“เมื่อพบว่าการทำตามกระแสความเชื่อ หรือความนิยมในสังคมที่จะนำมาซึ่งความสุขในชีวิต แต่ไม่ทำให้เกิดความสุขที่แท้จริงได้ และแม้จะใช้ความพยายามจนถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถทำได้ จึงปล่อยทุกอย่างยอมรับสภาพอย่างที่เป็น เมื่อนั้นจึงพบความจริงของการตื่นรู้”
ดร. ก้องภพ อยู่เย็น อดีตวิศวกรไทยอายุน้อยที่สุดในองค์การนาซา ด้วยวัยเพียง 29 ปีท่านได้ทำงานประจำที่สถาบันกอดดาร์ด สเปซ ไฟลท์ เซ็นเตอร์ ศูนย์วิจัยเกี่ยวกับการสำรวจโลกและจักรวาล ซึ่งเป็น 1 ใน 10แห่งขององค์การนาซาที่รับผิดชอบค้นคว้าเกี่ยวกับอุปกรณ์คลื่นไมโครเวฟรับส่งสัญญาณนอกโลก
ปัจจุบัน ดร.ก้องภพ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งอนาคต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ FIRST พัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ และยั่งยื่นให้กับสังคมไทยและสังคมโลก ทั้งในด้านการพัฒนาจิตใจ การเกษตรและสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้า เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางทรัพยากร อาหาร พลังงาน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ร่างกายและจิตใจ รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ใจที่ไร้ทุกข์
“สังคมในปัจจุบันอยู่ในวังวนของกระแสความอยาก ทำให้เกิดความบีบคั้นเกินความพอดีในการใช้ชีวิต” จากประโยคนี้เองที่ทำให้ ดร.ก้องภพ เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสังคมไปยังทิศทางของการตื่นรู้ เพราะการตื่นสำหรับท่านมีความหมายว่า “ตื่นออกจากความหลงในสิ่งต่างๆบนโลก รู้จักเนื้อหาของการอยู่อาศัยบนโลก โดยใจไม่ทุกข์”
ดังนั้น “เมื่อพบว่าการทำตามกระแสความเชื่อ หรือความนิยมในสังคมที่จะนำมาซึ่งความสุขในชีวิต แต่ไม่ทำให้เกิดความสุขที่แท้จริงได้ และแม้จะใช้ความพยายามจนถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถทำได้ จึงปล่อยทุกอย่างยอมรับสภาพอย่างที่เป็น เมื่อนั้นจึงพบความจริงของการตื่นรู้”
ความกล้าที่จะปล่อย แล้วยอมรับสภาพอย่างที่เป็นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่ดร. ก้องภพก้าวมาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะเห็นถึง ”ใจ” ที่ยึดติดของตัวเองในโลกแห่งนามสมมติใบนี้
“ทุกอย่างบนโลกเป็นเรื่องสมมติ ใช้งานชั่วคราว แต่ไปหลงยึดถือให้ใจเป็นทุกข์เสียเอง หลงยึดติด หลงเชื่อในความคิดหรือเหตุผล โดยไม่เฉลียวใจว่า ไปยึดติดในแง่มุมที่คับแคบ แล้วสร้างกรอบขึ้นมาขังจิตใจตัวเอง” หากอยากจะก้าวไปให้พ้น “เราต้องเห็นว่า ความคิดคือสิ่งที่ไม่สามารถนำมายึดถือได้จริง ต้องปล่อยวางความคิด ความเห็น ความหมาย ที่นำมายึดแล้วทำให้เกิดทุกข์”
คำตอบที่สั้นกระชับไม่กี่บรรทัด แต่ชวนให้นำกลับมาคิดทบทวนถึงความจริงอันไม่สามารถปฏิเสธได้ โดยเฉพาะเราทุกคนที่ยังยึดติดในโลกแห่งนามสมมติ ทั้งโลกของภาษา เหตุผล ความคิด ความเห็น หรือแม้แต่โลกของความต่าง ความเหมือน เกิดขึ้นได้ก็ล้วนเป็นเพราะ เราต่างว่ายวนในความยึดถือยึดติดทั้งสิ้น
ใจไร้กรอบ เป้าหมายของการตื่น
“การเปิดใจให้กว้างขวาง ยอมรับในความแตกต่างทางความคิด ความเห็น โดยไม่แตกแยก ไม่ยึดติด ไม่เบียดเบียนกัน แต่ให้ดูที่ประโยชน์ในการแก้ปัญหาสังคมที่ทุกคนจะได้รับร่วมกัน” จึงเป็นการตื่นรู้ที่พาเราไปพ้นจากโลกสมมติ แล้วโลกแห่งสัจจะความจริงจะเผยตัวมันเอง เพื่อพาเราเดินสู่เป้าหมายร่วมกัน
และหากเราอยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อผู้อื่น เพื่อขยายการตื่นรู้นี้ให้กว้างออกไป คำแนะนำของ ดร.ก้องภพนั้นเปี่ยมด้วยความหมายทางจิตวิญญาณ ที่ย้ำให้เรากลับเข้ามาข้างในตัวเอง และเริ่มจากตัวเอง
“เมื่อใจไม่ทุกข์ การอยู่บนโลกก็เบาสบายไปเอง เราจะสามารถเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นคลี่คลายจากความทุกข์ได้ คนรอบข้างจะเริ่มคลายตาม และตื่นรู้ตาม” โดยกุญแจสำคัญคือ การเรียนรู้ที่จะปล่อย
“ปล่อยวางทุกเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ แต่ให้ดูที่ประโยชน์และเป้าหมายสูงสุด แล้วจะพบหนทางที่ตรงต่อการไปถึงเป้าหมาย ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ตามวาระของมัน ไม่ต้องดิ้นรน แล้วการปฏิบัติภารกิจจะราบรื่นไปเอง”