การฝึกปฏิบัติเพื่อการสื่อสารอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์

การฝึกปฏิบัติเพื่อการสื่อสารอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์

การสะท้อนความรู้สึก

ความรู้สึก คือ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางใจ อันเป็นผลมาจากความต้องการที่ได้รับหรือไม่ได้รับการตอบสนอง อีกนัยหนึ่ง ความรู้สึกเป็นสัญญาณเตือนที่มีคุณค่าที่มาบอกกับเราว่า ลึกๆ ความต้องการของเรากําลังได้รับการตอบสนองอยู่หรือไม่ ความรู้สึกจึงมีความสําคัญใน แง่ที่บ่งชี้ว่า เราทุกคนคือมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ และแม้ว่าคําพูดหรือการกระทําของคนอื่นจะเป็นเพียงตัวกระตุ้นให้เรารู้สึกอย่างไร แต่จริงๆ แล้ว โลกภายในของตัวเราเองต่างหากที่ก่อให้เกิดความรู้สึกหนึ่งๆ ขึ้นมา ดังนั้น การระมัดระวังที่จะไม่กล่าวโทษคนอื่นและกลับมารับผิดชอบต่อความรู้สึกของตัวเราเอง ก็คือหนทางของการฝึกฝนและหนทางของการฝึกฝนนี้ ประกอบด้วย

  • ศึกษาคลังคําศัพท์ของความรู้สึกไว้ (ค้นคว้าเพิ่มเติมได้ในภาคผนวก) เพื่อช่วยให้เราสามารถสื่อสารถึงโลกภายในของเราได้อย่างหลากหลาย มีสีสัน และถูกต้องตรงใจได้มากขึ้นรวมถึงช่วยเปิดประตูใจของคู่สนทนาให้เกิดความเข้าใจในกันและกันได้มากยิ่งขึ้น
  • ฝึกที่จะแยกแยะให้ได้ระหว่างความรู้สึกกับความคิด เพื่อที่ว่าเวลาจะสื่อสารถึงความรู้สึก จะได้ใช้คําที่บ่งบอกถึงความรู้สึก ไม่ใช่ความคิด
  • ฝึกที่จะบอกความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้นๆ ระหว่างที่ดําเนินชีวิตประจําวัน โดยเริ่มจากสองบอกความรู้สึกด้านบวก ดูก่อน เช่น ตอนที่ได้ทําสิ่งดีๆ ช่วยเหลือคนอื่นในการพูด ขอให้เริ่มต้นแต่ละประโยคด้วยคําว่า “ฉัน” โดยพูดว่า “เมื่อ ฉันทํา / เห็น / ได้ยิน… ฉันรู้สึก…”
  • ฝึกอยู่กับความรู้สึกที่ที่เราไม่ชอบ หรือความรู้สึกด้านลบต่างๆ ด้วยการตระหนักถึงการเกิดขึ้นของมัน มองกลับเข้าในไปใ ของตัวเอง สังเกตสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับใจและกาย สัมผัสอยู่กับมันโดยอาศัยลมหายใจเป็นตัวช่วย (สัมผัสถึงลมหายใจเข้า ออกลึกๆ ยาวๆ ไปด้วยในขณะนั้น) แล้วลองเรียกชื่อความรู้สึกนั้นๆ ออกมาโดยไม่ตัดสินตัวเอง

การสะท้อนความต้องการ

ความต้องการ คือ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต่างมีร่วมกันและเหมือนกันหมด นั่นคือเป็นความต้องการพื้นฐานที่ทําให้มนุษย์ดํารงชีวิตอยู่ได้ หรือเป็นคุณค่าที่ลึกซึ้งของมนุษยชาติ ความต้องการเป็นหัวใจหลักในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพราะถ้าเราเข้าใจความต้องการที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง ของทุกคําพูดและของทุกการกระทํา ทั้งของตัวเองและผู้อื่นแล้ว เราจะเกิดความกรุณาในหัวใจได้แม้ต่อคนที่เรากําลังเป็นคู่ขัดแย้งอยู่ก็ตาม ฉะนั้น หน้าที่ของเราคือการฝึกที่จะค้นหาและทําความเข้าใจความต้องการที่อยู่เบื้องหลังนั้น

  • ศึกษาคลังคําศัพท์ของความต้องการไว้ (ค้นคว้าเพิ่มเติมได้ใน ภาคผนวก) เพื่อใช้สื่อสารได้ลงลึกและถูกต้องยิ่งขึ้น รวมถึง ช่วยให้เกิดความเข้าใจกันและกันได้มากยิ่งขึ้น อนึ่ง คําที่บ่งบอกถึงความต้องการมักเป็นคํานามธรรม (เช่น ขึ้นต้นด้วย “ความ” หรือ “การ”) มีความเป็นกลางๆ ไม่ขึ้นกับบุคคล สถานที่ วิธีการกระทํา เวลา หรือวัตถุสิ่งของ
  • ฝึกแยกแยะให้ได้ระหว่างความต้องการกับวิธีการ เพื่อที่ว่าเวลาที่จะสื่อสารถึงความต้องการ จะได้ใช้คําที่บ่งบอกถึงความต้องการ ไม่ใช่วิธีการ ขอให้พึงสังเกตว่า ความต้องการ หนึ่งๆ สามารถถูกตอบสนองได้ด้วยวิธีการที่แตกต่าง หลากหลาย ไม่จําเป็นต้องเหมือนกันในแต่ละคน
  • ฝึกค้นหาความต้องการจากสิ่งที่เราไม่ชอบ ด้วยการระลึกถึงสิ่งที่เราไม่ชอบสักหนึ่งเรื่องไว้ในใจ สัมผัสความรู้สึกนั้น แล้ว แปรเปลี่ยนสิ่งนั้นให้เป็นความต้องการ ด้วยการพูดว่า “ฉันไม่ ชอบ เพราะฉันต้องการ..” จากนั้นสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นและปฏิกิริยาของร่างกาย การพาตัวเองกลับมาอยู่ที่ความต้องการที่แท้ จะช่วยให้เราผ่อนคลายและได้รับพลัง
  • ฝึกทําความเข้าใจความต้องการ ด้วยการใคร่ครวญกับตัวเองว่า อะไรคือความต้องการที่สําคัญต่อชีวิตของตัวเราในขณะนี้ พิจารณาต่อว่า เพราะอะไรความต้องการการนี้จึงสําคัญแล้วจดบันทึกในสมุด จากนั้นลองนึกถึงใครสักคนที่เป็นคนสําคัญในชีวิต พิจารณาดูว่าการที่มีเขาอยู่ในชีวิต มันช่วยเติมเต็มความต้องการอะไรของเราบ้าง จดบันทึกออกแล้ว สุดท้าย ลองส่งความรู้สึกขอบคุณจากใจของเราไปให้แก่คนคนนั้น
  • ฝึกเชื่อมโยงความรู้ ความรู้สึกกับความต้องการ ด้วยการใคร่ครวญ ความรู้สึกและความต้องการที่มีอยู่ในใจต่อสถานการณ์หนึ่ง ๆ โดยพูดว่า “ที่ฉันรู้สึก … เพราะฉันกําลังต้องการ…” กรณีที่ ความต้องการนั้นยังไม่ได้รับการตอบสนอง หรือ “ที่ฉันรู้สึก … เพราะฉันได้รับ (ความต้องการ) …” กรณีที่ความต้องการ นั้นได้รับการตอบสนองแล้ว อนึ่ง เมื่อเราฝึกทําแบบนี้กับตัวเองได้ดีแล้ว ลองนําไปใช้กับผู้อื่นด้วยด้วยการสืบค้นและ ทําความเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคนคนนั้นดู เช่นถามว่า “ที่คุณรู้สึก … เพราะคุณกําลังต้องการ … ใช่ไหม ครับ / คะ?”
  • ในสถานการณ์หนึ่งๆ เมื่อเราทราบถึงความต้องการที่อยู่ลึกๆ แล้ว ขอให้พิจารณาให้เห็นว่า เราสามารถมีวิธีการได้มากมาย ที่จะมาสนองตอบต่อความต้องการนั้น ลองเลือกวิธีที่ดีที่สุดสําหรับเราตอนนั้นอย่างมีสติ ลองฝึกใช้การพิจารณาแบบนี้กับกรณีของคนอื่นๆ ดูด้วย เพื่อเรียนรู้ว่าแม้ในระดับวิธีการ เราอาจทําไม่เหมือนกัน แต่ในระดับความต้องการแล้ว เราไม่มีอะไรที่ขัดแย้งกัน เพราะความต้องการคือสิ่งสากล เราสามารถทําความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกันได้เสมอ

นอกจากการฝึกสะท้อนความรู้สึกและความต้องการแล้ว ในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เรายังสามารถฝึกการให้ข้อสังเกต และการขอร้องกับคู่สนทนาได้ด้วย

  • การให้ข้อสังเกต เริ่มจากการตั้งเจตนาที่ดีของเราไว้ในใจ แล้วจึงพูดถึงข้อเท็จจริงที่ได้เห็น ที่ได้ยิน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นั้นๆ อย่างตรงไปตรงมาโดยปราศจากการตีความ ตัดสิน เหมารวม หรือต่อว่าของเรา กล่าวคือ เป็นการให้ ข้อสังเกตเสมือนว่าเรากําลังเป็นกล้องวิดีโอที่ใบบันทึกเหตุการณ์นั้นๆ แล้วกลับมาบอก
  • การขอร้อง เริ่มจากการตั้งเจตนาของเราว่าจะไม่ยึดติดกับ วิธีการใดวิธีการหนึ่ง และจะเปิดโอกาสให้คู่สนทนาของเรา ปฏิเสธได้ ทําการสํารวจความรู้สึกและความต้องการที่แท้ของ ตนเองก่อน แล้วจึงเอ่ยประโยคขอร้องที่มีความชัดเจน เฉพาะเจาะจง เป็นรูปธรรม และปฏิบัติได้จริง โดยจะไม่ใช้รูป คําปฏิเสธ (เช่น อย่า…) จากนั้นรอฟังความรู้สึกและความคิด ของเขา เพื่อทําความเข้าใจเขา

การทํางานกับเสียงวิจารณ์ภายใน

การสกัดปัดทิ้งให้เป็นชายขอบ (Marginalization) เป็นการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติต่อบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ชอบ ไม่ให้คุณค่า (หรือชอบหรือให้คุณค่าน้อยกว่า) ออกจากสิ่งที่เราชอบ ที่เราให้คุณค่า (หรือชอบหรือให้คุณค่ามากกว่า) ทั้งนี้ อาจเป็นการกระทําที่เรากระทําต่อ ผู้อื่นหรือสิ่งอื่น หรือเป็นการกระทําที่เรากระทําต่อตัวเองหรือคุณลักษณะ บางอย่างในตัวเองก็ได้ การสกัดปัดทิ้งให้เป็นชายขอบ จะทําให้เกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่ดีที่ใช่ ฉันจะเอา ส่วนสิ่งที่ดีที่ไม่ใช่ ฉันจะไม่เอาและต้องกําจัดทิ้งไป นํามาซึ่งการไม่ยอมรับต่อความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงไม่ยอมรับต่อความเท่าเทียมกันในเชิงคุณค่า

การที่เราเริ่มฝึกตัวเองให้เท่าทันต่อการสกัดปัดทิ้งให้เป็นชายขอบย่อมนํามาซึ่งการก้าวข้ามข้อจํากัดและเงื่อนไขเดิมในตนเอง ใจจะเปิดกว้าง สู่การเห็นเชื่อมโยงไปสู่อีกด้านหนึ่งของชีวิต เห็นความหมายและความ เป็นไปได้ใหม่ๆ และแผ่ขยายจิตสํานึกของตนเองให้กว้างขวางและหลอม รวมมากขึ้น การฝึกปฏิบัติต่อไปนี้จะช่วยให้ผู้ฝึกเปิดพื้นที่ให้กับสิ่งที่เคย สกัดปัดทิ้ง สิ่งที่เราไม่เคยให้คุณค่า โดยการกลับไปได้ยิน โอบอุ้ม และทําความเข้าใจต่อสิ่งเหล่านั้นในตนเอง เพื่อให้เกิดการหลอมรวมและฟื้นคืน ความเป็นมนุษย์ในตัวเองให้เต็มเปี่ยมมากยิ่งขึ้น

  • นึกถึงสถานการณ์หนึ่งที่เราประสบกับความอึดอัดหรือยากลําบากบางอย่าง และเกิดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง
  • พูดเสียงที่เราวิจารณ์ตัวเองนั้นออกมา ลองจดบันทึกไว้อ่านข้อความเพื่อให้ตัวเราได้รับฟังเสียงนั้น สัมผัสความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ
  • จากนั้นให้พูดสิ่งที่อยากจะปกป้องตัวเองหรือโต้ตอบต่อเสียง นั้น ๆ ออกมา ลองจดบันทึกไว้
  • อ่านข้อความนั้นของเราที่มีต่อเสียงวิจารณ์อันแรก สัมผัสความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ
  • หากมีอะไรที่อยากพูดต่อเนื่องเพิ่มเติมอีก ให้พูดออกมา แล้วจดบันทึก
  • เมื่อรู้สึกเพียงพอแล้ว ให้ถอยออกจากเสียงเหล่านั้นและอยู่กับ ความสงบด้วยการทําสมาธิสักครู่
  • อาศัยจิตใจที่สงบและมั่นคงนี้ มองย้อนกลับไปสู่สถานการณ์ และเสียงต่างๆ ทั้งหมดในภาพรวมอีกครั้ง แล้วดูว่ามีอะไรที่เราอยากจะบอกหรือพูดถึงสถานการณ์นั้นๆ ก็ขอให้พูดออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอให้มองหาสารประโยชน์และ การเรียนรู้ที่ได้จากค่าพูดต่างๆ สัมผัสความรู้สึกที่เกิดขึ้น แล้วจดบันทึกเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้รับ

จากนั้นลองฝึกปฏิบัติในอีกลักษณะหนึ่ง

  • นึกถึงสถานการณ์หนึ่งที่เรารู้สึกขัดใจ จี๊ด หรือไม่เห็นด้วยเป็นสถานการณ์ที่เรามักบ่นหรือวิพากษ์วิจารณ์ถึงใครบางคน จากนั้นลองบรรยาย (จดบันทึก) ถึงพฤติกรรม ท่าที หรือ ลักษณะของคนที่ทําให้เรารู้สึกขัดใจนั้น … (1)
  • จากนั้นให้กลับมาพิจารณาถึงตัวเองว่า ตัวเองนั้นมีพฤติกรรมท่าที หรือลักษณะอะไรที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราขัดใจในข้อ (1) บรรยาย (จดบันทึก) ถึงคุณลักษณะเหล่านี้ไว้ … (2)
  • ต่อมา ให้ย้อนกลับไปพิจารณาถึงคนที่เรารู้สึกขัดใจนั้น โดยลองสวมบทบาทไปเป็นคนคนนั้นแล้วดูว่า หากคนคนนั้นจะพูดถึงพฤติกรรม ท่าที หรือลักษณะของตนเองในกรณีนี้ เขาจะพูดถึงตัวเองว่าอย่างไร บรรยาย (จดบันทึก) ถึงคุณลักษณะ เหล่านั้นไว้ (3)
  • สุดท้าย ย้อนกลับมาพิจารณาถึงตัวเองอีกครั้ง โดยลองสวมบทบาทไปเป็นคนอื่น หรือเป็นคนที่เป็นคู่กรณีกับเราก็ได้ โดยดูว่าคนอื่นจะมองพฤติกรรม ท่าที หรือลักษณะของตัวเราดังที่ บรรยายไว้ในข้อ (2) อย่างไรได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก เรามีพฤติกรรมแบบข้อ (2) ในลักษณะที่บ่อยๆ มากๆ หรือเข้มข้น บรรยาย (จดบันทึก) ถึงลักษณะเหล่านี้ไว้… (4)
  • นําสิ่งที่จดบันทึกไว้ทั้ง 4 ข้อมาใคร่ครวญร่วมกัน เพื่อดูว่าเราเห็นอะไรในความเป็นตัวเองที่มากขึ้นกว่าที่เราเคยเชื่อหรือไม่ โดยทั่วไป เรามักเชื่อว่าตัวเราเป็นแบบข้อ (2) เท่านั้น (สิ่งที่เป็นกระแสหลักของตัวเอง) ขณะที่ข้ออื่นๆ ได้แก่ (1) (3) และ (4) มักเป็นสิ่งที่เราสกัดปัดทิ้งไปหรือมองไม่เห็นว่าก็มีอยู่ในตัวเราเช่นกัน (สิ่งที่เป็นชายขอบของตัวเอง) ดังนั้นเป้าหมาย ของการฝึกปฏิบัตินี้ จึงเป็นการที่เราจะเท่าทันต่อความเป็นตัวเราในทุกแง่มุม และเรียนรู้ที่จะยอมรับและสัมผัสด้านต่างๆในตัวเองให้มากขึ้น เพื่อนําความเต็มเปี่ยมในตัวเองกลับคืนมา อนึ่ง หากเป็นไปได้ ให้ลองนําสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัตินี้ไปแลกเปลี่ยนกับคนอื่นดู โดยเฉพาะกับคนที่มีลักษณะคล้ายกับคู่กรณีของเรา

ขอบคุณที่มา

หนังสือ สู่ศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ คู่มือการจัดกระบวนการพัฒนาจิตวิญญาณ
รศ.ดร.รัตติกรณ์ จงวิศาล ผศ.ดร.สมสิทธิ์ อัสดรนิธี ดร.ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ บาทหลวงวิชัย โภคทวี