Search
Close this search box.
แก่นคำสอนหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

รู้สึกตัว...เห็นความคิด

รูปกายนี้ มันเคลื่อนมันไหวอยู่เรื่อยๆ ไม่เคยหยุดนิ่ง ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ มันจะเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ ผมเลยเอามาทำเป็นจังหวะ ทำจังหวะ : ยกมือเข้า เอามือออก ยกมือไป เอามือมา ฯลฯ เพื่อเป็นการเรียกร้องให้มีสติมั่นคงอยู่กับรูปกาย อย่างนี้ ตลอดไปถึงจิตใจคิดนึก สองอันนี้เป็นเชือกผูกสติเอาไว้ เมื่อความคิดเข้ามา เราเห็น-รู้ กำมือ เหยียดมือ ยกไป ยกมา นี้ก็รู้ แต่ไม่ต้องเอาสติมาจ้องตัวนี้ อย่าเอาสติมาคุมตัวนี้ ให้เอาสติไปคุมตัวความคิด คำว่า “ไปคุม” คือ ให้คอยดูมัน ดูไกลๆ ดูสบายๆ อย่าไปดูใกล้ๆ มันจะเป็นการเพ่ง ไม่เป็นมัชฌิมา จึงว่า – ทำใจไว้เป็นกลางๆ พอมันคิดปุ๊บ – ทิ้งไปเลย

  • เพียงเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของจิตใจ อย่าไปบังคับจิตไม่ให้คิด อย่าไปพยายามป้องกันหรือกำจัดความคิด คนส่วนใหญ่ต้องการทำจิตใจให้สงบ เขาเหล่านั้นไม่ต้องการให้จิตใจคิด นั่นเป็นความเข้าใจของคนอื่น แต่ในทัศนะของข้าพเจ้าแล้ว เราควรปล่อยให้จิตใจนึกคิด ยิ่งมันคิดมากเราก็ยิ่งรู้
  • การเฝ้าดูความคิดโดยไม่พยายามไปทำหรือจัดการอะไรกับมัน เพียงแต่ดูมันเฉยๆ แล้วปล่อยมันไป นี้คือหนทางของอิสรภาพจากทุกข์
  • เพียงดูความคิดนี่แหละ เพียงความเคลื่อนไหวนี่แหละ มันเป็นเอง ความเป็นเองมันมีอยู่แล้ว พร้อมแล้วที่จะปรากฏในคนทุกคนได้

รู้ธรรม...คือรู้ตัวเอง

  • พุทธะ จึงแปลว่า ผู้รู้ รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม รู้ธรรมก็คือรู้ตัวเรา กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด เข้าใจธรรม เมื่อรู้อันนี้แล้วก็เลยรู้บาป รู้บุญ บาปก็คือโง่นั่นเอง คือไม่รู้ คืออยู่ในถ้ำ มืดอยู่นั่นแหละ ถ้าเราออกจากถ้ำได้ เรามาอยู่ปากถ้ำ อยู่ข้างนอกถ้ำ เราก็สามารถมองเห็นอะไรได้ทุกอย่าง
  • พุทธศาสนาจริงๆ นั้นคือ ตัวสติ-ตัวสมาธิ-ตัวปัญญาที่ฝึกฝนทำดีแล้วนั่นแหละ ตัวพุทธศาสนามีในตัวคนทุกคน แล้วแต่บุคคลนั้นจะประพฤติปฏิบัติให้มันปรากฏขึ้นหรือเปล่า เป็นเรื่องของบุคคลนั้น
  • การรู้เฉยๆ นี้ยังไม่เห็นความคิด รู้เรื่องรูปนามนี่ยังไม่เห็นความคิด มันคิดจากไหนไม่รู้ มันคิดแล้วมันก็เข้าไปในความคิด รู้ไปเรื่อยๆ รู้แต่ดี ชั่วไม่รู้ อันนี้เป็นปัญหาที่ทุกคนควรจำเอาไว้

ความรู้สึกตัว

  • ความรู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบุญ ความไม่รู้เป็นรากเหง้าของบาป​
  • การรู้สึกตัวนั้น เป็นไม้ขีดไฟ เทียนไขนั้นก็คือ มันคิดเรารู้ เราพยายามจุดสองอย่างนี้ จุดแล้วก็สว่างขึ้นมา ก็เดินหนีออกจากถ้ำ ไม่เข้าไปอยู่ในถ้ำ ถึงจะต้องเข้าไปอยู่ในถ้ำ ก็ต้องไม่ให้มันมืดต่อไป ต้องรู้สึกตัวทันที นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม
  • การรู้สึกตัวนี้ ให้รู้สึกลงไป เมื่อมันไหวขึ้นมาให้รู้สึกตามความเป็นจริงที่มันเคลื่อนไหวนั้น เมื่อมันหยุดก็ให้รู้สึกทันทีว่ามันหยุด อันนี้เรียกว่า สงบ สงบแบบรู้สึกตัว
  • การรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย คือ การเจริญสติ สมาธิ คือ การตั้งใจ

ความสงบ

  • ที่เราต้องการความสงบ หรือพุทธะ เราไม่ต้องไปทำอะไรให้มาก เพียงให้ดูต้นตอของชีวิต เมื่อมันคิดมาอย่าเข้าไปในความคิด ให้ตัดความคิดออกให้ทัน

  • ความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ เราหยุดการแสวงหา ต่อเมื่อเราไม่ต้องวิ่งหาบุคคลอื่นนั้นเรียกว่า ความสงบ

  • ความสงบมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องทำขึ้น เป็นความสงบจาก โทสะ โมหะ โลภะ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นแก่เรา สติจะมาทันที เนื่องจาก สติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่นั่นแล้ว โทสะ โมหะ โลภะ จึงไม่มี ถ้าบุคคลใดไม่ได้เจริญสติ ไม่ได้ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น บุคคลนั้นจะไม่มีมัน ทั้งๆ ที่มันมีอยู่ที่นั่นแล้ว

  • ธรรมะ…อยู่ที่กายใจ…ไม่ต้องไปแสวงหา

  • การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่าไปแสวงหาที่ๆ มันไม่มี แสวงหาตัวเรานี่ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ นี่แหละ จะรู้จะเห็น

  • ให้ลืมตาทำ เคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ มันเป็นการไหลไปตามธรรมชาติของมัน ตาก็ไม่ต้องบังคับให้มันหลับ ให้มันกะพริบขึ้นลงได้ตามธรรมชาติ เหลือบซ้ายแลขวาก็ได้ มันจึงเป็นการปฏิบัติธรรมกับธรรมชาติ และมันก็รู้กับธรรมชาติจริงๆ

  • หนทางไปสู่ความสิ้นสุดของทุกข์นี้ เป็นหนทางที่ง่าย เหตุที่ยาก เพราะเราไม่รู้มันอย่างแท้จริง เราจึงมีแต่ความลังเล และสงสัย

วิปัสสนาญาณ ...สู่ปัญญา

  • การที่เราเคลื่อนไหว แปลว่าปลุกตัวเราให้ตื่น เมื่อมันคิดให้มันรู้ ความรู้มันจะไปดับโทสะ โมหะ โลภะ จะดับความยึดมั่นถือมั่น แล้วจิตใจเราก็เป็นปกติ เมื่อเป็นปกติแล้วสิ่งใดมาถูกเรา เราจะรู้สึกทั้งหมด เมื่อรู้สึกแล้วเหมือนสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดออกจากกัน-คนไม่มี นี่แหละที่ว่าพระพุทธเจ้าฆ่าคนให้ตาย มีแต่ชีวิตของพระล้วนๆ ชีวิตของพระไม่มีเกิด ไม่มีตาย
  • วิธีการยกมือขึ้น คว่ำมือลง เป็นวิธีเจริญสติ
  • เป็นวิธีเจริญปัญญา เมื่อได้สัดได้ส่วนสมบูรณ์แล้ว มันจะเป็นเองไม่ยกเว้นใครๆ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ เด็กๆ ก็ทำได้ ผู้ใหญ่ก็ทำได้ นุ่งผ้าสีอะไรก็ทำได้ ถือศาสนาลัทธิอะไรก็ทำได้ เรียกว่า ของจริง
  • วิปัสสนา คือ การเห็นแจ้งรู้จริง เห็นอะไร? ก็เห็นตัวเองนี่เอง กำลังนั่งอยู่ พูดอยู่ในขณะนี้ เห็นจิตใจมันนึกคิดอยู่เดี๋ยวนี้ อันนี้แหละเป็น “วิปัสสนา” จริงๆ
  • คำว่า “วิปัสสนา” นั้นเป็นเพียงชื่อเท่านั้นเอง แต่ตัวจริงของวิปัสสนานั้น ตามตัวหนังสือแปลว่า รู้แจ้ง-รู้จริง รู้แล้วต่างเก่าล่วงภาวะเดิม ว่าอย่างนั้น ถ้าหากรู้แจ้ง-รู้จริง เราจะไปเสียเวลาดูฤกษ์งามยามดีกันทำไม จะไปไหว้ผีไหว้เทวดากันทำไม ถ้าหากรู้แจ้งรู้จริงแล้วก็ไม่ต้องกลัวใครทั้งหมด

ต้นทางพระนิพพาน...ดับทุกข์

  • การที่เราเห็นความคิดนี่เอง เป็นต้นทางพระนิพพานแล้ว เมื่อมันคิดวูบขึ้นมา เราก็เห็นปั๊บ อันกระแสความคิดนี้มันไว ไวกว่าแสง ไวกว่าเสียง ไวกว่าไฟฟ้า ไวกว่าอะไรทั้งหมด เมื่อได้เห็นสมุฏฐานความเร็ว ความไวของความคิดแล้ว เรียกว่า อรรถบัญญัติ
  • การเห็นการรู้ความคิด เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน การรู้คือการเข้าไปในการคิดและความคิดก็คงดำเนินต่อไป เมื่อเราเห็นความคิด เราสามารถหลุดออกมาจากความคิดนั้นได้
  • เมื่อเราเห็นความคิดในทุกขณะ ไม่ว่ามันจะคิดเรื่องใดก็ตาม เราเอาชนะมันได้ทุกครั้งไป แล้วเราจะมาถึงจุดหนึ่ง ที่บางสิ่งในภายในจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
  • การทำความรู้สึกตัวนั้น จึงมีอานิสงส์มาก ถ้าหากไม่รู้สึกตัวในขณะไหนเวลาใดแล้ว เรียกว่าคนหลงตน ลืมตัว หลงกายลืมใจ คล้ายๆ คือเราไม่มีชีวิตนี่เอง
  • ให้ดูใจ เมื่อคิดขึ้นมา เห็น รู้เข้ามา ทำความเคลื่อนไหว มันจะวาง วางใจ มันจะมาอยู่กับความรู้สึก เมื่อมาอยู่กับความรู้สึกแล้วปัญญามันจะเกิด คนจะล่วงทุกข์ไปได้เพราะปัญญา
  • ตัวนึกคิดนี่แหละคือสมุทัย มรรคคือการเอาสติมาดูความคิด นี่คือข้อปฏิบัติ
  • ให้เห็นความคิด อย่าไปห้ามความคิด และอย่าไปยึดไปถือ ให้ปล่อยมันไป นี่คือการเห็นความคิด คิดแล้วให้ตัดปุ๊บเลย เหมือนการวิดน้ำออกไปจากก้นบ่อ ทำอย่างนี้นานๆ เข้า สติจะเต็มและสมบูรณ์ คิดปุ๊บเห็นปั๊บ อันนี้แหละคือระดับความคิด ที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด
  • แท้จริงแล้วนั้น กิเลสมิได้มีอยู่จริง แล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัด เมื่อเราเห็นใจอย่างชัดเจน โมหะก็จะไม่มีอยู่
  • หลักพุทธศาสนาจริงๆ สอนให้ละกิเลส คือความอยากนี้เอง แต่ตัวที่มันอยาก เรากลับไม่เห็น ไม่รู้ เราต้องดูจิตดูใจ ให้เข้าใจทันทีว่า เออ…กิเลสเกิดขึ้นแล้ว ต้องเห็นที่ตรงนี้
  • คำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ นั้น สอนให้เราประพฤติปฏิบัติ เพื่อทำลายความหลงผิด ความหลงผิดเกิดขึ้นนั้น ท่านว่าเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะเรามีความโกรธ ทุกข์เพราะเรามีความโลภ ทุกข์เพราะเรามีความหลง ถ้าเราไม่มีความโกรธ ความโลภ ความหลงแล้ว เราก็ไม่ต้องมีทุกข์ ทำการทำงานอะไรก็ต้องไม่มีทุกข์
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
Facebook
Email
Twitter
Telegram
Pinterest
Print