โลกเปลี่ยนไป เมื่อใจเปลี่ยนแปลง
หากการบวชครั้งแรกคือประสบการณ์ทาง ‘ธรรมะ’ ครั้งแรกที่ชัดเจนที่สุด การบวชครั้งที่สองคงเป็นความเข้าใจเรื่องเดียวกันที่มากกว่าแค่การนึกคิดเอา เขาเริ่มจากเจอโลกใบใหม่ ตามมาด้วยความสนใจในธรรมะอย่างท่วมท้น ทั้งการอ่านหนังสือ ฟังเสียงบรรยาย และขมวดความเข้าใจเป็นความจำ เป็นถ้อยคำ เป็นตรรกะ ก่อนที่เวลาต่อมาจะพบว่าช่วงเวลานั้นสุดโต่งเกินไป อีกทั้งธรรมะแบบรู้เพราะคิดได้จำได้นั้นไม่ใช่หัวใจของเส้นทาง เมื่อผ่อนคลายความสุดโต่ง เขาเริ่มรู้จักการมีสติรู้ตัว สามารถใช้ชีวิตพร้อมสร้างความรู้เนื้อรู้ตัวมาที่กิจกรรมในชีวิตประจำวัน จนถึงการเริ่มต้นทำอาชีพงานสื่อสารความเข้าใจชีวิต กระทั่งทักษะทางใจที่สะสมไว้มาผสานกับความสงบในภาวะสั้นๆ ทว่าแจ่มแจ้งจนเกิดเป็นความเข้าใจที่ลุ่มลึกและแจ่มชัด
ทั้งหมดนั้นคือเส้นทางอย่างย่อที่ ‘ธรากร กมลเปรมปิยะกุล’ ใช้ทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ‘ธรรมะ’ ซึ่งกลายเป็นตัวตนของเขาในปัจจุบัน
ยุคสมัยที่การรับข่าวสารได้อย่างง่ายดาย นอกจากอ่านหนังสือธรรมะที่หลากหลาย การรับสารจากคลิปวีดีโอในอินเทอร์เน็ต เป็นวิธีการที่เขาใช้อย่างสม่ำเสมอในปัจจุบัน ทั้งเพื่อทำความเข้าใจระบบนิเวศของผู้คนที่เข้าถึงความจริงทั่วโลก และเพื่อเห็นความเชื่อมโยงหลายศาสตร์หลากผู้รู้ แต่นั่นเป็นเพียงความเข้าใจในเบื้องต้นที่ต้องอาศัยประสบการณ์ตรงพาไปเจอภาวะที่ลุ่มลึกด้วย
“ช่วงหลังผมมีงานอดิเรกที่ทำแทบทุกครั้งที่ขับรถ คือการฟังคลิปการสัมภาษณ์ผู้ตื่นรู้จากทั่วโลก ไม่ใช่แค่ผู้รู้ที่เป็นที่รู้จักระดับโลกแล้วนะ แต่เป็นผู้ตื่นรู้ทั่วไปด้วย ผมฟังและติดตามจากช่อง Buddha at The Gas Pump หรือ ‘พบพุทธะ ณ ปั้มน้ำมัน’ ความหมายของชื่อช่องนี้ก็คือ ทุกวันนี้ เราอาจจะพบผู้ตื่นรู้ง่ายได้ในยุคปัจจุบันโดยที่เราไม่รู้ตัว ช่องนี้ได้สัมภาษณ์ผู้ตื่นรู้จากทุกมุมโลกกว่า 400 คน แต่ละคนจะมาแบ่งปันประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงในชีวิต เล่าสิ่งที่เขาค้นพบ เราก็ฟังว่าเขาเรียนรู้มาจากครูอาจารย์คนไหน เราก็ตามไปฟังต่อ เลยได้รู้จักหลากหลายแนวทางในการตื่นรู้มากขึ้น มีคำเปรียบเทียบไว้ว่าคำสอนและวิถีในการปฏิบัติที่แตกต่าง เป็นเพียงป้ายบอกทาง เป็นนิ้วที่ชี้ไปดวงจันทร์ บอกว่าให้มองอะไร มองตรงไหน สุดท้ายปลายทางคือสิ่งเดียวกัน ที่เราต้องเห็นด้วยตนเอง เอาจริงๆ ฟังคลิปมันสนุกดีนะ ได้ฟังเส้นทางของผู้คนมากมาย แต่ความเข้าใจครั้งใหญ่จริงๆ เกิดขึ้นในการบวชครั้งที่สอง ประสบการณ์จริงสำคัญกว่าการรู้การฟังจากคนคำของคนอื่นเสมอ”
“ผมคิดว่าความรู้ในทางธรรมสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ หนึ่ง ‘Knowing’ คือในเชิงความรู้ จำได้ คิดได้ สอง ‘Practicing’ คือเริ่มลงมือฝึก ค่อยๆ ลองทำ แต่ยังไม่เข้าใจถึงหัวใจ และสามคือภาวะ ‘Being’ คือการเป็นสิ่งนั้นได้ด้วยตนเอง แน่นอนว่าการเรียนรู้ย่อมเริ่มจากที่ได้อ่าน ได้ฟัง ได้คิด แต่ความรู้จริงไม่มีทางเกิดขึ้นจนกว่าเราจะลงมือปฏิบัติ และต้องปฏิบัติถูกทางด้วย จนสุดท้ายเข้าใจทะลุปรุโปร่ง หมายถึงสามารถดำรงอยู่และเป็นอยู่ในความจริงนั้นได้
“หากเปรียบเทียบเป็นการว่ายน้ำ Knowing คือการอ่านคู่มือว่ายน้ำหรือดูคนอื่นว่ายน้ำ Practicing คือฝึกหัดว่ายน้ำจริงๆ และสุดท้าย Being คือคุณว่ายน้ำเป็นแล้ว กว่าว่ายน้ำเป็นธรรมดา ธรรมชาติที่คุณเป็นและทำได้ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องฝึก เป็นประสบการณ์ในเนื้อในตัวซึ่งเป็นคนละระดับกับสองแบบแรกเลย คือ จากแค่รู้วิธี มาสู่รู้ฝึกฝน สุดท้ายคือ รู้และเป็นสิ่งๆ นั้นได้ในชีวิต เอาเข้าจริงๆ ก็ตรงกับวิถีทางพุทธซึ่งมี 3 ลำดับขั้นของการเรียนรู้ธรรม ได้แก่ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ”
“ช่วงที่เขียนหนังสือหัวใจตื่นรู้ ผมเองมีความรู้ Knowing ในระดับที่เห็นภาพรวมทั้งหมด แต่ Practicing หรือการฝึกฝนจริงๆ ยังไปแค่กลางๆ ไม่ถึงขั้น Being ดังนั้นในบทท้ายๆ ของหนังสือที่เป็นสภาวะการเห็นธรรมหรือความจริง ผมยังต้องอาศัยการนำถ้อยคำหรือประสบการณ์ของผู้ที่อยู่ในระดับที่สูงกว่ามาถ่ายทอดความจริงในระดับของการเป็น Being”
“ไม่ได้แปลว่าคนรู้ธรรมะเยอะๆ จะเข้าถึงความจริงนะ เพราะคนมีความรู้ทางปริยัติ รู้หลักธรรม รู้คัมภีร์เยอะ ก็อาจกลัวและไม่พร้อมยอมรับคำสอนที่ไม่ตรงกับในคัมภีร์ ในคำสอนทางศาสนาที่ตนเชื่อ คนบ้าธรรมะหลายคนไม่ได้ไปไหน พูดหลักคิด ปรัชญาชีวิต มันดูเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ บางครั้งอาจมีความทุกข์มากกว่าด้วยซ้ำ แต่ถ้าเราเจอ ‘ใจ’ ของตัวเอง มันช่วยให้พอใจชีวิตมากขึ้น ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น มองว่าเปลี่ยนแปลงได้และเป็นไปได้ พอเข้าใจความว่าง มันทำให้เราเข้าใจความเป็นจริง สามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้ดีกว่าเดิม”
“ผมไม่ได้หมดสิ้นความโกรธแล้วนะ ถ้าเรื่องหนักๆ แรงๆ ก็ยังโกรธอยู่ แต่มันไม่ได้อยู่นาน ถ้านับจากวันที่บวชครั้งแรกและวันนี้ โห.. ความเร็วในการละการวางคนละเรื่องเลย เชื่อไหม เอาเข้าจริงไม่ได้ยากเย็นนะ เพราะที่จริงมันคือธรรมชาติแท้ของความเป็นมนุษย์ มันคือความธรรมดา ถ้าเจอสิ่งนี้ เราไม่ได้หมดทุกข์เลยนะ แต่จะเป็นคนที่ทุกข์น้อยลง เป็นคนที่พร้อมจะอยู่ร่วมกับคนอื่นและทำอะไรบางอย่างที่ช่วยให้โลกพัฒนาในทางที่ดีขึ้น
“แล้วที่สำคัญนะ ทุกคนมีสิทธิ์เจอใจของตัวเองได้ทั้งนั้นเลย” เขาย้ำถึงความเป็นไปได้ที่มีอยู่ในทุกคน
หนทางสู่หนึ่งเดียวกัน
หลังจากโครงการ New Heart New World เกิดขึ้นภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ช่วงเวลานึงเขาเคยเข้าไปรับผิดชอบงานผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารสถาบันอาศรมศิลป์ ก่อนจะพบกับความท้าทายครั้งใหม่ ในบทบาทคนทำงานสื่อสารสร้างสรรค์ไร้สังกัด เป็นฟรีแลนซ์ที่เข้าไปร่วมงานกับภาคีต่างๆ เพื่อผลักดันให้ผู้อื่นเข้าใจการ ‘ตื่นรู้’ มากยิ่งขึ้น
“ตั้งแต่เรียนรู้ธรรมะ แพสชั่นในชีวิตค่อยๆ เปลี่ยนไป จนในที่สุดผมพบว่าผมรักและอยากสร้างสรรค์งานเกี่ยวกับสิ่งนี้” เขาพูดถึงเป้าหมายในอาชีพของตัวเอง ซึ่งกลายมาเป็นเป้าหมายชีวิตในปัจจุบันด้วย
“ความตั้งใจคือผมอยากทำงานที่ช่วยให้คนกลับมาพบเจอใจที่แท้จริง มาหาตัวเราที่แท้จริง ธรรมะในตัวเอง หรือเรียกว่าการ ‘ตื่นรู้’ ก็ได้ ผมทำงานสื่อสารมา ประกอบกับรู้ว่า ตอนไม่รู้เป็นยังไง ทำยังไงให้รู้ รู้แล้วเป็นยังไง ก็เอาสามเรื่องนี้มาผลิตเป็นคอนเทนท์อะไรก็ได้เลย เช่น หนังสือ คลิปวีดีโอ งานศิลปะ นิทรรศการ บอร์ดเกม ฯลฯ อยากสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ทั้งผมเป็นคนทำ หรือหาคนอื่นมาช่วยกันทำให้เกิดขึ้น”
“ไม่ใช่แค่วิธีการสื่อสาร ผมเห็นชุมชนแห่งการตื่นรู้ร่วมกัน หรือ Co-Awakening Community ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากหมู่บ้านพลัมของท่านติช นัท ฮันห์ เป็นพื้นที่แห่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มาแชร์กันทั้งในโลกออนไลน์และโลกจริง ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในอดีต บ้านเราเคยมีวัดทำหน้าที่นี้นะ แต่ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ที่เน้นพิธีกรรมทางศาสนา ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนมากอยากทำอะไรแบบนี้ อาจออกมาเป็น Co-Creation ร่วมกัน คงไม่ใช่ผมคนเดียวลุกขึ้นมาทำ”
ณ ปัจจุบัน ที่ผู้คนมีทางเลือกในการเข้าถึงข้อมูลและใช้ชีวิตได้เปิดกว้างและหลากหลาย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชุมชนสักแห่งจะเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น เหนียวแน่นและยั่งยืน เขาเปิดเผยว่าได้เริ่มออกแบบและจัดเวิร์คช็อปที่มีชื่อว่า ‘ดู ใจ เรา – See The Oneness’ เพื่อทดลองสร้างกระบวนการเรียนรู้ พร้อมกับสร้างพื้นที่ให้คนที่สนใจเรื่องเดียวกันมาพบปะพูดคุยเจอกัน ถือเป็นการเริ่มต้นลงหลักปักฐาน ‘ชุมชนแห่งการตื่นรู้ร่วมกัน’ ขึ้นมา
“ผมมองว่าเรื่องการตื่นรู้เป็นเรื่องที่ไม่อาจชักช้าหรือรีรอได้ เพราะถ้ามองในภาพใหญ่ของสังคมโลกในปัจจุบัน เรากำลังเผชิญวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกือบทั้งหมดถูกสร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ที่ยังอยู่ในโลกทัศน์แบบเก่า บนฐานแห่งการแข่งขัน แย่งชิง มายาคติ หรือลึกที่สุดคือ ความกลัวและความยึดมั่นในตัวตน เหมือนมนุษยชาติกำลังอยู่ในเกมขนาดใหญ่ กำลังอยู่ในการแข่งขันเพื่อพิสูจน์ตนเองว่า เราจะสามารถมีจำนวนของผู้คนที่รู้ตื่น มีหัวใจใหม่ มีดวงตาที่เห็นและเข้าใจความจริง มีจิตที่มีเมตตา เห็นความเป็นมนุษย์ในตนเองและผู้อื่น เข้าใจความจริงของตนเองและธรรมชาติ จะสามารถมี Awakening Heart ในสัดส่วนที่เพียงพอที่จะช่วยสร้างสรรค์ทางออกใหม่ๆ ให้กับปัญหาต่างของโลกที่กำลังป่วยไข้ได้ไหม”
“ถึงตอนนี้ ผมมองย้อนกลับไป ก็รู้สึกว่าดีเหมือนกันที่ผมต้องใช้เวลาเป็นสิบปี ผมค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ ตกผลึกทำความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งหากผมรีบสื่อสารรีบทำเรื่องนี้เร็วกว่านี้ มันก็อาจผิดพลาดและไม่เป็นอย่างที่ควรเป็น บนเส้นทางการทำงานเพื่อเผยแผ่เรื่อง ‘การตื่นรู้’ ผมเชื่อว่ายังมีสิ่งอีกหลายสิ่งที่ต้องร่วมเรียนรู้กันต่อไป”
กว่าสิบปีก่อน ผู้ชายชื่อ ‘ธรากร กมลเปรมปิยะกุล’ ยังห่างไกลศาสนาและไม่ได้สนใจธรรมะ มองเห็นเพียงเส้นทางของการงานที่ก้าวหน้า ซึ่งไม่ได้ต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่บนเส้นทางแห่งการเดินทางแสวงหาความจริง ความเข้าใจตัวเอง และเข้าใจวิธีสื่อสาร การออกเดินทางของเขาเริ่มต้นแล้ว การก้าวเดินค่อยเป็นค่อยไป และอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่เขาใฝ่ฝัน นั่นคือ ‘ชุมชนแห่งการตื่นรู้ร่วมกัน’
บนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ เขากำลังลงมือสร้างความเป็นจริงจากความฝันสูงสุดของเขา นั่นก็คือ การได้ใช้ความสามารถสร้างสรรค์ผลงานเพื่อรับใช้ผู้คนยุคใหม่ ให้ได้ค้นพบหัวใจของตนเอง ได้เข้าใจความจริงของชีวิต เข้าถึงความเมตตา ความเป็นปกติธรรมดาและพบเส้นทางสู่ชีวิตที่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติดั้งเดิมของตัวเอง
ปัจจุบัน ธรากรเป็นหัวหน้าฝ่ายสื่อสารและกลยุทธ์ของโครงการ We Oneness ดำเนินงานโดย มูลนิธิสหธรรมิกชน ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. และเป็นผู้ออกแบบเกมชีวิต A2O - Awake to Oneness และอยู่ในระหว่างการก่อตั้ง Oneness Academy แหล่งเรียนรู้เรื่องการเดินทางภายในและการตื่นรู้สู่หนึ่งเดียวกันแห่งแรกของไทย
สัมภาษณ์และเขียนโดย ขวัญชัย ดำรงขวัญ
Admin Fanpage มนุษย์กรุงเทพฯ
บนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ – 3/3
ความตั้งใจคือผมอยากทำงานที่ช่วยให้คนกลับมาพบเจอใจที่แท้จริง มาหาตัวเราที่แท้จริง ธรรมะในตัวเอง หรือเรียกว่าการ ‘ตื่นรู้’ ก็ได้
บนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ – 2/3
การบวชครั้งที่ 2 เหมือนไปพักร้อน ตอนนั้นมองว่าบวชที่ไหนก็ได้ ตอนนั้นเราพอมีความเข้าใจ มีวิธีปฏิบัติภายในตัวเองแล้ว แตกต่างจากรอบแรกที่ยังไม่ค่อยรู้อะไร
บนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ – 1/3
ผมไม่โหยหาการปลีกตัวลางานไปปฏิบัติธรรม เพราะความรู้ตัวนี้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาที่มีสติรู้ตัว มันเปลี่ยนโลกทั้งโลก ชีวิตทั้งชีวิต ทุกขณะในทุกที่คือสถานปฏิบัติธรรมดีๆ นี่เอง