เปรียบเทียบ IDG’s กับองค์ประกอบสุขภาวะทางปัญญาของคนไทยวัยทำงาน

เปรียบเทียบ IDG’s กับองค์ประกอบสุขภาวะทางปัญญาของคนไทยวัยทำงาน

  1. การรับรู้และเข้าใจความจริงระดับทั่วไป อาศัยทักษะของการเปิดรับเรียนรู้ชีวิตและสิ่งรอบตัวอย่างกว้างขวาง แตกฉาน ด้วยการพินิจพิจารณาอย่างมีวิจารณญาณ  ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่  Critical thinking, Complexity awareness, Perspective skill, Sense-making, และ Openness & Learning mindset
  2. การรับรู้และเข้าใจความจริงระดับสัจธรรม อาศัยทักษะของการมีศรัทธาและการเปิดรับเรียนรู้จากครูบาอาจารย์ ผู้รู้ หลักธรรมคำสั่งสอน และบุคคลต้นแบบที่มีการเติบโตทางจิตวิญญาณขั้นสูง  องค์ประกอบนี้ไม่พบโดยตรงในแนวคิด IDG’s แต่อาจเทียบเคียงได้กับทักษะด้าน Openness & Learning mindset
  3. ความสัมพันธ์เชิงเอื้ออาทร  อาศัยทักษะการเปิดรับเรียนรู้เรื่องการตระหนักรู้ทางสังคมและการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์  ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่ Perspective skill, Openness & Learning mindset, Self-awareness, Empathy & Compassion, และ Communication skill
  4. ความกรุณา  อาศัยทักษะการเปิดรับเรียนรู้แนวคิดเรื่องโพธิจิต จิตวิญญาณเพื่อสังคม และจากบุคคลต้นแบบที่เสียสละเพื่อส่วนรวม ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่ Perspective skill, Openness & Learning mindset, Empathy & Compassion, Inclusive & Intercultural mindset, และ Courage
  5. ความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับธรรมชาติ อาศัยทักษะการเปิดรับเรียนรู้แนวคิดนิเวศวิทยาเชิงลึกและกระบวนทัศน์องค์รวม ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่ Complexity awareness, Perspective skill, Long term visioning, Openness & Learning mindset, Appreciation, และ Connectedness
  6. การมีชีวิตที่สมบูรณ์ อาศัยทักษะการเจริญสติในชีวิตประจำวัน การฝึกจิตใจสู่ความสงบเงียบ การไตร่ตรองชีวิตและการงาน   ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่ Inner compass, Integrity & Authenticity, Openness & Learning mindset, Self-awareness, และ Presence
  7. สัมพันธภาพที่ดีงาม อาศัยทักษะการเข้าอกเข้าใจ การรับฟัง การสร้างความไว้วางใจ การชื่นชมขอบคุณ และการมีใจกรุณา เพื่อนำไปสู่การยังประโยชน์เพื่อผู้อื่นได้   ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่ Appreciation, Connectedness, Humility, Empathy & Compassion, Self-awareness, Perspective skill, Communication skill, และ Trust
  8. การมีสติ   อาศัยทักษะการเจริญสติ ทำสมาธิ การสะท้อนใคร่ครวญ การมีความฉลาดทางอารมณ์และการจัดการความรู้สึก นำมาสู่การตระหนักรู้เท่าทันและความสงบมั่นคงในตนเอง  ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่ Self-awareness, และ Presence
  9. การยอมรับตนเอง อาศัยทักษะการเจริญสติ การสะท้อนใคร่ครวญในตนเอง การเปิดรับเรียนรู้ เผชิญหน้ากับความจริง การบ่มเพาะความรักความเมตตา การให้อภัย และความอ่อนน้อมถ่อมตน ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่ Inner compass, Integrity & Authenticity, Openness & Learning mindset, Self-awareness, Presence, Humility, Empathy & Compassion, และ Communication skill
  10. ความสงบใจ อาศัยทักษะการเจริญสติ การเท่าทันและปล่อยวาง การเจริญพรหมวิหารสี่ นำไปสู่การมีจิตใจที่เบิกบาน เรียบง่าย และอิสระ ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่ Self-awareness, Presence, Appreciation, Humility, และ Empathy & Compassion
  11. เป้าหมายที่มีคุณค่า อาศัยทักษะการสะท้อนใคร่ครวญในตนเอง การตั้งเจตจำนงที่จริงแท้ การไตร่ตรองชีวิตและการงาน นำไปสู่การสร้างคุณค่าทางสังคมที่ดีงาม ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่ Inner compass, Integrity & Authenticity, Openness & Learning mindset, Self-awareness, Long term visioning, และ Perseverance
  12. การมีใจแผ่กว้าง อาศัยทักษะการเจริญสติ รับฟัง เข้าอกเข้าใจ สะท้อนใคร่ครวญภายใน การชื่นชม การเคารพ การมีความรักความเมตตา การให้อภัย และการเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่ Appreciation, Connectedness, Humility, Empathy & Compassion, Self-awareness, และ Communication skill
  13. การสะท้อนใคร่ครวญ อาศัยทักษะการกลับมาใคร่ครวญเพื่อตระหนักรู้ในตนเอง การมีสติรู้ตัว การเชื่อมโยงกับผู้อื่น เข้าอกเข้าใจ การห้อยแขวนการตัดสิน เปิดรับความหลากหลาย นำไปสู่การสื่อสารสิ่งต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่ Communication skill, Co-creation, Inclusive & Intercultural mindset, Trust, Mobilizing skill, Self-awareness, และ Empathy & Compassion
  14. ความเอื้ออาทร อาศัยทักษะการมีศรัทธาในคุณงามความดี การมีมนุษยธรรม การเสียสละ การบ่มเพาะพรหมวิหารสี่ และการรับฟังอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมีบางส่วนที่อยู่นอกเหนือแนวคิด IDG’s และมีบางส่วนที่ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่ Appreciation, Connectedness, Humility, Empathy & Compassion, และ Communication skill  
  15. กัลยาณมิตร อาศัยทักษะการสานสัมพันธภาพที่ลึกซึ้ง ยาวนาน และเกื้อกูล การสร้างความไว้วางใจ ความรักความเมตตา การเคารพรู้คุณ การมีความศรัทธา รวมถึงการรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมีบางส่วนที่อยู่นอกเหนือแนวคิด IDG’s และมีบางส่วนที่ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่ Appreciation, Connectedness, Humility, Empathy & Compassion, Openness & Learning mindset, Communication skill, และ Trust
  16. การมีประสบการณ์ / เข้าร่วมกิจกรรมทางจิตวิญญาณ อาศัยทักษะการเปิดรับเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง การพินิจพิจารณาอย่างมีวิจารณญาณ การมีความพากเพียรพยายามฝึกปฏิบัติ จนเกิดความเป็นเนื้อเป็นตัวและปัญญาญาณในตนเอง ตรงกับทักษะ IDG ได้แก่ Openness & Learning mindset, Self-awareness, Critical thinking, Perspective skill, Sense-making, Empathy & Compassion, Communication skill, และ Perseverance   

จะเห็นได้ว่า เมื่อนำองค์ประกอบสุขภาวะทางจิตวิญญาณของคนไทยวัยทำงาน (ผลงานวิจัยของ อ.รัตติกรณ์ จงวิศาล) มาเปรียบเทียบกับแนวคิดของ IDG’s จะพบว่า องค์ประกอบสุขภาวะทางจิตวิญญาณของคนไทยวันทำงานจะเน้นหนักไปทางด้านการบ่มเพาะคุณลักษณะภายในส่วนบุคคลเพื่อการหยั่งรู้ รวมถึงคุณลักษณะที่มีความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นหลัก โดย

องค์ประกอบที่ 1, 3, 4, 5, และ 16 สามารถเทียบเคียงได้กับมิติ Thinking ของ IDG’s  

องค์ประกอบที่ 6, 8, 9, 10, และ 11 สามารถเทียบเคียงได้กับมิติ Being ของ IDG’s  

องค์ประกอบที่ 7, 12, 14, และ 15 สามารถเทียบเคียงได้กับมิติ Relating ของ IDG’s  

และ องค์ประกอบที่ 13 สามารถเทียบเคียงได้กับมิติ Collaborating ของ IDG’s  

ส่วนองค์ประกอบที่ 2 (การรับรู้และเข้าใจความจริงระดับสัจธรรม) นั้นไม่สามารถเทียบเคียงได้กับมิติหรือทักษะใดๆ ใน IDG’s กล่าวอีกนัยหนึ่ง แนวคิดของงานวิจัยของอาจารย์รัตติกรณ์นั้นมุ่งเน้นความสำคัญและนำเสนอเนื้อหาอย่างลึกซึ้งไปที่มิติของการบ่มเพาะ การเชื่อมโยงกับตนเอง ทักษะการรู้คิด และการใส่ใจต่อผู้อื่นและโลกเป็นหลัก ขณะที่ให้น้ำหนักน้อยกว่ากับเรื่องทักษะทางสังคม และการลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะทักษะด้าน Courage, Creativity, และ Optimism  ซึ่งอยู่ในมิติการสร้างการลงมือกระทำเพื่อให้เห็นผลของการเปลี่ยนแปลงนั้น ดูเหมือนจะยังไม่ถูกกล่าวถึง

ส่วนแนวคิด IDG’s นั้นมุ่งความสำคัญไปที่การบ่มเพาะทักษะจำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนสังคมในภาพรวมไปสู่ความยั่งยืนอย่างมีมิติจิตวิญญาณ ทั้ง 23 ทักษะและ 5 มิติจึงตั้งต้นจากตัวเองและผู้อื่น ไปสู่การทำงานในภาพใหญ่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับแนวคิดงานวิจัยของอาจารย์รัตติกรณ์ก็พบว่า IDG’s ไม่มีแนวคิดที่เกี่ยวกับ การเข้าถึงความจริงระดับสัจธรรม การบ่มเพาะคุณธรรมความดี การเสียสละ  และการเกื้อกูลกันแบบกัลยาณมิตร  อีกทั้งยังมีหลายทักษะถูกมองข้ามไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพทางจิตวิญญาณในระดับบุคคล นั่นคือ ทักษะที่มีการเอ่ยถึงในแนวคิดงานวิจัยของอาจารย์รัตติกรณ์ แต่ไม่ถูกพูดถึงในแนวคิด IDG’s มีดังต่อไปนี้

  • ทักษะการเรียนรู้ผ่านการมีศรัทธา (Faith)
  • ทักษะการบ่มเพาะพลังแห่งสติ (Mindfulness) แต่มีทักษะที่ใกล้เคียงกันคือ Presence
  • ทักษะการสะท้อนใคร่ครวญภายในตนเอง (Self-reflection) แต่มีทักษะที่ใกล้เคียงกันคือ Self-awareness
  • ทักษะการจัดการ/ ควบคุมอารมณ์ (Emotional management)
  • ทักษะการบ่มเพาะความรักความเมตตา (Loving kindness)
  • ทักษะการบ่มเพาะการมีใจเป็นกลาง (Equanimity)
  • ทักษะการเท่าทันและปล่อยวาง (Surrender & Letting go)  ทักษะนี้อาจเป็นส่วนต่อขยายของ Openness & Learning mindset
  • ทักษะการบ่มเพาะความเคารพรู้คุณ (Reverence)  ทักษะนี้อาจเป็นส่วนต่อขยายของ Appreciation
  • ทักษะการบ่มเพาะคุณงามความดีและความเสียสละ (Conscience & Altruism)

จากความแตกต่างของแนวคิดทั้งสองที่ยกขึ้นมาเปรียบเทียบนี้ ทำให้เห็นได้ว่า ยังมีช่องว่างให้เราสามารถพัฒนาการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมและเติมเต็มศักยภาพเชิงจิตวิญญาณของผู้คนและสังคมได้อีกไม่น้อย โดยสามารถพัฒนาได้ทั้งแนวคิดให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และออกแบบพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้มาส่งเสริมทักษะด้านต่างๆ ให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น อนึ่ง ภาพด้านล่างให้รายละเอียดคำอธิบายเพื่อการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ จากงานวิจัยของอาจารย์รัตติกรณ์ (สามารถใช้เป็นแนวทางในการออกแบบกิจกรรมได้)

บทความโดย ผศ.ดร.สมสิทธิ์ อัสดรนิธี