ให้ “ยอม” ตั้งแต่เริ่มแรก
ของการสัมผัส-สัมพันธ์
ยอม ทิ้งเรื่องราว
ไม่เอาเรื่องไม่เอาราว
ไม่ต้องอะไรกับอะไร
ให้ต่อยอดผลกรรม
เวียนวนในคลื่นแห่งทุกข์
การยอมเป็นหัวใจของวิปัสสนา
ที่เรียบง่ายและทรงพลังที่สุด
มันช่วยสร้าง “สำนึกใหม่”
สำนึกของการสละออก
สำนึกของการปล่อย การวาง
ยอมสละความรู้สึกนึกคิด
ยอมยุติเรื่องราวที่จมทุกข์
โดยกลับมา “รู้เนื้อรู้ตัว”
อย่าง “ตรงไปตรงมา”
ทิ้ง “ภาพ” เพื่อยอมรับ “สภาพ”
ยอมรับสภาวะในปัจจุบัน
โดยไม่กลับเข้าไปหาภาพ
ที่สร้างเรื่องราวต่อยอด
ต่อเรื่องต่อราวไม่รู้จบ
ไม่ปรุงแต่งอะไรเพิ่มอีก
คือหยุดสร้างกรรมที่ต่อเนื่อง
หยุดผลิตซ้ำๆ วนๆ ในเรื่องราวจมทุกข์
หยุดโทษตัวเอง หยุดโทษผู้อื่น
ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและเรียนรู้
เมื่อรู้แล้ว มันก็ปล่อยก็วางลงไปเอง
พอปล่อยลงไปแล้ว
ไม่ต้องหยิบขึ้นมาเพื่ออยากรู้อีก
เดี๋ยวมันจะรู้ซ้อนรู้ ตื่นซ้อนตื่น
ตื่นแล้วก็ตื่นอีกอยู่นั่น ไม่จบ
เพราะมันตื่นที่หัว
ไม่ได้ตื่นที่ใจ
ยอมเพื่อให้จักรวาลภายนอก
เรียนรู้จักรวาลภายใน
ผ่านความรู้สึกที่เป็นอย่างนั้น
เพราะมันเป็นของมันอย่างนั้น
ตั้งแต่เริ่มต้นของการเกิดขึ้นแห่งจักรวาล
การยอมรับ
คือ หัวใจของการปล่อยวาง
คือ “การยอมรับได้ในทุกทาง”
กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตรงหน้า
ทิ้ง “ตัวเอง” ลงไปเสียได้
ซ้ำแล้ว… ซ้ำเล่า
วาง “แผน” ลงไปเสียได้
ซ้ำแล้ว… ซ้ำเล่า
ปล่อย “สิ่งยึด” ลงไปเสียได้
ซ้ำแล้ว… ซ้ำเล่า
เหมือนขวานถากไม้ ที่ร่อนเอาส่วนต่างๆ ออกไป
ให้มันเบาสบาย ไม่ต้องแบกใบ แบกกิ่ง แบกเปลือก
แบกกระพี้ แม้กระทั่งแก่น วางลงไปแม้กระทั้งราก
ยอมรับว่า ธรรมชาติไม่ได้ออกแบบมา
เพื่อสนองความอยากได้ดั่งใจของใครเลยแม้แต่คนเดียว
ธรรมชาติทำหน้าที่ของธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ
และสมบูรณ์แบบในตัวมันเองแล้ว
แต่ใจเราต่างหากที่ไม่สมบูรณ์แบบ
มันพร่อง มันพลาด ขาดความรู้สึกตัว
ต้องการความสมบูรณ์แบบจากสิ่งมายา
จึงดิ้นพล่านเพื่อสนองอัตตาที่ไม่เต็มอิ่มนั้น
อยากสำคัญตัวตลอดเวลา
อยากฝืน อยากต้าน อยากเอาชนะ
อยากให้มันได้ดั่งใจอยู่อย่างนั้น
ทั้งที่ความเป็นจริง…
ธรรมชาติของรูปขันธ์ นามขันธ์
ธรรมชาติของสรรพสิ่ง
เปลี่ยนไปทุกเสี้ยววินาทีอย่างเป็นอิสระ
ดุจสายน้ำที่ไหลไป ไม่แช่แข็งไว้ด้วยอัตตา
ดุจจิตใจที่เติบโตจากการเรียนรู้สังสารวัฏ
ด้วยการยอมรับ สละออก ปล่อยออก
ยอม… เพื่อให้จักรวาลได้เรียนรู้ขันธ์ 5
ตามเหตุตามปัจจัยของมันอย่างนั้นเป็นตถตา
Photo by KAL VISUALS on Unsplash