Search
Close this search box.

ดีร้ายไม่มีคำว่าบังเอิญ

‘การรักษาที่เข้าใจชีวิตและอิสรภาพของการมีชีวิต ทั้งในยามเจ็บป่วยและก่อนความตาย’ คือสิ่งที่ นพ. ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล หาคำตอบมาตลอด โดยเฉพาะ 10 ปีหลังของการเป็นแพทย์

ปัจจุบัน นพ. ทีปทัศน์ หรือ ‘หมอปอง’ อายุ 41 ปี เป็นแพทย์ธรรมชาติบำบัด ผสมผสานตั้งแต่การแพทย์แผนไทย, การแพทย์แผนจีน, การแพทย์มนุษยปรัชญา, การแพทย์โฮมิโอพาธีย์ (homeopathy ศาสตร์การแพทย์พื้นบ้านชนิดหนึ่งของยุโรปอายุกว่า 200 ปี ศาสตร์ที่เชื่อในพลังชีวิต’ ที่ว่า ‘ร่างกายสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีความสามารถในการรักษาเยียวยาตนเอง’) และอื่นๆ ขณะเดียวกันยังสนใจด้านการฝึกจิตสมาธิและเชื่อว่า สมดุลการแพทย์สมัยใหม่และกลไกการรักษาจากภายใน ไม่เคยแยกขาดจากกัน

“ยิ่งศึกษาก็ยิ่งเชื่อว่า ‘ธรรม’ กับ ‘สุขภาวะ’ คือองค์รวมเดียวกัน ความเข้าใจชีวิตพาให้เรามีสุขภาพที่ดีในระยะยาว”

ในฐานะแพทย์ พยานพบเห็นการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ผู้ที่ต้องมีส่วนร่วมทั้งการวินิจฉัย พูดคุย ไถ่ถามเรื่องราวในชีวิต ทำให้เขาพบเจอชีวิตหลากหลายเรื่องราว ตั้งแต่ผู้ที่ประสบความสำเร็จตามฉบับนิยม มีทรัพย์สินมหาศาลแต่ถึงคราวเจ็บป่วยก็ยังคงทุกข์ หลายคนมีทรัพย์สมบัติน้อยแต่สายตาของความอิ่มเต็มและเต็มพร้อมยังคงลุกโชน แน่นอนว่าในความจริงของชีวิตยังมีอีกหลายกรณีที่กลับกันจากกรณีที่ยกมา

หากสิ่งที่นพ. ทีปทัศน์ ต้องการสื่อสารก็คือ ระหว่างการเดินทางไปสู่อิสรภาพใหม่ ไปสู่ชีวิตหลังความตาย ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คนไข้เหล่านี้พบอิสระจากภายใน ลดความเจ็บป่วยทางจิตใจในระดับหนึ่ง

“เวลาที่ป่วย เราจะพบว่าความคิดเราไม่อิสระเท่าเดิม ความคิดทื่อลง หรืออาจลุกมาทำอะไรตามใจไม่ได้ กลับกัน หากเราไม่ป่วย เราย่อมมีอิสระที่จะคิดและทำตามสิ่งที่เราต้องการ

“สำหรับหมอ การตื่นรู้คือการเป็นอิสระ แต่ไม่ใช่อิสระจากการถูกตามใจให้ทำอะไรก็ได้ แต่เป็นอิสระทางใจที่จะสุขได้ในทุกๆ สภาวะ

 

จุดเริ่มต้นนักเรียนแพทย์: เพราะแรงบันดาลใจเล็กๆ และการฟังเสียงหัวใจในแต่ละช่วงเวลา

หากวัดความสำเร็จในแง่การศึกษา การประกอบอาชีพ และความสนุก ความสุขจากเส้นทางที่มุ่งมั่นจนถึงวันนี้ คงไม่ใช่การกล่าวเกินจริงว่า นพ. ทีปทัศน์ ประสบความสำเร็จ

แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน ด.ช. ทีปทัศน์ เป็นเด็กพัฒนาการช้า ทั้งการเดินและการพูด ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุให้ช่วงวัยเด็ก แม้ไม่ได้มีปัญหาทางการเรียน แต่ลึกๆ แล้วเขากลับรู้สึกแปลกแยกจากผู้คน 

“แต่เดิมหมอเป็นคนขี้อาย ช่างฝัน อาจเพราะเรื่องพัฒนาการด้านการพูดและพัฒนาการของการเดินค่อนข้างช้า แต่ถ้าให้มองกลับไปวัยเด็กด้วยความเข้าใจที่มากขึ้นในมุมผู้ใหญ่ มันอาจคือต้นตอ ‘ความไม่วางใจต่อโลก’ และ ‘ความโดดเดี่ยว’ ”

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง คือเทศกาลคริสต์มาสในช่วงป. 3 หรือวันที่ ด.ช.ทีปทัศน์ อายุ 9 ปี เหตุการณ์นั้นอาจใกล้เคียงกับคำว่า ‘ตื่น’ และไม่ใช่การ ‘ตื่น’ ที่มาจากสำนึกรู้อย่างปาฏิหาริย์ แต่มาจากความรู้สึกเชื่อมั่น ถูกทำให้มั่นใจในคุณค่าและศักยภาพในตัวเอง

“ตอนนั้นที่โรงเรียนมีประกวดวาดรูประบายสีวันคริสต์มาส เด็กๆ ทุกคนจะได้รับแผ่นกระดาษพิมพ์ลายซานตาคลอสเหมือนกัน แทนที่จะระบายสีท้องฟ้าเป็นสีดำหรือน้ำเงินเรียบๆ อย่างคนอื่น เราระบายท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม และเติมดาวสีเหลืองในรูปภาพ

“ครูประจำชั้นกลับเรียกเราขึ้นไปหน้าชั้น ตอนนั้นกลัวมากเพราะคิดว่าเราทำอะไรผิดรึเปล่า เหงื่อออก ครูถามว่าทำไมถึงวาดดาวทั้งที่ในกระดาษไม่มีดาวสักดวง ผมตอบว่า คิดว่ามันคงสวยดีถ้าท้องฟ้ามีดาว สุดท้ายกลายเป็นว่าครูชมว่าเรามีความคิดสร้างสรรค์และบอกให้เพื่อนๆ ในห้องปรบมือให้

“ผมจำรายละเอียดอย่างอื่นไม่ได้มาก แต่หลังจากนั้นครูเริ่มมอบหมายงานเล็กๆ ในห้องให้ทำมากขึ้น ความขี้อายที่ติดตัวมาเหมือนจะเบาบางลงตั้งแต่ตอนไหนไม่รู้ แต่ที่รู้สึกว่าตัวเอง ‘ตื่น’ ตอนนั้น คือเกิดความรู้สึกในใจว่า ‘เรามีคุณค่าในสายตาของครูคนหนึ่ง’ ‘เรามีศักยภาพจะทำอะไรได้มากกว่าที่คิด’ “

การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น คือการ ‘ตื่น’ ครั้งแรก คือการทำให้เด็กคนหนึ่งเห็นคุณค่าและศักยภาพในตัวเอง ไม่มากก็น้อย การเปลี่ยนแปลงในวันนั้นทำให้ ด.ช. ทีปทัศน์ กลายเป็นนักเรียนแพทย์ในเวลาต่อมา และการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งของเขาเกิดขึ้นในช่วงเวลา ‘พูดคุย’ กับนักเรียนแพทย์เข้าใหม่ในวันรายงานตัว

“อาจเป็นกระแสนิยมของนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาขณะนั้นว่า หากเรียนชีววิทยาได้ดี ก็ควรลองสอบเข้าคณะแพทย์คณะใดคณะหนึ่ง

“ขณะที่รอตรวจเอกสารมีรุ่นพี่เข้ามาพูดคุยและรู้ว่าผมคือนักเรียนที่สอบเข้าได้คะแนนสูงสุดจึงอยากขอสัมภาษณ์ ถ้าถามว่าตอนนั้นรู้สึกอย่างไร ตอบตามตรงว่าดีใจมาก แต่หลังจากนั้นมันมีคำถามในหัวประโยคหนึ่งว่า ‘เรามีความสามารถ แล้วเราจะใช้ความสามารถนั้นช่วยเหลือคนอื่นอย่างไร’

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญ แต่คำถามนั้นก็ทำให้ผม ‘ตื่น’ อีกครั้งและคิดว่า เราเป็นเด็กขี้อายคอยหลบอยู่หลังคนอื่นไม่ได้แล้ว เราจะใช้ความสามารถช่วยเหลือคนอื่นให้ถึงที่สุดอย่างไร หลังจากนั้นผมค่อยๆ เปลี่ยนตัวเอง ทำงานทำกิจกรรมมากขึ้น เรียนรู้และทำความรู้จักเพื่อนต่างคณะ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ตัวเอง วันหนึ่งเราจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้เต็มศักยภาพของเรา

นพ. ทีปทัศน์ย้ำว่า “การตื่นรู้ของคนคนหนึ่งอาจเกิดจากแรงบันดาลใจเล็กๆ ที่ผู้ใหญ่มอบให้ หรือเกิดจากการฟังเสียงหัวใจของเราในแต่ละช่วงเวลา”

ระหว่างทางการเป็นแพทย์: “การตื่นรู้ไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์ แต่เป็นมุมมองชีวิต”

“ผมมองว่าการตื่นรู้ไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์อะไร แต่เป็นมุมมองชีวิต เป็นเรื่องของตัวเราเอง เป็นศักยภาพพื้นฐานของมนุษย์ที่ทุกคนมี จำเป็นต้องมี”

หากดูจากการเปลี่ยนแปลงเพื่อตื่นขึ้นของนพ. ทีปทัศน์ อาจกล่าวได้ว่าศักยภาพพื้นฐานที่ว่าคือการใคร่ครวญ รู้สึกฉุกคิดพิจารณา และค้นพบการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ บางอย่าง ซึ่งคุณหมอทีปทัศน์เชื่อว่านั่นคือศักยภาพของมนุษย์อย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์มีวิวัฒนาการแตกต่างกับสัตว์สปีชีส์อื่น

“ความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์ไม่ได้วัดที่ปริมาณ DNA เอาเข้าจริงแล้ว DNA ของมนุษย์กับหนอนตัวกลม Caenorhabditis elegans ต่างกันไม่ถึง 2,000 ยีน ลิงชิมแปนซีมียีนต่างกับมนุษย์แค่ราว 1 เปอร์เซ็นต์

“ที่ต่างคือมนุษย์มีศักยภาพที่จะตื่นรู้ เป็นเรื่องของจิตไม่ใช่แค่ร่างกาย การตื่นรู้ในมุมของผมจึงไม่ใช่ความสามารถพิเศษ (Extra Ability) แต่เป็นความต้องการพื้นฐานที่สุด (Minimal Requirement) ในการเป็นมนุษย์” นพ.ทีปทัศน์กล่าว

แต่ที่ต้องถามยิ่งกว่า แม้เราจะมีศักยภาพใคร่ครวญพิจารณาเพื่อเปลี่ยนแปลงและ ‘ตื่นรู้’ บางอย่าง ทำไมเราต้องตื่น?

“เมื่อเห็นคนอื่นที่ยังทุกข์ เหมือนเห็นตัวเองในอดีต ทำได้แต่ภาวนา เอาใจช่วย และหากทำได้ก็อยากแลกเปลี่ยนวิธีให้เขาตื่นได้” ตื่นในทีนี้คือตื่นจากความทุกข์ และเป็นอิสระจากความเจ็บป่วยทั้งภายในและภายนอก

อุปสรรคที่ทำให้ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ตื่น

สิ่งที่นพ.ทีปทัศน์อยากชวนคุย คือการเปลี่ยนแปลงเพื่อตื่น ไม่ใช่แค่นั่งหลับตาเพื่อรอให้ค้นพบหาทางแก้ปัญหา หากก้าวเล็กๆ แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในมุมของนพ. ทีปทัศน์ คือการเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ เปลี่ยนกรอบคิด ความเคยชิน และวิธีการเรียนในระบบการศึกษา ที่จะไม่ทำให้คนรุ่นใหม่รู้จักเพียงแต่วิชาการ แต่เข้าใจวิชาชีวิตด้วย

“อุปสรรคที่ทำให้เราไม่อาจตื่น ในความคิดของผมคือความเคยชินจากประสบการณ์วัยเด็ก จากการเลี้ยงดูที่สร้างความเคยชินให้ยึดติดกับความสำเร็จทางวัตถุมากเกินไป

“พัฒนาการ EF หรือ Executive Function บอกว่าพัฒนาการสมองของคนในช่วง 9-15 ปีจะเกิดการเสื่อมของเซลล์สมองที่ไม่ได้ใช้ วงจรความคิดที่เราไม่คุ้นชินจะถูกโละจากสมองเพื่อทำให้สมองทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หมายความว่าจากวัยเด็กที่มองว่าจินตนาการทุกอย่างเป็นไปได้ ในช่วงอายุนี้จะเหลือหรือจำได้เฉพาะประสบการณ์ที่ ‘เคยทำแล้วเวิร์ค’ สำหรับเรา”

เราเรียกความคิดที่เกิดจากการทำซ้ำๆ ว่า “ความเคยชิน”

คนเราจะไม่เป็นไปตามสิ่งที่เขาพูดหรือคิด แต่เป็นไปตามสิ่งที่ทำจนชินต่างหาก และนั่นคือเหตุผลที่ว่า หากคนเรามีศีลคือความเคยชินที่ดีงาม 5 อย่าง ก็จะเป็นมาตรฐานให้ความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นไปอย่างแจ่มกระจ่าง

“โชคร้ายที่การสร้างความเคยชินในการรู้ตัว ไม่ถูกทำให้อยู่ในการเลี้ยงดูและระบบการศึกษาส่วนใหญ่ในโลก

“เราเคยชินกับข้อสอบบอกให้กาถูกผิด ฝึกให้คิดเร็วๆ จดจำเป็นสูตร ฝึกให้พอใจกับการเพลิดเพลินกับความคิดมากๆ แต่ไม่ชินเลยกับการรู้ว่าความคิดของเรามันเกิดขึ้นมาตอนไหนอย่างไร ซึ่งนักการศึกษาจะต้องเปลี่ยนความเชื่อความเคยชินเหล่านี้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้มนุษย์รุ่นถัดไปมีศักยภาพด้านการตื่นรู้มากขึ้น”

ท้ายที่สุด นพ. ทีปทัศน์ย้ำอีกครั้งว่า ประสบการณ์และเส้นทางการตื่นรู้ ไม่ใช่ความรู้ที่อ่านหรือท่องจำมาจากตำราภายนอก แต่เป็นความรู้ที่มาจากการรู้สึกเข้าไปภายในตนเอง แต่ละคนมีตำราชีวิต (Book of life) ที่ต้องเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต

“เมื่อเราเรียนและทำความรู้จักชีวิตตัวเองในทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องดีหรือร้าย และเอามาร้อยเข้าด้วยกันเพื่อหาความสัมพันธ์บางอย่าง เราจะค่อยๆ เห็นเหตุและผลที่เราไม่เคยนึกถึง ทำไมวัยเด็กเราจึงรู้สึกโดดเดี่ยว ทำไมเราถูกเรียกออกไปหน้าชั้น ทำไมเราตื่นขึ้นในมุมมองชีวิตใหม่ และถ้าเราตัดคำว่า ‘บังเอิญ’ ออกไปได้ เราจะค้นพบกฎข้อหนึ่งที่เรียกว่า ‘กฎแห่งกรรม’ ที่ประจักษ์ได้ด้วยประสบการณ์ชีวิตของคุณเอง”

ซึ่งการใคร่ครวญหยุดคิดในช่วงเวลาหนึ่งๆ นั้น อาจเป็นวินาทีสำคัญในการกำหนดทิศทางชีวิตไปทางใดทางหนึ่งได้เลย