลูกชายคนแรกของบ้านคนจีนได้รับทุกอย่าง”

นอกจากความน้อยใจ ‘ป๊า’ ยังเป็นบุคคลที่เธอตั้งคำถาม มีอิทธิพลเหนือตัวเธอ และเป็นความทรงจำวัยเด็กที่เกือบทำลายชีวิตครอบครัวเธอในอนาคต 

“ตอนเด็กๆ ณาถูกครูทำโทษและสอบตกบ่อยมาก ณาเติบโตภายใต้เงาและความสงสัยในตัวป๊า ป๊าที่ทำร้ายร่างกายแม่และเล่นการพนัน มีคนบอกว่าจริงๆ แล้วป๊ารักแม่มาก แต่ณาไม่เคยเห็น ทำให้ยามมีความรักตอนเป็นสาวรุ่นๆ ไม่ค่อยเชื่อในความรักเท่าไร เพราะกลัวว่าคนที่เรารักจะน่ากลัวเหมือนที่ป๊าเป็น” 

อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้มงวดกับตัวเองจนประสบความสำเร็จทางการศึกษาและอาชีพ เธอพบรักกับผู้ชายคนหนึ่ง แต่งงานและมีลูกด้วยกัน

“ณาทำงานหนัก ประสบความสำเร็จเร็วจนเริ่มขยายกิจการและกลายเป็นหนี้สินจากการลงทุน หลังจากเป็นหนี้ เงาของป๊าก็เริ่มทอดเข้ามาในชีวิตหนักขึ้น กลัวสามีและลูกจะเป็นอย่างป๊า เราเริ่มเข้มงวดกับลูก เวลาที่รู้สึกกลัวก็จะเกรี้ยวกราด ทั้งๆ ที่เราเคยเป็นครูที่ใจดีของเด็กๆ เริ่มทะเลาะกับสามีและลูกรุนแรงขึ้น ทุกข์มากเข้าก็เริ่มคิดสั้น รู้สึกว่าชีวิตคือความเจ็บปวด”

ทางออกของชีวิตมีได้หลายทาง ทั้งการเดินหน้ามุ่งแก้ปัญหาทางธุรกิจ หรือแก้ไขด้วยวิธีอื่นๆ อังคณาเลือกวิธี ‘คิดใคร่ครวญ’ ถึงปัญหาจากภายใน ก่อนจะพบว่าต้นเหตุไม่ใช่อะไรอื่น แต่คือวิธีคิดและอดีตที่ไม่เคยถูกชำระของเธอ

“ตอนนั้นมีโอกาสเข้าอบรมสุนทรียสนทนากับ . วิศิษฐ์ วังวิญญู สุนทรียสนทนาทำให้ณาเริ่มมองเห็นและเข้าใจตัวเอง

“พบว่าสิ่งที่เราเห็นในสามีและลูกคือสิ่งที่เราเคยตัดสินป๊า เราจึงฝึกที่จะเข้าใจป๊า แต่ความเข้าใจนี้ไม่ใช่แค่การ ‘คิดดีๆ’ กับป๊าเท่านั้น แต่อยู่ในระดับการ ‘เยียวยาจิตใต้สำนึก’ เป็นการตระหนักอย่างแท้จริงว่าภายใต้การกระทำของป๊าที่เราไม่ชอบมีความปรารถนาที่งดงามซ่อนอยู่ และนั่นทำให้เราทำความเข้าใจความหมายของ ‘ครอบครัว’ ใหม่ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกๆ และสามีในมุมมองใหม่

“ในระหว่างการเติบโต ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม ประสบการณ์ชีวิตของเด็กคนหนึ่งดำรงอยู่เพราะระบบความจำ โครงข่ายของสมองจะฝังความทรงจำลึกเข้าไประดับจิตใต้สำนึก โดยเฉพาะสิ่งที่เราชิงชัง ยิ่งเกลียด ยิ่งหนี ยิ่งไม่ชอบ เราก็ยิ่งคิดถึงมันบ่อยๆ

“การทำงานของสมองแบบนี้เป็นแรงดึงดูดมหาศาลที่ทำให้เราพบเจอประสบการณ์ใกล้เคียงสิ่งที่ไม่ชอบ เช่น กับคนบางคนที่มีสิ่งดีในตัวมากมาย เรากลับมองเห็นแต่ด้านที่เราไม่ชอบ เพราะมันดึงดูดให้เรามองและเห็นแต่สิ่งที่เราชิงชังอย่างอัตโนมัติ”

เมื่อความทรงจำถูกเยียวยา สิ่งที่เกิดไม่ใช่แค่เธอพ้นทุกข์ แต่คือความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ทั้งความสัมพันธ์ภายในตัวเอง ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับป๊า เธอกับสามีและลูก ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนคือ การเปลี่ยนแปลงในตัวป๊า และความสัมพันธ์ระหว่างป๊ากับแม่ของเธอ

“ไม่น่าเชื่อว่าวันหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างป๊ากับณาจะคลี่คลาย รวมถึงความสัมพันธ์ของป๊ากับทุกผู้คน โดยเฉพาะกับแม่ ป๊ากับแม่มีชีวิตในบั้นปลายที่หวานชื่นต่อกันอย่างที่ณาไม่เคยคาดฝันมาก่อน

“การตื่นเพื่อรู้จึงสำคัญมาก เพราะมันทำให้มองเห็นว่าที่ผ่านมาที่เราทุกข์ ไม่ใช่เพราะทุกคนเป็นเหมือนป๊า แต่คือสายตาที่เรามีต่อป๊าทำให้เราไม่อาจตื่นมาเห็นความน่ารักของสามีและลูก ที่สำคัญที่สุด เราเองที่ไม่อาจตื่นมามองเห็นความน่ารักของป๊าได้ ถ้าวันนั้นณาไม่ทุกข์มากจนเห็นว่าต้นเหตุทั้งหมดเกิดจากตัวของเราเอง จากมุมมองทัศนคติของเราเอง ณาในวันนี้คงมองไม่เห็นความสุข มองเห็นผู้คนรอบตัวอย่างที่เขาเป็นจริงๆ ไม่ใช่อย่างที่ปมชีวิตอยากให้มอง”

ระหว่างทางเปลี่ยนแปลงของ ‘แม่’

“สมัยลูกชายคนโตยังเล็ก ณาคาดหวังกับเขามาก บ่น ตำหนิ จนทำให้เขาเสียใจหลายครั้ง จริงๆ เขาเป็นเด็กอ่อนโยน แต่เพราะคำพูดและการกระทำของแม่ ไปกระตุ้นด้านลบของเขาให้แสดงออกมาและมีกำลังมากขึ้น พอเขาอายุ 6 ขวบเราก็ทะเลาะกันหนักมาก การทะเลาะกันครั้งนี้นี่แหละที่ทำให้ณาทุกข์และเริ่มกล่าวโทษสามี ทีนี้ความทุกข์เริ่มใหญ่ขึ้นจนถึงจุดที่เราอยากทำร้ายตัวเอง แต่ก็เป็นความทุกข์นี้อีกเช่นกันที่ทำให้เราเรียนรู้และพบเจอการตื่นเพื่อรู้”

จากนั้นเธอ ‘หยุด’ และนำคำของพระไพศาล วิสาโล ที่ว่า ‘หากพูดและทำดีๆ ไม่ได้ อย่าเพิ่งพูดหรือทำ’ และ ‘หยุดจับผิด จงจับถูก’ มาใช้ หลังจากนั้นเวลาที่ลูกๆ พูดหรือทำอะไรที่เธอเห็นว่าไม่ดี เธอจะนิ่งเงียบ แต่หากเห็นอะไรดีจะเอ่ยปากขอบคุณ ไม่นาน ความสัมพันธ์ที่เคยเกือบแตกร้าวค่อยสมานกลับมา

“มีบางช่วงเขาเล่นเกมหนักมาก วันละ 5 ถึง 9 ชั่วโมงเลย เราก็ไม่บ่น บางจังหวะเดินไปหอมแก้ม ไปกอด คอยทำอะไรอร่อยให้กิน ถ้าตอนไหนเขาทำดีเราก็จะบอก นั่นคือช่วงที่สร้างการเปลี่ยนแปลง

“เหมือนเด็กทั่วไปที่มีทั้งด้านดีและไม่ดี แต่เราคอยจุดพลังให้เขาเห็นด้านดี ส่วนด้านที่ไม่ดีเราจะไม่พูด ไม่บ่น แต่ทำให้เขาเห็นและเชื่อว่าเขาเลือกและคิดได้เองหากเขาพบความรักภายในตัวเอง”

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เธอได้ฉุกคิดทบทวนและเข้าใจการทำงานภายในของตัวเองที่สุด คือช่วงที่ลูกกำลังจะขึ้นม. 4 และต้องการสอบเข้าเรียนเปียโนคลาสสิค สิ่งที่ท้าทายคือ เกณฑ์การรับสมัครสูงกว่าความสามารถที่น้องมีขณะนั้น ในฐานะ ‘แม่’ เธอคิดว่าตัวเองมีอยู่ 2 ทาง คือ

จะเป็นแม่แสนเกรี้ยวกราด ที่เคี่ยวเข็ญให้ลูกซ้อมอย่างหนักจนสำเร็จ หรือ จะเป็นแม่ที่เข้าใจว่า จะต้องสนับสนุนลูกแบบไหนจึงจะทำให้เขาอยากลุกขึ้นมาฝึกซ้อมด้วยตัวเอง

“ถ้าเป็นณาคนเดิมคงซัดลูกไปแล้ว แต่ณาคนใหม่คิดใคร่ครวญหลายวัน ตอนที่ยังคิดไม่ออกก็ยังไม่พูด ทำได้แค่กอดเขาด้วยความรัก ขณะที่ข้างในของเราก็หาวิธีสื่อสารความรู้สึกของเราให้เขารู้ จนวันหนึ่งณาตัดสินใจบอกกับลูกว่า

“แม่อยากบอกให้ลูกรู้ ถึงครั้งนี้ลูกจะสอบได้หรือไม่ได้ แม่ก็ยังจะรักลูกเหมือนเดิม แม่จะตื่นเช้ามาผัดข้าวให้กินเหมือนเดิม กอดลูกเหมือนเดิม แต่แม่แค่อยากรู้ว่า ถ้าลูกสอบไม่ได้ลูกก็จะยังรักตัวเองเหมือนเดิม แม่อยากบอกลูกว่าอย่าทำอะไรที่ทำให้เราเกลียดตัวเอง เพราะนั่นต่างหากที่จะทำให้แม่เสียใจและเป็นสิ่งที่ไม่อยากเห็นที่สุด ดูแลตัวเองให้ดี อะไรที่ลูกเลือกแล้ว แม่รับได้หมด แม่จะรักเหมือนเดิม” เขานิ่งเงียบ หลังจากนั้นเขาหยุดเล่นเกมและซ้อมอย่างหนักจนสอบเข้าได้

“หลังจากการตื่นครั้งนั้น ณาสอนเขาน้อยมาก แต่ทุกครั้งที่พูดกับเขา ณาใคร่ครวญเยอะมาก เพราะผลลัพธ์ที่ได้จากการพร่ำบ่นไม่ใช่เรื่องดี แต่การสื่อสารที่ออกมาจากข้างใน มาจากความรู้สึกที่ได้ใคร่ครวญ มันคือความรักความเมตตาที่ณามีต่อลูก เขาจะรับรู้ได้ ชีวิตของเขามีค่าและเป็นที่รัก

“เหมือนว่าพอเรามีพลังงานชีวิตที่ดี เขาก็หันกลับมามองและใช้ชีวิตคล้ายกับเราโดยที่ไม่ต้องบอก ไม่ว่าจะการดูแลของ การใช้เงิน การจัดการชีวิต ความตั้งใจ ความเพียร ซึ่งเราพบว่านั่นคือวินัยที่ดีที่สุด ไม่ได้เปลี่ยนแค่กับลูก แต่สามีเองก็เช่นกัน ณาว่ามันอ่อนหวานอ่อนโยนกว่าตอนเป็นแฟนกันเสียอีก”

ankana12

กระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลง 

นอกจาก ‘การใคร่ครวญ’ และ ‘คลี่คลายอดีต’ อีกหนึ่งกระบวนการของเธอคือ ‘การฝึกการรู้ตัว’

“หลายครั้งอดีตที่ฝังใจทำให้เรากลัว กลัวความจน กลัวความไม่ดีของชีวิต ลูกจะดีไหม เราจะกลับไปยากจนอีกไหม คนจะเกลียดเราไหม เราพูดจาแรงไปหรือเปล่า? ความกลัวเหล่านี้ทำให้เราเครียดได้ง่าย และถ้าเราเผลอ เราจะจมไปกับความเครียดนั้นไประยะหนึ่งเลย

“แต่ณาข้ามผ่านอุปสรรคนั้นมาได้ด้วยการฝึกสติ ฝึกที่จะรู้ตัว ให้รู้ว่านั่งท่านี้ วางมือตรงนี้ รู้ว่ามีลมมากระทบ คือฝึกเพื่อให้เห็น ให้รู้ตัว ด้วยความที่ฝึกมาระยะหนึ่งเราจะรู้ว่าเราคิดลบ ได้ยินเสียงตัวเองว่า นี่เรากำลังเผลอคิดและจมไปกับมันอยู่นะ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ อัตตาหรือกิเลส ซึ่งเขารู้จักเราดีก็จะเสี้ยมขึ้นมาบอกเราว่า มันควรเป็นแบบนี้ ที่มันเลวร้ายแบบนี้ก็ถูกต้องแล้ว สุดท้ายกลายเป็นความโกรธพุ่งขึ้นมาแทน

“การจะก้าวข้ามหลุมพรางนั้นได้ก็ต้องตั้งมั่นต่อภาพที่เราตั้งใจไว้ เราจะเห็นความกลัวชัดขึ้นแล้วก็วางความกลัวนั้นไป และศรัทธาต่อเส้นทางใหม่ที่เราตั้งใจจะทำให้ได้อย่างแท้จริง”

สำหรับอังคณา หรือ ‘ครูณา’ สิ่งที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงภายใน ในเบื้องต้นคือความรัก ความเมตตา ความสัมพันธ์ระหว่างเธอและคนรอบกายที่ค่อยดีขึ้น มากกว่านั้นเธออยากส่งต่อและสร้างพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

“ไม่ใช่แค่วิชาการทางโลกแต่วิชาชีวิตอื่นๆ ก็มีความหมาย สิ่งที่ยากคือทำให้คนรู้ มันมีพื้นที่ให้คุณสร้างการเปลี่ยนแปลงกับตัวเองได้ พื้นที่นี้ที่ทำให้คุณรู้จักความยิ่งใหญ่ของ ‘ความรัก ความเมตตา’ ที่อยู่ในตัว เมื่อไรที่คุณ ‘ทุกข์’ คุณแค่เปิดใจที่จะเรียนรู้ว่า ‘การเรียนรู้สร้างการเปลี่ยนแปลงของชีวิตได้’ ”

เหมือนอย่างที่เธอได้เรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงทีละเล็กน้อยแต่มหาศาล