นี่ไม่ใช่คำอุทาน ณ บัดนี้ แต่เป็นคำเตือนสติถึงชาวไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475
ในสมัยที่สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติยังไม่ถูกทำลายอย่างสาหัสดังเช่นปัจจุบัน
“ท่าน” ได้พยายามตะโกนบอกเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกว่า“วิกฤติแล้วโว้ย!”
“ท่าน” ผู้กู่ก้องเตือนสติเรามากว่า 80 ปีแล้วนี้ คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ
โลกของเราในปัจจุบันประสบวิกฤติอย่างหนัก 3 อย่าง คือ วิกฤติมนุษย์ วิกฤติสังคม และวิกฤติโลก
สังคมที่ประกอบด้วยมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ร่วมกันแบบตัวใครตัวมัน มีลักษณะการดำเนินชีวิตที่รีบเร่งตลอดเวลา และมีหลักการมองชีวิตว่าการมีเงินเท่ากับความสำเร็จ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้ผู้คนแยกตัวเองออกจากสังคม ไม่สนใจคนอื่น เห็นแก่ตัว มนุษย์จึงเริ่มก้าวร้าวขึ้นเรื่อยๆ มีความอดทนน้อยลง มีความเครียดมากขึ้น มีทัศนคติ ทางลบกับผู้อื่น สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ที่สุด จนกลายเป็นวิกฤติศีลธรรม ทำให้ระดับจิตใจของมนุษย์ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคนที่ขาดคุณธรรมได้ขึ้นเป็นผู้นำหรือเป็นใหญ่ในสังคม ย่อมทำให้โลกเกิดหายนะ ได้มากกว่าเดิม
ปัจจุบันแม้สังคมบ้านเมืองแทบทุกแห่งจะมีความเจริญทางวัตถุแล้ว แต่สภาพ สังคมด้านจิตใจกลับยํ่าแย่ลงเรื่อยๆ เพราะนํ้าใจของผู้คนเหือดแห้งลงทุกวันๆ ทุกคน อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ไม่มีใครสนใจใคร คนที่รวยก็รวยไป ไม่สนใจอะไรกับคนที่ อยู่ต่างระดับชั้น จนเกิดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย กลายเป็น“ความเหลื่อมลํ้า” ซึ่งเป็นรากฐานของปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา และทุกๆปัญหา เพราะความเหลื่อมลํ้าคืออาการที่ชัดเจนที่สุดของสังคมที่ขาดความเป็นธรรม หรือมอง ให้ลึกลงไปก็คือ ขาดมโนธรรมสำนึกของผู้คนในสังคมนั่นเอง
เมื่อผู้คนไม่มีการเกื้อกูลกัน ความรุนแรงต่างๆย่อมเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ ผู้คนขาดความรักและความเข้าใจในตัวผู้อื่น จึงหันมาทำร้ายกันและกัน เกิดการ เบียดเบียนกันแบบไม่มีใครสนใจใคร ขอเพียงให้ตัวเองอยู่รอดปลอดภัยเป็นพอ ตัวเลข ผู้ใช้ความรุนแรง อาชญากรรม ตลอดจนยาเสพติดจึงเพิ่มมากขึ้นทุกๆปีอย่างยากจะหยุดยั้ง
ด้วยโลกของเรามีพื้นที่และทรัพยากรจำกัด และไม่มากพอที่จะรองรับสิ่งมีชีวิต ที่มีอีโก้และความต้องการอันไม่สิ้นสุดอย่างมนุษย์จึงส่งผลให้ประชากรโลกที่มีจำนวน มากขึ้นเรื่อยๆ ประสบวิกฤติทั้งด้านอาหาร พลังงาน นํ้า ภูมิอากาศ และ สิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้มนุษย์ต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมากเพื่อเลี้ยงดูให้ทุกคนมีชีวิตรอด ในขณะที่ พื้นที่เพาะปลูกน้อยลงเรื่อยๆจากการรุกรานตามพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร เป็นที่อยู่อาศัย และจึงส่งผลให้วัตถุดิบในการทำอาหารย่อมลดน้อยถอยลงไปเช่นเดียวกัน
นอกจากวิกฤติด้านอาหารแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนต้องประสบวิกฤติด้านสิ่ง แวดล้อม วิกฤติพลังงาน วิกฤตินํ้า วิกฤติความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และอีก มากมายที่ล้วนส่งผลกระทบต่อทุกๆชีวิตบนโลก ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหนก็ตาม ล้วนหนีไม่พ้นวิกฤติโลกที่เราต้องเผชิญร่วมกัน
วิกฤติการณ์ภายนอกทั้งหมดนี้ ล้วนเกิดจากวิกฤติภายในจิตของมนุษย์ นั่นคือ จิตที่ยัง“ควํ่า” อยู่ ไม่เปิดออก หมายถึง มีความคิดแบบแยกส่วน เห็นแต่เฉพาะประโยชน์ของตัวเอง พวกพ้องของตัวเอง ประเทศของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติ ไม่คำนึงคนอื่น หรือแม้แต่สังคมที่ตัวเองอยู่ รวมถึงไม่เคยหวนกลับมานึกถึงสิ่งที่จิตใจ โหยหาอย่างแท้จริง มัวกอบโกยแต่สิ่งที่อยู่ภายนอก ขณะนี้โลกจึงยังป่วยเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่แก้ไขตัวเอง เปลี่ยน“จิตควํ่า”เป็น“จิตหงาย”… จาก“หลับใหล”สู่“ตื่นรู้”
ดังนั้น การจะแก้วิกฤติได้จึงต้องเริ่มจากการปฏิวัติจิตสำนึกของคนทุกคน ด้วยการพลิกจิตจากควํ่าเป็นหงาย เปลี่ยนจิตจากคับแคบให้กว้างขวาง จนกระทั่ง ทุกคนเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับคนอื่น ธรรมชาติและโลกของเรา แต่การจะพลิกจิตที่ควํ่าให้หงายขึ้น ต้องเริ่มต้นด้วยการเดินทางสู่โลกภายใน เพื่อตระหนักรู้ว่าเรา“ไม่รู้” เข้าสู่การเรียนรู้ความจริงของกาย ใจ และของสรรพสิ่งที่แท้จริง
ที่มาบทความ : ธรากร กมลเปรมปิยะกุล, ณัฐนภ ตระกลธนภาส. (2562). หัวใจตื่นรู้. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: SOOK Publishing
*ที่มาภาพ : ประเวศ วะสี, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์. (2553). ชาติวิกฤต พลิกจิตถ้วนหน้า ปฏิวัติจิตสำนึก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์.