Search
Close this search box.
เห็นหนทางสู่ความตื่นรู้
พระไพศาล วิสาโล

ตั้งแต่เกิดจนตาย ร่างกายของเรามีสองสภาวะหลักๆ คือ ตื่น กับหลับ จิตใจก็เช่นกัน ร่างกายตื่นเมื่อได้รับแสงสว่าง ส่วนจิตนั้นตื่นเมื่อมี “ความรู้” เกิดขึ้น เราจึงมักเรียกสภาวะดังกล่าวว่า “ตื่นรู้”

ความรู้ที่ทำให้จิตตื่นนั้นมีหลายอย่าง ความรู้ประการแรกคือ “ความรู้ตัว” เมื่อใดที่รู้ตัว จิตก็หลุดจากความหลงที่ครอบงำ ไม่ว่าหลงเข้าไปในความคิดหรือหลงไปติดอยู่ในอารมณ์ อาทิ ความโกรธ ความเกลียด ความเศร้า ความหลง ซึ่งอารมณ์ดังกล่าวสามารถบงการจิตให้ถลำลึกหรือจมดิ่งอยู่ในความทุกข์ราวกับฝันร้าย ณ ยามหลับใหล แต่ทันทีที่รู้สึกตัวจิตก็พลันตื่น สดชื่น เบิกบาน และโลกก็พลันสว่าง สดใส ไม่หม่นหมองอีกต่อไป

ความหลงที่ครอบงำจิต นอกจากความคิดและอารมณ์ที่ทำให้ลืมตัวแล้ว ยังได้แก่มายาคติเกี่ยวกับชีวิตและโลก เช่น ความเชื่อว่าคนเราเกิดมาเพื่อตักตวงความสุขใส่ตนให้มากที่สุด เงินทองและอำนาจคือสรณะของชีวิต ความยากจนเกิดจากบาปกรรมในอดีตชาติ ธรรมชาติและทรัพยากรทั้งหลายในโลกมีเพื่อปรนเปรอความต้องการของมนุษย์สถานเดียว ฯลฯ รวมทั้งอคติเกี่ยวศาสนา ชาติพันธุ์ เพศสภาวะ วัฒนธรรม อุดมการณ์ ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เกิดความรังเกียจเหยียดหยามคนที่ต่างจากตน ใครที่หลุดจากมายาคติดังกล่าวเพราะมีความรู้หรือระบบคุณค่าอีกชุดหนึ่งที่ดีกว่ามาแทนที่ ย่อมเกิดอาการ “ตาสว่าง” เสมือนตื่นจากหลับ เพราะได้เห็นชีวิตและโลกต่างจากเดิม ช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า เปี่ยมสุข ไม่รู้สึกว่างเปล่าร้อนรุ่มดังแต่ก่อน  รวมทั้งมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นเกื้อกูลกับผู้อื่นและโลกภายนอกมากขึ้น

ความตื่นรู้หรืออาการตาสว่างดังกล่าวข้างต้น เป็นความเปลี่ยนแปลงทางด้านทัศนคติหรือจิตสำนึก ซึ่งอาศัยการใคร่ครวญ ไตร่ตรอง หรือการใช้ความคิดเป็นสำคัญ ขณะที่ความรู้ตัวนั้นเป็นการตื่นรู้ที่มิได้เกิดจากความคิดหรือใคร่ครวญ แต่เกิดจากการฝึกฝนหรือความเปลี่ยนแปลงทางจิต เช่น มีสติรู้ทันความคิดและอารมณ์ หรือมีสมาธิจนจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่มากระทบ

ความรู้ประการที่สอง คือ “ความรู้หรือการเห็นความจริง” ความจริงที่ว่ามิใช่ความจริงเกี่ยวกับโลกภายนอก แต่เป็นความจริงเกี่ยวกับตนเอง ซึ่งแยกไม่ออกจากความจริงของสรรพสิ่ง ความจริงชนิดนี้ไม่ได้เกิดจากการคิด แต่เกิดจากการประจักษ์แจ้งด้วยใจ ผ่านการพิจารณาหรือพินิจความเป็นไปของกายและใจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการรับรู้สรรพสิ่งรอบตัวด้วยใจที่เป็นกลาง จนเห็นธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริง มิใช่ตามความอยาก ความรู้ หรือการเห็นความจริงดังกล่าว ถึงที่สุดย่อมทำให้เกิดปัญญาสว่างโพลง จิตกระจ่างแจ้งในสัจธรรม ทำให้ตื่นอย่างแท้จริง คือหลุดจากความหลงที่สำคัญที่สุด อันได้แก่อวิชชา

ความตื่นรู้ดังกล่าวย่อมทำให้เส้นแบ่งระหว่างตัวฉันกับสรรพสิ่งมลายหายไป ในด้านหนึ่งก็เพราะ “ตัวกู” นั้นหายไป หรือพูดให้ถูกก็คือ ไม่มีความยึดติดถือมั่นในตัวกูอีกต่อไป ในอีกด้านหนึ่งก็เห็นถึงความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง ไม่มีการแบ่งเขาแบ่งเรา หรือแบ่งแยกเป็นมนุษย์ สัตว์ และธรรมชาติอีกต่อไป สรรพสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียว ต่างกันก็แต่ชื่อเรียก ซึ่งเป็นสมมุติเท่านั้น

แม้จะยังก้าวไม่ถึง “ความตื่นรู้ประการที่สาม” เพียงแค่ความตื่นรู้ประการแรกคือ “ความรู้ตัว” หากเกิดขึ้นกับเราอย่างน้อยก็ช่วยให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างกายกับใจ และระหว่างสมองกับหัวใจได้มากขึ้น ขณะที่ความตื่นรู้ประการที่สองย่อมส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างเรากับผู้อื่นได้มากขึ้น นำไปสู่การร่วมมือและการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แทนที่จะแข่งขันหรือมุ่งเอารัดเอาเปรียบกัน

ความตื่นรู้นั้นมีชื่อเรียกต่างกัน ถ้อยคำที่ใช้บรรยายสภาวะก็แตกต่างกันไปด้วย จึงไม่ควรให้ความสำคัญกับถ้อยคำมากนัก ขณะเดียวกันวิถีสู่ความตื่นรู้ก็มีมากมายหลายหลาก ดังเห็นได้จากเรื่องเล่าของ 40 บุคคลในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งล้วนมีภูมิหลัง ประสบการณ์ เพศ วัยที่แตกต่างกัน

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ หลายท่านสัมผัสกับภาวะตื่นรู้หลังจากที่ประสบความทุกข์หรือวิกฤติในชีวิต อาจเป็นเพราะความทุกข์ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับวิถีชีวิตที่ผ่านมา รวมทั้งทัศนคติที่เคยยึดถือ หรืออาจเพราะความทุกข์ผลักดันให้ต้องหาแสวงหาหนทางใหม่ๆ ที่เคยมองข้ามเมื่อครั้งยังมีความสุขและความสำเร็จ หรืออาจเป็นเพราะความทุกข์นั้นทำให้หันมาใคร่ครวญตนเองจนเห็นเหตุแห่งทุกข์ว่าแท้จริงแล้วอยู่ที่ใจของตนนี้เอง ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย ทำให้เห็นคำตอบว่า จะหลุดจากทุกข์ได้ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขที่ใจของตนเองยิ่งกว่าอะไรอื่น

มองในแง่นี้การตื่นรู้กับความทุกข์จึงเป็นสิ่งที่แยกจากกันได้ยาก ไม่ผิดหากจะกล่าวว่า “ไม่มีความทุกข์ ความตื่นรู้ก็ไม่เกิด” ดังท่านติช นัท ฮันห์ กล่าวไว้อย่างไพเราะว่า “No Mud, No Lotus” (ไม่มีโคลนตม ก็ไม่มีดอกบัว)

หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นหนทางสู่ความตื่นรู้ รวมทั้งเกิดความเพียรในการปฏิบัติเพื่อสร้างความตื่นรู้ให้เกิดขึ้นแก่ตนในเร็ววัน

พระไพศาล วิสาโล
วันมหาปวารณา 13 ตุลาคม 2562

คำนิยมจากหนังสือ ONE หนึ่งเดียวกัน

Facebook
Email
Twitter
Telegram
Pinterest
Print