จากนักเรียนเก่าโรงเรียนรุ่งอรุณและศึกษาต่อในทางบริหารธุรกิจ เอกฤทธิ์ เอกสมิทธ์ หรือ เจ ได้รับหน้าที่ดูแลธุรกิจของที่บ้านต่อจากคุณพ่อและคุณแม่ ในฐานะ CEO ของบริษัท LOVE Leasing
สำหรับชายหนุ่มที่ยังอายุไม่มาก แต่ต้องดูแลธุรกิจมูลค่าหลายร้อยล้านบาท จึงนับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งไปกว่านั้น แม้เขาจะเป็นหนึ่งในคนที่อายุน้อยที่สุดสำหรับผู้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้และการเติบโตทางจิตวิญญาณในหนังสือเล่มนี้ แต่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าคุณค่าและประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับนั้นไม่ได้น้อยไปตามอายุของเขาเลย
ประสบการณ์เปลี่ยนชีวิต
ว่ากันว่า ฟ้าจะมืดมิดที่สุด ก่อนจะเริ่มสว่าง
ผมไม่สามารถระบุได้ว่า จุดเริ่มต้นของการตื่น คือวันไหน รู้แต่เพียงว่ามันซ่อนตัวอยู่ในช่วงปีที่มืดมิดที่สุดในชีวิตผม
เส้นทางสู่การเติบโตภายในของผมค่อยๆ ก่อตัวชัดเจนขึ้น ช่วงปี 2557 ประมาณ 3 ปีหลังจากเข้ามารับภารกิจในการพลิกฟื้นบริษัท เป็นช่วงเวลาที่อาจพูดได้ว่าทุกข์ใจมากที่สุดในชีวิต ขณะนั้น ผมยังไม่เฉลียวใจว่าสถานการณ์ที่ไม่ดีนั้นกำลังจะนำให้ผมได้พบกับชีวิตที่ 2 ของตัวเอง
เมื่อต้องเข้ามาทำงานในบริษัทที่กำลังประสบภาวะขาดทุนมายาวนาน มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ ผู้คนหวาดกลัวและโกรธกันและกัน ทั้งบริษัทเต็มไปด้วยการคดโกง คนดีที่ยังมีอยู่ไม่กล้าขึ้นมามีบทบาท คนทุศีล คนพาลพบเห็นได้ในทุกๆ ที่
รู้ตัวอีกที ผมก็เป็นหนุ่มขี้เหล้าเมายาวัย 28 ปีไปแล้ว ผมเห็นตัวเองใช้ชีวิตในแบบที่ตัวผมเองก็ยังไม่อยากเชื่อ ทุกครั้งที่เห็นตัวเองในกระจก ผมเกลียดตัวเอง แต่ผมก็ไม่สามารถบังคับตัวเองให้มีพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้
ผมดื่มเหล้าเกือบทุกวัน มีเพียง 5 วันจาก 365 วันที่ไม่ได้ดื่ม เหตุผลก็คือ ไม่สบายกินไม่ไหว ผมสูบบุหรี่วันละ 2 ซอง ผมมองการพนันเป็นสิ่งที่ทำให้หนีจากชีวิตได้ชั่วคราวไปสู่โลกของฟุตบอล ผมไม่ค่อยกลับบ้าน และมีเรื่องแย่ๆ อีกมากที่ผมคงไม่อยากพูดถึง
ผมถามตัวเองในบ่ายวันหนึ่งที่ตื่นขึ้นมา เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไงเนี่ย ผมเจอตัวเองอยู่ในสถานที่ปาร์ตี้ที่มีสาวสวยนอนอยู่เกลื่อนห้องไปหมด ผมจุดบุหรี่สูบและคิดต่อไป “บริษัทที่เราดูแลกำลังจะเจ๊ง และเราก็มาอยู่ที่นี่ในเวลางานของวันจันทร์” ทันใดนั้น มีเสียงหนึ่งดังแทรกเข้ามา “ก็ถูกต้องแล้วนี่ จริงๆ แกไม่ควรต้องมาเจอเรื่องแบบนี้เลย ก็ไม่น่าแปลกที่จะเป็นแบบนี้ แกแค่ต้องคลายเครียดบ้าง”
เสียงของตัวผมเองอีกคนหนึ่งนั่นเอง
นั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่ คน 2 คนในตัวผมเริ่มเถียงกัน ผมเดาว่านั่นแหละคือจุดเริ่มต้น
การโต้แย้งนั้นยังคงดำเนินต่อไปวันแล้ววันเล่า บางทีติดต่อกันหลายวัน บางทีก็เงียบหายไปหลายวัน ผมต้องออกจากบ้านทุกครั้ง เพื่อไปที่ๆ มีเสียงดังและมีผู้คนมากมาย เพราะผมแค่ไม่อยากได้ยินเจ้า 2 คนนั้นเถียงกัน
แน่นอนแม้ว่าเราจะช่วยเจ้าตัวคิดดีแล้ว แต่เจ้าตัวคิดชั่วดูจะมีพลังอำนาจที่ทรงพลังกว่า หลายครั้งเรารู้ตัวอีกทีเราก็กำลังทำตามการชักจูงของมันไป (เช่นรู้ตัวอีกทีก็อยู่ระหว่างทางเพื่อไปกินเหล้าแล้ว ทั้งๆ ที่เมื่อเช้าตั้งใจว่าวันนี้จะไม่กิน)
แล้วจู่ๆ ตาก็ไปเห็นคำของไอน์สไตน์โดยบังเอิญใน Social media เขียนว่า
“Insanity: Doing the same thing over and over again and expecting different results” (ความบ้า คือ การทำสิ่งเดิมซ้ำๆ แต่หวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง)
ผมอุทานในใจดังมาก
“เฮ้ย…XXXX…นี่มันผมเลยนี่หว่า”
วันนั้นผมเอาประโยคนี้ออกจากหัวไม่ได้ ชนิดที่ว่าขนาดกินเหล้าจนเมาก็ยังคิดถึงคำพูดนี้
นอนก็ยังฝันถึงมัน หลายวันต่อมาผมวนเวียนคิดเรื่องนี้
ผมพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมา
“เราด่าทุกๆ คน ทั้งลูกน้องที่ไม่ตั้งใจทำงาน เราด่าผู้บริหารที่ไม่รวมใจกันพลิกฟื้นบริษัท เราด่าเจ้านายที่เมตตาเกินเหตุจนบริษัทเป็นเช่นนี้ เราด่าระบบธนาคารและระบบอำมาตย์ที่เอาเปรียบประชาชน เราด่าไปยันรัฐบาลที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ดี ไม่ช่วยเหลือ แถมยังมาซ้ำเติมโดยการเก็บภาษี ไม่เห็นเหรอว่าบริษัทฉันจะเจ๊งอยู่แล้ว เราด่าไปยันโลกว่าโลกนี้มันมีแต่สิ่งเลวร้าย มีแต่คนชอบเอาเปรียบ เราด่าทุกคนว่าเป็นต้นเหตุของผลลัพธ์ที่ไม่ดีของเรา… แต่เราเองก็ยังกินเหล้าถึงเช้าเหมือนเดิมทุกวัน”
ผมเริ่มตลกตัวเองแบบเศร้าๆ แล้วคิดต่อไปว่า
“ดูเหมือนว่าเราจะโทษสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ 100% (ลูกน้อง) และสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้เลย (รัฐบาล) …แต่ ‘สิ่งเดียวที่เรามีอำนาจควบคุมมัน100%’ (ความคิด/การกระทำของเรา) เรากลับไม่เคยควบคุมมัน!
“เฮ้ย! คิดไปแล้วก็เหวอนะ สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้ 100% เราไม่ควบคุม ในขณะที่สิ่งที่เราควบคุมได้บ้างหรือไม่ได้เลย เรากลับพยายามไปควบคุมมัน ไปคิดวนเวียนกับมันอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง
“ถ้าทุกอย่างเหมือนเดิมเป๊ะ คือ รัฐบาลเดิม ลูกน้องเดิม บริษัทเดิม โลกใบเดิม… แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเดียว คือ คนที่กำลังคิดอยู่นี้ไม่ใช่ นายเอกฤทธิ์ แต่เป็นคนอย่างเช่น… สมมติว่า วอเรน บัฟเฟต เขาจะสามารถสร้างความแตกต่างอะไรได้ไหม เขาจะพลิกบริษัทนี้ได้ไหมนะ น่าจะได้ งั้นทำไมเราไม่ลองเอาวิธีคิดเขามาเลย ได้สัก10% ก็ยังดี… เออไอเดียดี ไหนๆ ก็เป็นสิ่งเดียวที่เราควบคุมมันได้ 100% อยู่แล้วนี่”
แม้จะฝืนตัวเองอย่างมาก ผมใช้เวลาถึง 7 วันกว่าจะพาตัวผมออกจากกิจวัตรประจำวันที่เคยชิน (ทำงานเครียด->ทำงานกินเหล้า->ทำงานเครียด->กินเหล้า->เครียด->กินเหล้า) เพื่อไปร้านหนังสือและซื้อมันได้
เมื่อคุณเข้าสู่โลกของหนังสือ แม้จะแค่เริ่มๆ มันจะมีพลังอำนาจบางอย่างที่ให้คุณเจอเล่มถัดไปและถัดไปและถัดไป หนังสือชุดแรกๆ ที่เปิดโลกผมและทำให้รู้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเขาก็ผ่านช่วงเวลาที่ไม่ง่ายมาเหมือนกัน ใช่ว่าเขาเกิดมารวยทันที ส่วนใหญ่ลำบากกว่าเราด้วยซ้ำ
ไม่ว่าจะ Pour Your Hearth Into It และ Onward ที่ทำให้ผมได้รู้จักกับโฮเวิร์ด ชูลซ์ (Starbucks) หรือ Made in America ที่ทำแนะนำให้ผู้รู้จัก แซม วอลตัน (Walmart) หรือ ภาพยนตร์เรื่อง The Secret ที่นำผมไปรู้จักชีวิตของ โอปรา วินฟรี่ย์ นักจัดรายการทีวีหญิงผิวดำ ผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกา และ Snowball ที่พาผมไปเข้าใจวิธีคิดของ วอเรน บัฟเฟต
ช่วงแรกผมไม่สามารถสร้างนิสัยการอ่านได้ง่ายนัก และช่วงเวลาแห่งการดื่มสูบเสพ ยังมากกว่าช่วงเวลาแห่งการศึกษามากนัก แต่ผมก็พยายามระลึกถึงคำของไอน์สไตน์ทุกครั้งที่เหมือนเริ่มกลับไปเดินในร่องเก่า
“ถ้าเราไม่อยากเป็นคนบ้า เราต้องทำให้อะไรใหม่ๆ จะทำอะไรแบบเก่าๆ ซ้ำๆ ไม่ได้”
ถึงจุดหนึ่งผมก็เริ่มหันมาเข้าฟิตเนสเพื่อทำตัวเองให้เหนื่อย และลดเวลาในวงเหล้า
เล่มหนึ่งนำไปสู่อีกเล่มหนึ่ง ยูทูปหนึ่งนำไปสู่ยูทูปอีกอันหนึ่ง กิโลหนึ่งไปสู่กิโลหนึ่ง รู้ตัวอีกทีผมก็กินเหล้าเหลืออาทิตย์ละ 3 วันแล้ว น้ำหนักก็ลดมา10 กิโลกรัม อ่านหนังสือมาเกือบ 10 เล่ม
หากมองย้อนไปนอกเหนือจากเล่มที่กล่าวไปแล้ว ผมคิดว่าเล่มที่มี Positive Impact กับผมเยอะมาก คือ 7 Habits of Highly Effective People [Stephen Covey], Think and Grow Rich [Napoleon Hill], The Magic [Rhonda Byrne], Awaken the Giant Within [Anthony Robbins], Rich Dad Poor Dad [Robert Kiyosaki], Good to Great [Jim Collins], Dream Big [Cristiane Correa] และ ภาพยนตร์สารคดี Where to Invade Next เป็นสารคดีที่ให้แรงบันดาลใจที่สุด ผมแนะนำมากๆๆ ครับ เนื้อหาคือพาไปดูแนวคิดดีมากๆ อย่างโดดเด่นของ 9 ประเทศ ผู้สร้าง คือ Michael Moore เป็นต้น
ส่วนถ้าพูดถึงอาจารย์คนไทยที่ทำให้ผมฉลาดขึ้นเยอะมากก็คือ อาจารย์บุญชัย โกศลธนากุล ผู้เขียนหนังสือจริต 6 ที่ท่านจัดรายการ CEO Vision ช่วง New Dimension ที่ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ ซึ่งอาจารย์จะสรุปหนังสือเจ๋งๆ มาให้และอธิบายแบบเข้าใจง่ายมากจนผมเหมาซีดีรายการย้อนหลังมาฟังอย่างเอาเป็นเอาตาย ได้ไอเดียเยอะมาก
นอกจากนี้อาจารย์ที่ผมฟังเยอะและยังรู้สึกสำนึกรู้คุณท่านเป็นอย่างมาก ได้แก่ อาจารย์บัณฑิต อึ้งรังษี, อาจารย์วรภัทร ภู่เจริญ
จริงๆ ยังมีอีกมากที่ผมคิดว่ามันมันประโยชน์มาก ซึ่งถ้าให้ร่ายก็คงได้อีกยาว แต่มันมีคำนึงที่นักปราชญ์ของโลกจะสอนเหมือนกันหมด และผมคิดว่าสำคัญกว่าลิสต์หนังสือ ก็คือ เราต้องเป็น Life-Time Learner หรือ นักเรียนรู้ตลอดชีวิต คุณต้องสนุกกับมันให้ได้เหมือนที่คุณอ่านการ์ตูน ดูบอล ดูหนัง หรือ เล่นวีดีโอเกม เหมือนที่วอเรน บัฟเฟตบอกว่าการได้ดูงบการเงินของบริษัทที่เขาสนใจเป็นเหมือนการพักผ่อนจากวันที่เหนื่อยล้าของเขา
รู้ตัวอีกที นิสัยผมก็เปลี่ยนไปเยอะ เช่นเดียวกับน้ำหนัก เช่นเดียวกับพลังชีวิต และเช่นเดียวกับผลประกอบการของบริษัท
มองย้อนกลับไป ผมตลกตัวเองก่อนหน้านี้มากๆ ที่ตีอกชกหัวถึงปัญหาและความอยุติธรรมต่างๆ แต่กลับไม่รู้เลยว่าในโลกใบนี้ เรื่องทั้งหมดนี้มันมีคนเจอกันมาแล้วนับไม่ถ้วน มีคนที่เจอมาหนักกว่าผมอีก และที่สำคัญพวกเขาสอนวิธีเอาชนะไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เราแค่ต้องอ่าน อ่าน อ่าน อ่าน ฟัง ฟัง ฟัง ฟัง นำไปใช้ นำไปใช้ นำไปใช้ นำไปใช้ และ เรียนรู้ เรียนรู้ เรียนรู้ เรียนรู้
จะว่าไปมันก็สรุปง่ายๆ ได้แบบนี้ แต่กระบวนการภายในมันค่อยๆ เกิดขึ้น มันคือการเอาชนะใจตัวเองไปทีละเปลาะๆๆ ต่อเนื่องยาวนาน แล้วจู่ๆ เราก็มีจิตใจที่สงบ หนักแน่น และเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เราไม่ใช่สิ่งเหล่านั้น ที่เราเคยคิดว่าคือเรา
เราสามารถเป็นแบบไหนก็ได้ ในวันที่เราสามารถเอาชนะใจตัวเอง
การตื่น คืออะไร และมีหมายความว่าอย่างไร
สำหรับผม คำว่า การตื่น ทำให้ผมนึกถึงคำสอนอยู่ 2 คำสอน
“คนเรามี 2 ชีวิต ชีวิตแรกเริ่มตอนเราเกิด ชีวิตที่ 2 เริ่มเมื่อเราตระหนักว่า เรามีชีวิตเดียว”
-ขงจื้อ-
“เมื่อเราเปลี่ยนวิธีมองสิ่งต่างๆ สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไป”
“When we change the way we look at things, the things we look at change.”
-Wayne Dyer-
วันที่ผมเข้าใจ 2 คำสอนนี้อย่างถ่องแท้ คือวันที่ผมเริ่มตื่น
แน่นอนผมไม่ได้มองการตื่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นเลย แต่คือ “กระบวนการ” หรือ “หนทาง” ที่เมื่อเริ่มนับหนึ่งแล้ว ก็ค่อยๆ วิวัฒนาการไป การตื่นก็มีระดับของมัน และถ้าถามผมว่าผมตื่นแล้วหรือยัง คำตอบก็คงเป็นว่า ตื่นแล้ว แต่ยังอยู่ในระดับต้นมากๆ ไม่เกิน 3 จาก 10
กลับมาที่คำสอนของ ขงจี้อ และเวนย์ ดายเออร์
คำสอนแรก ผมตีความจากประสบการณ์ที่เกิดกับตัวเอง ที่มันเสมือนกับว่ามี 2 ชีวิต
ชีวิตที่ 1 คือ การเกิดทางกายภาพ หรือกายเนื้อ (Physical Body) คือช่วงระหว่าง 0-28 ขวบ
ชีวิตที่ 2 คือ การเกิดทางจิตวิญญาณ (Spiritual Body) เริ่มตอนอายุ 29 ขวบ
ในวันที่ผมเริ่มตระหนักว่าเรามีชีวิตเดียว และเริ่มไตร่ตรองอย่างจริงจังว่า “เราเกิดมาทำไม?”
ชีวิตที่ 1 ผมดูจากภายนอกก็เหมือนคนที่สมบูรณ์ หากแต่ภายใน เต็มไปด้วยความงุนงง ความลังเลสงสัย ความไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว ความโกรธอาฆาต และความเบื่อ/เซ็งชีวิต จึงออกมาเป็นพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดี ซึ่ง ณ เวลานั้นเราคิดว่า มันคือ ”ตัวเรา”
ชีวิตที่ 2 ของผมเริ่มเมื่อผมตระหนักอย่างแรงกล้าว่าผมเกิดมาเพื่อทำอะไร แม้จะยังไม่สามารถอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจ ‘จุดประสงค์แห่งชีวิต’ หรือ ‘ภารกิจที่พระเจ้ามอบให้’ แต่ผมเห็นและรู้อย่างชัดเจนว่ามันคืออะไร หลังจากจุดเปลี่ยนนั้น ชีวิตผมเปลี่ยนไปในทุกอณู ทั้งนิสัยใจคอ ร่างกาย ความรู้สึกนึกคิด ความสัมพันธ์ ผู้คนรอบตัว และการมองโลก
ถ้าวัดส่วนแบ่งเวลาของความสุขและความทุกข์ ชีวิตที่ 1 ความสุขครองส่วนแบ่งเวลาในชีวิตผมอยู่ 20% ส่วนความทุกข์ครองอยู่ 80% ส่วนชีวิตที่ 2 ความสุขครองส่วนแบ่งเวลาในชีวิตผมอยู่ 95% ส่วนความทุกข์ครองอยู่ 5% ถ้าถามว่ายังมีทุกข์ไหม ก็มีบ้างเวลาเผลอๆ ไม่เท่าทันตัวเอง แต่ก็น้อยมาก เมื่อไร ‘เห็น’ ว่าตัวเองกำลังทุกข์ ส่วนใหญ่ก็จะเริ่มหัวเราะออกมาได้จากความโง่เขลาของตัวเอง
ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน หรือพลังบางอย่างมาปลดปล่อยผมและกลายเป็นคนใหม่ทันที
ปาฎิหาริย์แห่งชีวิตค่อยๆ เกิดขึ้นจากการ ‘ตั้งจิต’ ของเราเอง ไม่ใช่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืนโดยเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรภายในตัวเราเองเลย
เราเปลี่ยนอะไรบางอย่างภายในตัวเราก่อนแล้วสิ่งต่างๆ ในชีวิตเราจึงเปลี่ยนตาม ไม่ใช่รอให้สิ่งภายนอกเป็นอย่างใจก่อน สมการมหัศจรรย์คือ ใจเรามีความสุขก่อน แล้วสิ่งภายนอกจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของปาฎิหาริย์แห่งชีวิตหรือการตื่น
ซึ่งนั่นนำไปสู่คำสอนที่ 2 “เมื่อเราเปลี่ยนวิธีมองสิ่งต่าง สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไป” มันเป็นแนวคิดที่อธิบายไม่ง่าย ต้องลองทำและสัมผัสด้วยตัวเองถึงจะเห็น และตระหนักได้ ตอนแรกที่ผมได้อ่านคำสอนนี้ก็นึกปฏิเสธอยู่ในใจ จะเป็นไปได้ไงที่ลองเปลี่ยนท่าที ความรู้สึก วิธีมอง คนคนนั้น หรือสถานการณ์นั้นๆ แล้วสิ่งต่างๆ ก็กลับจะดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์
สำหรับผมการตระหนักรู้นี้ คือ ความสุขในทุกอณูของชีวิต
และเมื่อผมพูดถึงความสุขผมกำลังพูดถึงความเบิกบานใจ สดชื่น แจ่มใส ในเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต ประเภทที่ว่า แค่หายใจก็มีความสุข ทำงานก็มีความสุข เดินก็มีความสุข ขับรถก็มีความสุข ทำหน้าที่ก็มีความสุข ได้สอนก็มีความสุข ได้รับการสอนก็มีความสุข เจออุปสรรคก็มีความสุข ไม่ได้หมายถึงความสุขแบบชั่วครั้งชั่วคราว ความสุขที่ต้องคอยถมต้องคอยเติมอยู่เรื่อยๆ เช่น จากการกินอาหารอร่อย จากการได้ท่องเที่ยวพักผ่อน ได้สัมผัสรูปรสกลิ่นเสียงที่เราชอบ
ชีวิตที่มีความสุขในทุกอณู คือ ชีวิตที่ใจคุณเป็นสุขทุกวินาที หรืออย่างน้อยก็ส่วนใหญ่ของชีวิต
ประโยชน์ข้อต่อมาคือ ทำให้รวยทรัพย์ ผมเชื่อว่าคนที่ตื่นแล้วสามารถรวยได้ เพราะ ทำงานก็ทำด้วยความรัก ทำอย่างมีสมาธิ ทำได้อย่างมีความสุข ทำได้มาก ทำได้นาน ทำด้วยใจว่าง ใจสบาย ทำอย่างเต็มใจ ทำให้เห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง เข้าใจความเป็นไปของสังคม และสามารถหาทางแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ให้เพื่อนมนุษย์ได้ ซึ่งความร่ำรวยก็จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อค้นพบสำคัญที่เรียนรู้การเติบโตภายใน
ผมพบว่าตัวเองเปลี่ยนไปทั้งในแง่ร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก นิสัยใจคอ วิธีคิดวิธีมองโลก โชคลาภเงินทอง ผู้คนรอบข้างที่เข้าข่ายคนพาลก็มีปัจจัยเข้ามาทำให้ห่างหายกันไป ส่วนที่ยังอยู่ก็ดีขึ้นอย่างมหาศาล มากพอที่จะรู้สึกมหัศจรรย์
ในบ้านจากที่เคยพูดกันไม่นานก็จะโต้แย้งแดกดัน อารมณ์ต้องขุ่นมัวใส่กัน เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีเลยมากว่า 3 ปีแล้ว แปลกมากๆ ทุกวันเต็มไปด้วยความเย็น ความเบิกบาน และความกตัญญูรู้คุณจักรวาลและธรรมชาติ สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล
สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นข้อค้นพบสำคัญในกระบวนการตื่น คือ ผมเห็นว่าเรื่องการพัฒนาจิตวิญญาณและเรื่องความสำเร็จเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเหรียญคนละด้านที่ขาดกันไม่ได้ คนที่ปฏิเสธด้านใดด้านหนึ่งจะไม่สามารถเข้าถึงการตื่นที่แท้จริงได้ (พูดถึงชีวิตแบบฆราวาส)
ผมเคยอยู่ในสภาวะที่สุดโต่งไปในทั้งสองด้าน และพบว่ามันทำให้เราตึงหรือหย่อนไป ช่วงที่ผมไม่ปฏิเสธ และโอบกอดยอมรับทั้งสองด้าน กลับทำให้ใจเบาสบายอย่างยิ่ง
ผมคิดว่าอุปสรรคสำคัญของการตื่นรู้หรือการบรรลุถึงการเปลี่ยนแปลงภายใน คือ การคบคนพาล หรือการฟังเสียงผู้อื่นมากเกินไป สิ่งที่ทำให้ผมผ่านหลุมพรางนี้ก็คือ หนึ่ง ถ้าคุณอยากตื่นรู้ต้องฟังจากคนที่ตื่นรู้ ผมสังเกตความสุขจากสีหน้าและแววตาของเขาและเธอ
สอง การปลีกวิเวกเป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยมในการแปรเปลี่ยนตัวเอง มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่ผมตัดการพบเจอผู้คนออกไป เพื่อต้องการอยู่กับตัวเองให้มาก และฟังจากคุรุผ่านหนังสือและยูทูปที่คัดสรรมาอย่างดีแล้ว
ผมไม่ได้บอกว่าให้เราเป็นคนไม่คบเพื่อน เพียงแต่บอกว่าในกระบวนการการเรียนรู้ ถ้าเราพบปะคนที่ยังไม่ตื่นอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เราตื่นได้ยาก เพียงแต่งดเว้นการพบปะสังสรรค์ออกไปสักช่วงหนึ่ง เมื่อเราตื่นแล้ว การพบเจอคนจะไม่สามารถทำให้ใจเราเสียหายได้ แต่ก่อนถึงจุดนั้น การปลีกวิเวกสำคัญมาก
ผมคิดว่าข้อจำกัดใหญ่ของสังคมไทย ในเรื่องการตื่นรู้ มี 2 ข้อ
1. ความสุดโต่งของคน
ซ้ายสุด ก็คือเน้นทำงานเพื่อสังคม งานองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แล้วก็มองนักธุรกิจแย่ชอบเอาเปรียบ
ขวาสุด ก็คือเน้นทำเงินอย่างเดียว ไม่คิดถึงองค์รวม ใช้ปัญญาเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาสกว่า
สรุปคือในไทยยังมีบริษัทที่เป็นที่บรรจบกันของทั้งสองน้อยเกินไป
2. คำสอนทางศาสนาที่ฝังรากอยู่ในสังคม
ผมสังเกตว่าคนไทยชอบมักความคิดในเชิงว่า เราเกิดมาชดใช้กรรม เกิดมาจนก็ต้องทนกันไป เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่เหมือนคนมองข้ามคำสอนที่ว่า กรรมใหม่ สำคัญกว่ากรรมเก่า จริงอยู่กรรมเก่าอาจมีผลบ้าง แต่สิ่งที่จะกำหนดโชคชะตาเรา ว่าเราจะตื่นได้ เลื่อนฐานะทางสังคมได้ ก็คือกรรมใหม่ ในชาตินี้เดี๋ยวนี้
2 ข้อนี้ถ้าทำได้จะเป็นก้าวใหญ่แห่งการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย
ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากฝากให้ผู้ที่อยู่บนหนทาง ไม่ว่าหนทางของท่านจะใกล้หรือไกล ยากหรือง่าย ก็คือคำสอนที่ช่วยให้ผมเดินข้ามฝั่งได้ ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า อย่าหวังพึ่งเพียง ‘แรงฮึด’ หรือ ‘แรงบันดาลใจชั่ววูบ’ หรือ Will Power เพราะมันสามารถล้าหรือหมดแรงได้ เหมือนกับกล้ามเนื้อของเรานั่นแหละ
สิ่งที่เราหวังพึ่งได้และเป็นแหล่งขุมพลังไร้ขีดจำกัด คือการมีแรงบันดาลใจระยะยาว แรงบันดาลใจชั่ววูบ คือ การอยากได้อยากมีอยากเป็นในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับฉันคนเดียว หรือครอบครัวของฉัน หรือพรรคพวกของฉันเท่านั้น
แรงบันดาลใจระยะยาว คือการมีมโนภาพที่ชัดเจนของสิ่งที่เราต้องการสร้าง และของผลกระทบทางดีที่จะมีต่อผู้คนจำนวนมาก ทั้งที่ใกล้ตัวมาก ใกล้ตัวน้อย ไปจนถึงสังคมโดยรวม หรือบางคนอาจเป็นผลกระทบทางดีที่มีต่อธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อม
สุดท้ายขอฝากคำของ ไอน์สไตน์ ไว้ให้ลองเอาไปพิจารณากันครับ
“The world will not be destroyed by those who do evil, but by those who watch them without doing anything.”
“ถ้าโลกใบนี้จะล่มสลาย ก็ไม่ใช่ด้วยน้ำมือของคนที่ทำสิ่งชั่วร้าย แต่ด้วยน้ำมือของคนที่เห็นแต่ไม่ทำอะไร”
มาสร้างโลกธุรกิจของไทยให้ตระหนักรู้ สว่างไสว และน่าอยู่กันครับ