Search
Close this search box.

นักช้อปปิ้งธรรมะผู้ตามหาสวนโมกข์ฯ

“ทุกวันนี้ผมยังคงเฝ้ามองโลกภายในตัวเอง ขึ้นๆลงๆ เหมือนคลื่นในทะเล บางวันก็ดูดีเสียเหลือเกิน บางวันต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ แต่แปลก ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมจะตำหนิและโทษตัวเองอย่างมากที่ไม่ก้าวหน้า เหมือนเรียนตกซ้ำชั้น แต่คราวนี้ผมยอมรับได้ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ เท่าไหร่ก็เท่านั้น ผมอยู่กับมันได้ ยอมรับมันได้ ผมศิโรราบให้กับธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าแล้ว”

หมอคิม นพ.วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ประจำโรงพยาบาลนครธน และเป็นผู้เขียนหนังสือ ปรับใจ เยียวยากาย Mind-Body Medicine เจ้าของเพจ อ่านเขียนกับหมอคิม Mindfulness Compassion และบล็อก www.doctorkim.blog รวมถึงพอดแคส Podbean: Dr.Kim’Podcast ให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เน้นสร้างสุขภาวะทางกาย ใจ จิตวิญญาณ สังคมไปพร้อมกัน มีชื่อเรียกสั้นๆว่า การแพทย์สายจิต (Mind Body Medicine)  

หมอคิมสนใจพุทธศาสนาตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ เคยร่วมทำกิจกรรมที่สวนโมกข์ฯ อำเภอไชยยาเมื่อครั้งอยู่ชมรมพุทธศาสน์ และมีโอกาสฟังธรรมเทศนาจากท่านอาจารย์พุทธทาส กระทั่งเรียนจบเป็นคุณหมอหรือแม้แต่ช่วงที่เป็นอาจารย์แพทย์แล้ว ก็ยังสนใจศึกษาพุทธธรรมเรื่อยมา ครั้งหนึ่งหมอคิมเคยทุ่มเงินหมื่นกว่าบาทเพื่อซื้อพระไตรปิฏกฉบับสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จากมหามกุฎราชวิทยาลัย จำนวน 91 เล่ม

น่าสนใจว่า ความสนใจพุทธธรรมอย่างจริงจังของคุณหมอ กลับไม่ใช่จุดเปลี่ยนสู่การตื่นรู้ในชีวิต

แต่เป็นก้าวเล็กๆของการตระหนักรู้ที่กาย ซึ่งเชื่อมต่อกับใจ โลกทางจิตวิญญาณสัมพันธ์กับกายและใจเสมอ ความรู้ทางธรรม ตำราพุทธศาสตร์ รวมถึงการถกเถียงปัญหาธรรมกลับไม่ใช่คำตอบที่คุณหมอดั้นด้นค้นหา ตรงข้าม..ในวันที่ร่างกายป่วยหนัก หมอคิมพบว่ามันคืออุปสรรคสำคัญของชีวิตที่มีความสุข      

อะไรคือสิ่งที่หมอคิมค้นพบ บนเส้นทางการตื่นรู้นี้ ? 

 “ผู้คนให้เวลากับโลกภายนอกมากเสียจนหลงลืมว่า ในตัวเรายังมีโลกอีกโลกหนึ่ง ที่ซ่อนไว้อยู่ภายใน”

หลับฝันก่อนการตื่น

“ตั้งแต่เป็นเด็กจำความได้ ชีวิตของผมมีอยู่ 2 อย่างคือ ‘เรียน กับ เล่น’ งานหลักของผมคือ การเรียนและทำผลการสอบให้ดีที่สุด ผมประสบความสำเร็จด้านการเรียนมาตลอด สามารถผ่านการสอบเข้าโรงเรียนระดับแนวหน้าของประเทศ และผ่านการสอบเข้าเรียนแพทย์ได้”

จากเด็กชายที่วิ่งเล่นตามประสาเด็กห้องแถวย่านฝั่งธนบุรี เป็นลูกพ่อค้าเปิดร้านสโตร์ขายของใช้ประจำวันแถววงเวียนใหญ่ แต่เพราะครอบครัวให้ความสำคัญ ส่งเสริมเรื่องการศึกษาอย่างเต็มที่ เด็กชายห้องแถวในวันนั้นจึงพากเพียรศึกษาจนสอบเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ได้ในที่สุด

ช่วงเป็นนักศึกษาแพทย์นี้เอง คุณหมอคิมได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากการไปเยือนสวนโมกข์ฯ ไม่ต่างจากหนุ่มสาวปัญญาชนจำนวนมากที่หันมาสนใจศาสนาในยุคนั้น คุณหมอเล่าย้อนกลับไปช่วงนั้นว่า

“ชีวิตในรั้วมหาลัย ผมยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องการเรียนและการสอบ เมื่อมีเวลาว่าง ก็จะหาความสนุกตามประสาวัยรุ่น เที่ยว เล่นกีฬา และทำกิจกรรม ผมได้สมัครเข้าชมรมต่างๆมากมาย แต่ชมรมที่มีบทบาทเปลี่ยนแปลงชีวิตผม ปลุกผมจากการหลับฝัน เวียนวนกับวงจรชีวิตแบบเดิมๆ นั่นก็คือ ชมรมพุทธศาสตร์

“ผมสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่สุขสงบและเย็นสบาย ความรู้สึกตอนนั้นมันดีมาก จนเกิดเหตุการณ์ครั้งที่เป็นการกระตุกผมให้ตื่นขึ้นอย่างแรงนั่นคือ การได้ทำกิจกรรมช่วงปีใหม่กับชมรมพุทธฯ ที่สวนโมกข์ฯ

“ในครั้งนั้น ผมได้สัมผัสพลังธรรมชาติ ความเงียบสงบ เรียบง่าย และเนิบช้า เหมือนเป็นการกระตุ้นพลังงานบางอย่างในตัวผมให้ตื่นตัวขึ้นอย่างน่าประหลาด ผมได้มีโอกาสฟังธรรมจากท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านพระอาจารย์ที่โรงปั้น และที่โรงมหรสพทางวิญญาณ ได้มีโอกาสทำวัตรเช้า ใส่บาตร นั่งสมาธิ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่น่าประทับใจอย่างยิ่ง หลังกลับจากสวนโมกข์ฯ ผมก็เริ่มสนใจพุทธศาสนาอย่างจริงจังนับแต่นั้นเป็นต้นมา”

เริ่มเดินทางภายใน

 ผมเริ่มอ่านหนังสือท่านอาจารย์พุทธทาส ซึ่งยอมรับว่าเนื้อหายากและผมมีความเข้าใจน้อยมาก แต่ก็พยายามอ่านไปเรื่อยๆ หนังสือธรรมะอื่นที่พอหาได้ ผมก็จะนำมาศึกษา เคยซื้อหนังสือฝึกสมาธิมาลองฝึกเอง ผมคาดหวังเพียงฝึกให้มีความจำดี เรียนเก่ง แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องล้มเลิกการนั่งสมาธิไป

นอกจากการอ่านหนังสือธรรมะแล้ว ผมยังชอบฟังเทปธรรมะของพระอาจารย์พยอม วัดสวนแก้วมาก ท่านเทศน์สนุก เข้าใจง่าย เทปที่ผมชอบฟังมากในตอนนั้นคือ สามเณรใจสิงห์

หลังจบจากเป็นแพทย์ใช้ทุน มาเป็นแพทย์ประจำบ้านที่วชิรพยาบาล การศึกษาความรู้ในพุทธศาสนาของผมก็เริ่มเข้มข้นมากขึ้น อาจารย์แพทย์หลายท่านที่วชิพยาบาลมีความสนใจศึกษาธรรมะมาก ผมได้รับคำแนะนำมากมายจากท่าน มีการบรรยายธรรมะในโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งการฝึกนั่งสมาธิของชมรมพุทธฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมมักเข้าร่วมอยู่เสมอ

มีอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งแนะให้ผมอ่านหนังสือ “พุทธธรรม” (ป.อ. ปยุตฺโต) ผมหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านเริ่มจากเล่มเล็ก อ่านแล้วชอบมาก เลยไปหาเล่มใหญ่ฉบับขยายความมาอ่านเพิ่ม ผมเกิดความเข้าใจและซาบซึ้งในเนื้อธรรมะ จนต้องขีดเส้นใต้เนื้อหาสำคัญ รวมทั้งทำสมุดโน้ตย่อเนื้อหาทั้งหมด นับได้ว่าที่คือจุดที่กระตุกความสนใจศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาให้พุ่งขึ้นแรงอีกครั้ง

 หลังจากนั้นผมก็เริ่มเป็น “นักช้อปปิ้งธรรมะ” ชอบเดินเข้าร้านหนังสือเเล้วตรงดิ่งไปที่หมวดศาสนาทันที  ผมได้ไปตระเวนแหล่งความรู้ต่างๆ เช่น สถาบันธรรมศึกษาทั้ง มหามกุฏฯ มหาจุฬาฯ และวัดชื่อดังต่างๆ ที่มีการสอนธรรมะ ผมได้เก็บรวบรวมหนังสือและเทปเสียงบรรยายธรรมไว้มากมาย กะว่าจะตะลุย อ่าน ฟัง ทำความเข้าใจ และจดบันทึก ให้เหมือนกับการเรียนแพทย์

การเดินทางที่เข้มข้นขึ้น

ความคลั่งไคล้ความรู้ในพุทธศาสนาเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ผมเริ่มตะเวนหาความรู้ไปตามวัดที่มีการสอนธรรมะ เช่น วัดมหาธาตุ วัดบวรฯ วัดชลประธานฯ วัดสวนแก้ว วัดบูรณะศิริฯ วัดธาตุทอง โดยที่วัดธาตุทองนี้ ผมได้ไปศึกษาพระอภิธรรมจากท่านอาจารย์ นพ.เชวง เดชะไกศยะ เข้าใจยากมากๆ แต่ท่านอาจารย์บอกให้ “เรียนเอาบุญ” ผมก็พยายามเรียนแบบท่องจำไว้ก่อน เผื่อว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจขึ้นได้ในภายหลัง

ระหว่างที่ผมช้อปปิ้งธรรมะ ผมเกิดความสนใจใคร่อยากศึกษาหาความรู้ในพระไตรปิฎก ได้ติดตามพระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถาฉบับสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จากมหามกุฏฯ ว่ามีครบเล่มแล้วหรือยัง รอจนกระทั่งได้ครบสมบูรณ์ มีทั้งหมด 91 เล่ม ราคาหมื่นกว่าบาท มากกว่าเงินเดือนทั้งเดือน

ผมต้องขอรถแวนคุณพ่อเพื่อไปรับหนังสือทั้งหมดใส่กล่องนำกลับมาบ้าน พร้อมทั้งวานให้คนงานช่วยต่อชั้นเหล็กเพื่อวางหนังสือพระไตรปิฎกที่ได้มาทั้งหมด ผมภูมิใจมาก รู้สึกดีใจที่จะได้ศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้อย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ต้องนำไปถวายวัด เนื่องจากเกินกำลังสติปัญญาและความสามารถในการศึกษา ถึงตอนนี้ความสนใจก็ยังคงอยู่ แต่ลดเหลือเพียงพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชนเท่านั้น

ความสนใจใคร่รู้ในธรรมนี้นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากความรู้ด้านพุทธศาสตร์แล้ว คุณหมอคิมยังเรียนรู้ศาสนาอื่นไปพร้อมกันด้วย ถึงกับซื้อหนังสือศาสนาเปรียบเทียบมาศึกษาด้วยตนเองหลายเล่ม แต่ละเล่มช่วยเปิดมุมมองสร้างความเข้าใจที่มีต่อศาสนาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น  

หากไม่ใช่เพราะโรคประจำตัวกำเริบอย่างหนัก คุณหมอคงไม่มีโอกาสตระหนักถึงคำของครูอาจารย์ที่ว่า ต้องเริ่มจากการปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงค้นหาเอาจากภายนอก แต่เป็นการกลับเข้ามาภายใน กลับมาเชื่อมต่อกับร่างกายและจิตใจของเรา แสงแห่งการตื่นรู้จึงถูกจุดขึ้น

แสงที่ถูกจุดขึ้น

ไม่มีครั้งไหนเลยที่แสงจะถูกจุดขึ้นจากความสุข แสงแห่งธรรมทุกแสงล้วนถูกจุดขึ้นผ่านความทุกข์ทั้งสิ้น เมื่อนั้นวงแห่งสังสารวัฏจึงคลายออก

 “เมื่อศึกษาความรู้ในหลักธรรมเพิ่มมากขึ้น ภูมิธรรมดูเหมือนสูงขึ้น ความร้อนวิชาก็มีมากขึ้นตามมา ผมเริ่มพูดคุยสนทนาธรรม เริ่มถกเถียงโต้แย้ง รวมทั้งเริ่มสอนธรรมะเมื่อมีโอกาส ผมทำไปโดยไม่รู้ตัวเลยว่า การศึกษาหลักธรรมอย่างจริงจัง กอปรกับการทำงานอย่างหนัก ยิ่งทำให้ผมเครียดมากขึ้น

“ความโลภในความรู้ ความโกรธในการถกเถียง ความหลงที่เรียกว่าความมัว(เมา)หรือมั่ว คอยวนเวียนเกิดขึ้นในใจผมตลอด

“และแล้วสิ่งที่มากระตุกผมอีกรอบหนึ่งก็คือ การป่วยอย่างหนักด้วยอาการปวดท้องที่เป็นเรื้อรังมานาน 20 ปี นั่นคือจุดเปลี่ยนของชีวิตอีกครั้ง”

“ช่วงเวลา 7 วันความคิดต่างๆประดังเข้ามา ทั้งความวิตกกังวล ความกลัว ความหดหู่ ถ้าผลชิ้นเนื้อออกมาเป็นเนื้อร้าย(มะเร็ง) ผมจะทำอย่างไรดี”

ตามความเป็นจริง

ไม่น่าเชื่อว่าคุณหมอที่คอยรักษาคนไข้ให้หายจากโรค จะมีโรคประจำตัวซึ่งเป็นมาตั้งแต่ชั้น ม.ศ.1 คืออาการปวดท้องเป็นๆหายๆ จากแรกเริ่มที่คุณหมอตรวจพบว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ กินยาน้ำสีขาวรสเฝื่อนแล้วก็หาย พอสอบเข้าเป็นนักเรียนแพทย์ โรคเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ต้องเข้าตรวจแบบพิเศษด้วยการกลืนแป้งรังสี เมื่อดูผลจากภาพถ่ายก็เห็นแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นชัดเจน อาจารย์แพทย์เริ่มให้ยาเม็ดมาทาน แม้อาการจะดีขึ้น แต่ก็ไม่เคยหายขาด

“อาการปวดท้องอยู่กับผม ตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ แพทย์ฝึกหัด แพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำโรงพยาบาล จนผมเคยชินและไม่ได้ไปสนใจมันอีก ต่อมาไม่นานอาการปวดท้องกำเริบหนัก คราวนี้กินยาเเบบเดิมเท่าไหร่ ก็ไม่ดีขึ้น

 “ผมไปปรึกษาอาจารย์แพทย์ระบบทางเดินอาหาร ทำงานที่เดียวกัน ท่านได้ทำการส่องกล้องผ่านทางปากเข้าไปดูกระเพาะและลำไส้ คราวนี้เห็นเป็นภาพชัดเจนของแผลขนาดใหญ่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น พร้อมมีพังพืดขึ้นคลุมรอบแผลเป็นบริเวณกว้าง ท่านอาจารย์ได้ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ให้ยามาทาน และนัดผมอีก 7 วันให้ไปฟังผล

“ช่วงเวลา 7 วันความคิดต่างๆประดังเข้ามา ทั้งความวิตกกังวล ความกลัว ความหดหู่ ถ้าผลชิ้นเนื้อออกมาเป็นเนื้อร้าย(มะเร็ง) ผมจะทำอย่างไรดี ผมเพิ่งมีครอบครัว ลูกก็ยังเล็กมาก ความคิดปรุงแต่งเรื่องร้ายต่างๆเกิดขึ้นในหัวผมตลอด”

โชคดีที่ผลตรวจออกมาว่าเป็นการอักเสบเรื้อรัง แต่การเจ็บป่วยครั้งนั้นจุดประกายให้คุณหมอคิมเริ่มตั้งคำถามที่ไม่เคยได้ถามตัวเองมาก่อน กระทั่งนำพาให้ค้นพบเส้นทางใหม่ในชีวิต

“ผมปวดท้องมาร่วม 20 ปี ความรู้ทางการแพทย์ที่ร่ำเรียนมา รวมทั้งการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งหมดนี้ไม่ช่วยให้หายจากอาการปวดท้องได้เลย และอาจรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นลำไส้อุดตันต้องผ่าตัดเพื่อเอาพังผืดดออก ผมเริ่มตั้งคำถาม อะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุ

“มองย้อนกลับเข้าไปในชีวิตตัวเอง ทบทวนพฤติกรรมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พิจารณาตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า ต้นตอน่าจะเกิดจาก “ความเครียด” นั่นเอง เป็นความเครียดที่ผมอยู่กับมันมานาน แต่ไม่เคยใส่ใจ เรียกว่าเครียดโดยไม่รู้ตัว มันบ่อนทำลายร่างกายผมมาโดยตลอด

“หลังจากได้คิดทบทวน ผมเริ่มวางแผนหาช่องทางตีฝ่าวงล้อมหนีเจ้าความเครียดออกมาหลายวิธีการ เริ่มตั้งแต่เปลี่ยนที่ทำงาน ศึกษาศาสตร์การแพทย์ทางเลือกต่างๆ ที่ไม่เคยได้ร่ำเรียนมาก่อน แล้วนำมาทดลองฝึกปฏิบัติด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ธรรมชาติบำบัด การปรับเรื่องโภชนาการ การออกกำลังกาย การฝึกโยคะ ชี่กง การสะกดจิต การทำจิตบำบัด การเข้ากรรมฐาน การล้างพิษกายใจ และอื่นๆ

“การฝึกฝนศาสตร์ทางเลือกต่างๆนี้ ช่วยให้สุขภาพผมดีขึ้น ทั้งร่างกายและจิตใจ ผมเริ่มเข้าใจการทำงานที่เชื่อมโยงระหว่าง จิต-สมอง-กาย ผมมีความรู้สึกที่ดีกับตัวเอง ความเครียดลดลงไปมาก และที่สำคัญ อาการปวดท้องที่ผมเป็นมาร่วม 20 ปีนั้นได้หายไป โดยที่ผมไม่ต้องกินยามากว่า 20 ปี”

เข้าถึงหนึ่งเดียวกัน

ชีวิตของผมดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น ผมเข้าใจโลก เข้าใจชีวิตมากขึ้น มองเห็นความเชื่อมโยงของชีวิตภายในตัวเอง อันได้แก่การเชื่อมโยงของจิต สมอง และการทำงานของร่างกาย ทั้งในรูปแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์แบบสสารดั้งเดิม และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่แบบพลังงาน

เห็นถึงความสัมพันธ์ของศาสตร์ต่างๆที่ร่ำเรียนศึกษามา ทั้งศาสตร์การแพทย์เทคโนโลยีตะวันตก ศาสตร์การแพทย์ในแขนงอื่นๆ เช่น การแพทย์แผนไทย จีน อายุรเวช การออกกำลังกาย การปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธ การใช้ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด การเจริญภาวนาด้วยศาสตร์แห่งโยคะ ชี่กง และจิตวิทยาที่นำมาใช้บำบัดในสายต่างๆ

การเห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ ทำให้ผมรู้สึกโปร่ง โล่ง เบา สบาย ผมเหลือแต่เพียงการให้เวลาในการฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝน มีสติ จดจ่อ ตั้งมั่น อยู่กับการกระทำที่อยู่ตรงหน้า รับรู้ ยอมรับต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นเช่นนั้นของมันเอง เหมือนเห็นสมการชีวิต ที่ผมเริ่มเข้าใจวิธีการถอดสมการแล้ว เหลือแต่พากเพียรลงมือทำอย่างต่อเนื่องเท่านั้น

ทุกวันนี้ผมยังคงเฝ้ามองโลกภายในตัวเอง ขึ้นๆลงๆ เหมือนคลื่นในทะเล บางวันก็ดูดีเสียเหลือเกิน บางวันต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ แต่แปลก ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมจะตำหนิและโทษตัวเองอย่างมากที่ไม่ก้าวหน้า เหมือนเรียนตกซ้ำชั้น แต่คราวนี้ผมยอมรับได้ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ เท่าไหร่ก็เท่านั้น ผมอยู่กับมันได้ ยอมรับมันได้ ผมศิโรราบให้กับธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าแล้ว

ความหมายแห่งการตื่นรู้

“การตื่นรู้ช่วยให้ชีวิตผมโปร่งเบา สบาย และวางใจได้มากขึ้น ผมสัมผัสได้ถึงความสุขที่ละเอียด และสงบเย็นขึ้น ผมให้การยอมรับกับสิ่งที่เกิดได้มากขึ้น ผมขัดแย้งหรือทะเลาะกับตัวเองน้อยลง รักและเมตตาตัวเองมากขึ้น”

หมอคิมให้ความหมายของการตื่นรู้ต่อชีวิตตัวเองเหมือนความสงบเย็นที่คุณหมอได้สัมผัสนับแต่ครั้งแรกที่ได้ไปเยือนสวนโมกข์ฯ นี่กระมังที่คล้ายเป็นจุดสิ้นสุดของการเดินทางภายในของคุณหมอ มันคือการตามหาสวนโมกข์ฯที่อยู่ในใจนั่นเอง ไม่ใช่ตำราธรรม เทปธรรมะ หรือความรู้ทางธรรมที่รับมาจากภายนอกถ่ายเดียว ในที่สุดคุณหมอคิมก็ได้ค้นพบธรรมะที่ตามหามานานกว่าครึ่งชีวิต นั่นคือ

“การได้เห็นความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงภายในตัวเอง อันได้แก่ จิต-สมอง-กาย ได้เห็นความสัมพันธ์ เชื่อมโยงของชีวิตตัวเองกับสิ่งแวดล้อมภายนอก การมีผลกระทบซึ่งกันและกัน การเห็นและเข้าใจโลกตามความเป็นจริงที่เป็นไปตามเหตุและปัจจัย รวมถึงเห็นเป็นจริงตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวตน”

 คุณหมอยังอธิบายระดับการเข้าถึงความจริงโดยเปรียบเทียบกับความมืดที่หายไป เมื่อแสงแห่งการตื่นรู้ถูกจุดให้สว่างขึ้น

“การตื่นรู้ หรือการเข้าถึงความจริง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในนั้น จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อความไม่รู้หายไป และความรู้ตามความเป็นจริงปรากฏขึ้นมา เปรียบเสมือนความมืดหายไป เมื่อแสงสว่างปรากฏขึ้น

“การตื่นรู้จนเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในได้ ก็คือการที่บุคคลคนนั้น เริ่มปรากฏแสงสว่างเกิดขึ้นในดวงตาของเขา สามารถเอาชนะความมืดได้ จนสามารถมองเห็นทางที่อยู่ตรงหน้า เพื่อที่จะก้าวเดินออกไปได้อย่างถูกต้อง

“แต่เนื่องจากดีกรีหรือความเข้มของการตื่นและการหลับของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นระดับการเข้าถึงความจริงของแต่ละบุคคลนั้นย่อมแตกต่างกัน หรือแม้แต่ในคนๆเดียวกันนั้น ในบางสภาวะบางเวลา ก็ยังเข้าถึงระดับของการตื่นรู้ หรือเข้าถึงความจริงได้ไม่คงที่ เปรียบเสมือนความเข้มของความมืด และแสงสว่างที่แปรเปลี่ยน ซึ่งส่งผลต่อความสว่าง หรือการมองเห็นที่แตกต่างกันออกไป”

หลุมพรางใจ

มนุษย์มักตกหลุมความสำเร็จ เงินทอง และติดอยู่ในโลกแห่งวัตถุ นั่นเป็นหลุมพรางภายนอก แต่หลุมที่ลึกกว่านั้น ซึ่งเรามักไม่รู้ว่า ได้มานั่งอยู่ก้นหลุมนานแล้ว คือหลุมพรางภายใน 

“ความติดยึดในองค์ความรู้ของศาสตร์ภายในที่ร่ำเรียนฝึกฝนมา ความพึงพอใจกับคำชื่นชม การสรรเสริญ การยอมรับ รวมทั้งความมีอคติกับศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง จนทำให้ไม่เห็นความเชื่อมโยงกับศาสตร์และความจริงอื่น”

หมอคิมแบ่งหลุมพรางชีวิตออกเป็นสองส่วนคือหลุมจากภายนอกและหลุมที่เกิดจากอัตตาตัวตนภายใน หากต้องการข้ามหลุมทั้งสองนี้ไปให้ได้ ก็ต้องเริ่มจากการเข้าใจตัวเองและชัดเจนกับเป้าหมายในชีวิต

“ผมทำความเข้าใจตัวเองให้กระจ่าง ด้วยการตั้งคำถามว่า ชีวิตนี้ต้องการอะไร คำตอบที่ผมให้กับตัวเองคือ “ชีวิตที่มีดุลยภาพ” ปรารถนาความสมบูรณ์สอดคล้องอย่างองค์รวมให้กับชีวิต ไม่เทไปด้านใดด้านหนึ่ง จนด้านอื่นต้องขาดหายไป รวมทั้งทำการสื่อสารพูดคุยทำความเข้าใจกับคนใกล้ชิดภายนอก เพื่อให้เขาทราบถึงคุณค่าและเป้าหมายที่เป็นตัวเราที่แท้จริง”

ตรงข้าม หากไม่เคยเข้าถึงการตื่นรู้ตามความเป็นจริง ชีวิตวันนี้จะเป็นอย่างไร คุณหมอให้คำตอบว่า

“ผมคงมีพฤติกรรมแบบเดิมๆ คงมีความเชื่อมั่นในตัวเอง คงถูกสิ่งเร้าภายนอกกระตุ้น และวิ่งไล่ตามสิ่งเร้าเหล่านั้น ความสงสัยคงเกิดขึ้นกับผมมากมาย ทั้งสงสัยในตัวเอง สงสัยผู้อื่น รวมทั้งบริบทสิ่งแวดล้อม ผมคงทะเลาะกับตัวเอง ทะเลาะกับผู้อื่นบ่อย ผมคงร้อนรน มีความหนักใจ และมีความทุกข์ใจ ความเจ็บทางกายคงมาเยือนผมเป็นระยะๆ”

ไปด้วยกัน Oneness

ท้ายที่สุดแล้วฝันเล็กๆของคุณหมอคือ การได้เห็นมิติความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง เชื่อมโยงคนทุกคนให้เติบโตตื่นไปพร้อมกัน

“ต้องเป็นก้าวเล็กๆ ที่ร่วมกันเดินหลายๆก้าว หลายๆคน และเดินก้าวต่อไปเรื่อยๆ ไม่หยุด หรือหยุดเพียงแค่พักหายเหนื่อยชั่วคราวแล้วเดินต่อ

“ก้าวเล็กๆเหล่านั้น คือ ใกล้ชิด สัมพันธ์ พูดคุย ฟังกันและกันอย่างลึกซึ้ง แล้วสิ่งที่จะเกิดตามมาคือ ความเข้าใจ เข้าใจซึ่งกันและกัน เกิดเป็นความรัก ความเมตตากรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้อภัยกัน เรียนรู้ร่วมกัน สุดท้ายคือ เราจะเติบโตไปด้วยกัน”