ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา วัย 40 ปี ศิลปินอิสระสร้างสรรค์งานศาสนศิลป์ร่วมสมัย, อาจารย์พิเศษคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ และคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผู้แปล เพลงรักทะไลลามะ และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Zen Smile Zen Wisdom วาดการ์ตูนเซนด้วยลายเส้นเรียบง่ายแต่มีเนื้อหากระตุกเตือนและชวนให้ตั้งคำถาม
แม้เขาจะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นอาจารย์ และผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์ด้านศาสนาในวัฒนธรรมต่างๆ ศุภโชคบอกว่า เขาเป็นเพียงผู้ที่สนใจและใช้งานศิลปะฝึกและทบทวนตัวเองเท่านั้น
“ผมไม่มีประสบการณ์ ‘ขณะพิเศษแห่งการตื่นรู้’ เพราะมันไม่ได้แยกขาดจากทุกวินาทีสามัญของชีวิต สำหรับผม ประสบการณ์เรื่องนี้ค่อยๆ แปรเปลี่ยนทีละเล็กน้อย”

คุณให้ความหมายของการ ‘ตื่นรู้’ ว่าอย่างไร?
การตื่นรู้คือการรู้ความจริงของชีวิต ไม่ว่าจะ ‘รู้ในความรู้’ และโดยเฉพาะ ‘รู้ในความไม่รู้’ เมื่อการตื่นรู้คือการรู้ความจริง ความสำคัญของมันจึงเป็นการทำให้เรา ‘ยอมรับความจริง’ เราตื่นรู้เพื่อที่เราจะยอมรับชีวิตในทุกแง่มุมอันเป็นจริงได้
การยอมรับความจริง มีผลต่อการใช้ชีวิตเราอย่างไร
เมื่อยอมรับความจริงได้ เราก็จะดำเนินชีวิตได้อย่างสอดประสานกับความจริง เป็นความเข้าใจในระดับที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในได้ทุกสถานการณ์ชีวิต ทำให้ทุกข์น้อยลง
ถ้าคุณไม่มีวิธีคิดแบบนี้?
อาจทุกข์กว่านี้

หลายคนคิดว่า การตื่นรู้ หรือในความหมายของคุณคือ ‘การยอมรับความจริง’ เป็นสิ่งที่ทำและเกิดได้ยาก
คนทั่วไปอาจไม่เคยกังวลว่ายากหรือง่ายเพราะเขาไม่สนใจมัน
คนที่ปรารถนามันจะติดกับแห่งความปรารถนา
ตัวมันเองไม่ได้เป็นสิ่งพิเศษเหนือธรรมดาสามัญ
ยากหรือง่ายเป็นปัญหาของใคร?
อุปสรรคสำคัญบนทางสู่การตื่นรู้ คือความอยากที่จะตื่นรู้ ซึ่งก้าวผ่านได้ด้วยการ ‘แค่ปฏิบัติ’ อย่างเป็นธรรมชาติ
ถ้าในระดับบุคคล การตื่นรู้ทำให้ยอมรับความจริงได้ แล้วในระดับสังคม คุณคิดว่าการตื่นรู้จะทำให้เกิดบรรยากาศแบบไหน
ทำให้เรา (สังคม) ยอมรับและเผชิญกับความจริงได้

อยากฝากอะไรถึงผู้อ่าน
อุปสรรคสำคัญบนทางสู่การตื่นรู้ คือความอยากที่จะตื่นรู้ ซึ่งก้าวผ่านได้ด้วยการ ‘แค่ปฏิบัติ’ อย่างเป็นธรรมชาติ