เราจะเริ่มต้นปฏิบัติอย่างไร? …แนวทางไหนดี?

เพราะว่ามีมิตรรักหลายท่านมาพูดคุยปรึกษาหลังไมค์เกี่ยวกับธรรมะอยู่บ่อยๆ สเตตัสนี้จึงขอเขียนในสิ่งที่พอจะรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง เผื่อว่าอาจจะเป็นประโยชน์แก่ท่านใดบ้าง โดยขอทุกท่านอย่าได้ถือว่านี่เป็นคำชี้แนะจากผู้รู้หรือผู้ปฏิบัติธรรมชั้นเลิศแต่อย่างใด อย่าได้เห็นว่าเป็นความอวดดีของผม และอย่าถือว่าเป็นที่สิ้นสุด แต่โปรดเห็นว่าเป็นเพียงการพูดคุยกันตามประสาคนคุ้นเคย และเป็นการเล่าประสบการณ์ลองผิดลองถูกจากคนกิเลสหนาคนหนึ่ง …แน่นอน ท่านย่อมเห็นและประจักษ์อยู่ในความผิดบาปของผมอันมากมาย

ต่อไปนี้เป็นสาระล้วนและยาวมาก ใครไม่ใช่แนว รอดูสเตตัสกินเหล้าเมายาวันศุกร์แทนนะครับ 

คำถามที่ผมมักได้รับก็คือ จะเริ่มต้นปฏิบัติอย่างไร? และจะปฏิบัติในแนวทางไหนดี? อาจจะเป็นเพราะว่าหลายท่านเห็นผมโพสต์คำสอนทั้งของ พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกส์ ฯลฯ มีเรื่องชวนขำเล็กๆก็คือ แต่ละท่านถามผมต่างกันไป บางท่านถามว่าผมเป็นพุทธหรือ? บางท่านถามว่าเป็นคริสต์หรือ? เป็นอิสลามหรือ? พูดตรงๆคือ มรึงเป็นอะไรกันแน่… เป็นบ้าครับ
เอาล่ะ กลับมาที่คำถามข้างต้นนะครับ

๐ ตั้งคำถามคือก้าวแรก

เพียงคำถามที่ว่า “จะเริ่มต้นปฏิบัติอย่างไร?” มันก็เป็นก้าวแรกของการปฏิบัติแล้วครับ เพราะเมื่อเรารู้สึกว่า เอาล่ะถึงเวลาที่เราต้องทำอะไรบางอย่างกับจิตใจของเราบ้างแล้ว นั่นแปลว่าเราพบว่าความคิดเดิมๆ ความเคยชินเดิมๆที่เรามีอยู่มันไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหา หนำซ้ำเรายังพบอีกว่าความคิดเดิมๆ รูทีนเดิมๆของเราเองนั่นแหละที่เป็นต้นเหตุของปัญหา เราจึงอยากหาความคิดใหม่ๆหรือสิ่งใหม่ๆ มาปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหาของเรา บางคนเรียกว่า มันเป็นขั้นแรกแห่งการพังทลายตัวตนของเรา ตัวตนที่เราเคยเชื่อว่าถูก ว่าดี กว่าใครๆ โลกทัศน์ของเราที่เราเคยเชื่อว่าวิเศษที่สุด บัดนี้ กลายเป็นปัญหาเองเสียแล้ว

ทีนี้ สำหรับท่านที่พอจะมีศาสนาหรือความเชื่อให้ยึดถืออยู่บ้าง แต่ทว่าละเลยไปตามประสาปุถุชน ช่วงเวลาแห่งความล่มสลายของตัวตน อาจทำให้เราย้อนระลึกถึงศาสนาหรือความเชื่อที่เราเคยผ่านหูผ่านตา แต่สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องเหล่านี้เลย… แนวทางไหนล่ะที่เหมาะสม? ศาสนาไหน? นิกายไหน? คำตอบจากประสบการณ์ของผมคือ แนวทางไหนก็ได้ ถ้าเราเข้าใจเป้าหมายของมัน

๐ เป้าหมายของศาสนา

ศาสนาทั้งหลายในโลก ทั้งที่ยังมีอยู่และไม่มีแล้ว ทั้งเป็นที่รู้จักและไม่รู้จัก ทั้งเอกเทวนิยม พหุเทวนิยม อเทวนิยม แม้จะถูกอธิบายแตกต่างกันไปมากมายเพียงใด ทว่ามีเป้าหมายอันไม่ต่างกันคือ “ความพ้นทุกข์ถาวร” หรือ “ความสุข นิรันดร์” หมายถึงเมื่อพ้นทุกข์แล้ว เมื่อได้สุขนิรันดร์แล้ว จะไม่กลับมาทุกข์อีก ทว่า สุขนิรันดร์นี้อาจถูกอธิบายแตกต่างกัน บ้างถือว่าสุขนิรันดร์คือการได้อยู่ในสรวงสวรรค์ของพระเจ้า บ้างถือว่าคือการรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า บ้างถือว่าคือการสิ้นกิเลส ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะอธิบายด้วยภาพและภาษาที่แตกต่างกันอย่างไร ภาวะของสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน กล่าวคือความสุขนิรันดร์นั่นเอง และอันที่จริง สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงไอเดียเฉพาะในทางศาสนาเท่านั้น แต่เป็นความปรารถนาของทุกสรรพชีวิตบนโลกนี้ ดังนั้น พูดอีกอย่างหนึ่ง ศาสนาเกิดขึ้นจากความปรารถนาในความสุขนิรันดร์ของมนุษย์ ศาสดาและประกาศกทั้งหลาย คือผู้ที่ถ่ายทอดวิถีสู่ความสุขนิรันดร์ ที่ท่านได้ค้นพบให้แก่ผู้คน

๐ ปัญหาจากตัวตน

อันที่จริงแล้ว ทุกศาสนาเห็นพ้องต้องกันว่า ปัญหาหรือความทุกข์ทั้งหลายของคนเราล้วนเกิดจากความเห็นแก่ตนหรือความยึดมั่นในตน ดังนั้นในทุกศาสนา จึงมุ่งถ่ายถอนความเห็นแก่ตนนี้ ด้วยหลักปฏิบัติหรือกุศโลบายที่แตกต่างกันไป จะเห็นได้ว่า ไม่มีศาสนาไหนในโลกหรอกครับที่บอกว่า จงเย่อหยิ่ง จงถือตน จงเห็นแก่ตัว ตรงกันข้าม ทุกศาสนาสอนว่า จงอ่อนน้อม จงละวางตัวตน และจงเห็นแก่ผู้อื่น

๐ โทษของตัวตน

สำหรับศาสนาที่เชื่อในพระเจ้า การที่เราเห็นแก่ตนและเบียดเบียนผู้อื่น เราย่อมได้รับการพิพากษาจากพระเจ้า ส่วนศาสนาที่เชื่อในกรรม การทำดีและทำชั่วของเรา ย่อมได้รับผลกรรมนั้นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง ในส่วนนี้ไม่ใช่ประเด็นว่า ใครกันแน่ที่เป็นผู้ให้คุณและโทษ พระเจ้า หรือ กรรม เพราะสำหรับผมแล้ว อย่างไรเสีย ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าหรือกรรม ตราบใดที่เรายังยึดถือตัวตน ตราบใดที่เรายังเห็นแก่ตน เราก็ยังคงได้รับผลอย่างยุติธรรมสำหรับการกระทำของเราอยู่ดี

ตรงนี้มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของศาสนิกในศาสนาอื่นๆ ต่อศาสนาที่เชื่อในพระเจ้า (ซึ่งผมเคยได้ฟังอคตินี้มานักต่อนัก) ยกตัวอย่างเช่นศาสนาคริสต์ เช่นเชื่อผิดๆว่า ศาสนาคริสต์สอนว่า ใครที่เชื่อในพระผู้เจ้าจะได้รับความรอดพ้นหรือได้ขึ้นสวรรค์หมด โดยไม่เกี่ยงว่าจะทำชั่วหรือทำดี ความจริงแล้วความเชื่อเช่นนี้เกิดจากการได้ยินได้ฟังคำสอนในศาสนาคริสต์มาอย่างผิวเผิน เพราะหากศึกษาจนเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว ผู้ที่เชื่อ หรือ “รัก” ในพระเจ้าอย่างแท้จริงนั้น ย่อมไม่กระทำบาปใดๆที่พระเจ้าทรงห้าม เขาย่อมประพฤติตนดีงาม และที่สำคัญ ความรักในพระเจ้าดังกล่าว ต้องไปถึงจุดอันสูงสุด คือความรักที่ละทิ้งตัวตนของตนจนไม่เหลือ

๐ การละวางตัวตน

ก่อนที่จะกลายเป็นบทความทางศาสนาที่น่าเบื่อ ผมขอย้อนกลับมาเรื่องเฉพาะหน้าของเรา อันเป็นที่มาของสิ่งที่ผมเขียนในครั้งนี้

หลังจากที่ได้ทราบอย่างรวบรัดแล้วว่า ศาสนาต่างๆล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน ในการกำจัด “ตัวตน” หรือพูดให้ถูกต้องคือ กำจัด “ความเห็นผิดว่ามีตัวตน” แล้วเราจะเริ่มปฏิบัติเพื่อกำจัดมันอย่างไร ผมมีวิธีให้ท่านลองนำไปทดลองดูครับ

๐ มองดูภายใน

เนื่องจากตามปกติแล้ว วันๆหนึ่งเรามักคิดไปถึงเรื่องต่างๆ เรื่องอดีต เรื่องอนาคต เรื่องรถ เรื่องบ้าน เรื่องงาน และโดยเฉพาะเรื่องของคนอื่น น้อยครั้งนักที่เราจะย้อนมองดูตนเอง ในที่นี้ผมไม่ได้ใช้คำว่า “คิดถึง” ตนเองนะครับ ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็ยังจะคิดถึงตัวเราไปต่างๆนานาอีก ในที่นี้มันคือการ “มองดู” ภายในจิตใจของเราเอง ภาษาทางพุทธศาสนาเรียกว่า วิปัสสนา หรือเรียกแบบเจาะจงว่า สติปัฏฐานก็ได้ แต่ผมขอละคำพระไว้นะครับ เพราะมันมีความชวนห่างเหินหรือเข้าถึงยากอยู่ ทั้งๆที่มันเป็นเรื่องที่ทำได้สำหรับทุกคน อย่างถ้าลองใช้คำในภาษาอังกฤษมันจะเข้าใจง่ายขึ้นและดูเข้าถึงได้ครับ เช่น วิปัสสนา ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Investigation ส่วนสติปัฏฐาน นั้นคือ Mindfulness ธรรมดานี่ล่ะครับ

หลายท่านพบว่าตนเองเป็นคนคิดมาก คิดไม่หยุด และรู้สึกว่าความคิดอันไหลรินออกมาไม่หยุดนี้เองได้นำพาปัญหาและความทุกข์นานามาสู่ ทั้งๆที่พยายามหยุดคิดแล้วแต่กลับพบว่ายิ่งเครียดกว่าเดิม วิธีการมองดูความคิดในจิตของเราเองนี่แหละครับ คือกุศโลบายในการกำจัดตัวตนอย่างหนึ่ง

๐ แม้แต่ความคิดก็ไม่มีตัวตน

ปัญหาของเราคือ นอกจากจะคิดโน่นนี่ให้เป็นทุกข์แล้ว เรายังเชื่อไปอีกว่า ความคิดของเราเป็นจริง เป็นสิ่งจริง และเป็นของเราจริงๆ ทั้งๆที่มันจับต้องไม่ได้ ไม่อยู่แม้ในอากาศตรงหน้า และผลก็คือ เมื่อเราพยายามที่จะกำจัดมันอย่างจริงจัง มันกลับรุนแรงขึ้น และเมื่อมันรุนแรงขึ้น เราก็ยิ่งโมโหตนเองมากขึ้น โมโหที่เราจัดการกับเจ้าความคิดทั้งหลายนั้นไม่ได้ แต่ทว่า… เราจะกำจัดสิ่งซึ่งไม่มีอยู่จริงได้อย่างไร?

ชายคนหนึ่งตื่นขึ้นกลางดึก เขาเดินไปเข้าห้องน้ำแล้วกลับมาที่ห้องนอน เมื่อเขาปิดไฟเขาพบว่ามีใครบางคนอยู่ตรงมุมห้อง เขาตะโกนถามไป แต่ไม่มีเสียงตอบกลับ เขาเดินเข้าไป แต่ใครคนนั้นก็ไม่มีทีท่าว่างจะถอยหนี เขาทั้งโมโหและทั้งกลัวแต่ก็ทำใจกล้าเดินเข้าไปใกล้ๆ เมื่อไปถึงมุมห้อง ทันใดเขาก็พบว่า ใครคนนั้นคือเงาของเขานั่นเอง แล้วเขาก็กลับไปนอนอย่างสบายใจ

เช่นเดียวกัน เทคนิคของการมองดูความคิด ไม่ใช่การห้ามความคิด ไม่ใช่การต่อสู้กับความคิด ไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าความคิดเป็นปฏิปักษ์กับเรา นั่นเพราะความคิดเองก็ไม่ใช่สิ่งที่มีตัวตนอะไร สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เมื่อความคิดใดๆเกิดขึ้น ทั้งสุขหรือทุกข์ ทั้งดีใจหรือเสียใจ ทั้งรักหรือโกรธ เป็นต้น ให้เรามีสติมองเห็นมันในทันที ซึ่งตามธรรมชาติแล้วมันจะหายไปในทันทีที่เราเห็นมัน แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้เกิดขึ้นเร็วมาก ดังนั้น ความคิดอาจหายไปและกลับมาใหม่อย่างรวดเร็วนับร้อยพันครั้ง เราอาจเห็นมันได้เร็วบ้าง ช้าบ้าง นั่นไม่ใช่ปัญหา หน้าที่ของเรามีเพียง “เห็น” มันเท่านั้น นี่เป็นวิธีมาตรฐานของศาสนาพุทธทุกนิกาย แต่กลเม็ดเคล็ดลับอาจมากน้อยต่างกัน

เมื่อทำบ่อยๆ เมื่อเห็นความคิดบ่อยๆ เราจะตระหนักว่า ความคิดนั้นไม่ใช่สิ่งเที่ยงแท้แต่อย่างใด มันเกิดขึ้นและดับไปตามธรรมชาติ ปัญหาที่ผ่านๆมาของเราคือ เราคิดว่ามันเป็นจริง เราบำรุงเลี้ยงและเพลิดเพลินไปกับมัน หรือในทางตรงกันข้าม เราพยายามทำลายมันด้วยความโมโห เราจึงสูญเสียความสมดุลย์และความสงบสุขในจิตใจ

๐ กุศโลบาย

หากรู้สึกว่า ยากที่จะตามดูความคิดได้ทัน หรือรู้สึกว่าความคิดมีกำลังมากจนไม่มีทีท่าว่าจะหยุด เราอาจใช้การตามลมหายใจ เข้า-ออก, การท่องคำว่า พุทโธ ในใจ, หรือท่องบทสวดใดๆ เพื่อเป็นหลักสำหรับรวมจิตของเราไม่ให้แล่นไปไกลนั่นเองครับ ข้อนี้ก็ตรงกับศาสนาอื่นๆ การสวดพระนามของพระเจ้า การสวดคำสอนหรือบทสวดจากคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ล้วนเป็นกุศโลบายเพื่อให้จิตอันคิดอันวุ่นวายของเรากลับคืนสู่ความสมดุลย์และสงบสุขทั้งสิ้น เพราะหากเราสามารถระลึกถึงพระเจ้าได้ทุกลมหายใจ ทุกอิริยาบท ทุกเวลานาทีแล้ว เราจะเอาเวลาที่ไหนไปคิดเห็นแก่ตน

แทรกสาระเล็กน้อย ในโลกสากลปัจจุบัน มีการศึกษาเรียนรู้ระหว่างศาสนาต่างๆ ครูบาอาจารย์หลายท่านทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกส์ ต่างร่วมพบปะพูดคุย และมีไมตรีต่อกัน ที่น่าสนใจก็คือ มีบาทหลวงหลายท่านที่เป็นทั้งบาทหลวงในศาสนาคริสต์ และเป็นอาจารย์เซ็น (โรชิ) ด้วย ตรงนี้อาจนับเป็นความพิเศษของพุทธศาสนา ที่นิกายเซ็นที่แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนมาโดยตลอดว่า พุทธศาสนาคือการเรียนรู้ตนเอง คือการละทิ้งตนเอง คือสัจธรรมที่เป็นมากกว่าคำว่าศาสนา ผลก็คือบาทหลวงหลายท่านได้นำคำสอนแห่งนิกายเซ็นไปใช้อธิบายคำสอนของศาสนาคริสต์ได้อย่างลึกซึ้ง

๐ ปฏิบัติอย่างเป็นธรรมชาติ

ข้อนี้ไม่ใช่การปล่อยไปตามธรรมชาติ สบายๆ อะไรก็ได้ อย่างที่หลายคนคิดนะครับ แต่หมายถึงการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอในทุกขณะของชีวิต ให้การปฏิบัตินั้นกลายเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตประจำวัน แต่ไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียด และที่สำคัญ ขอให้ระมัดระวังอัตตาที่ยึดความดีของตน มีนักปฏิบัติมากมายที่ตกม้าตายตอนนี้ครับ คือพอปฏิบัติและเห็นผลบ้างแล้วก็รู้สึกว่า “ตัวเรานี้ช่างเป็นคนดีจริงหนอ”

๐ คนบาป

ผมขอจบสเตตัสอันยาวยืดไว้ตรงหัวข้อท้ายนี้ล่ะครับ ทั้งหมดเป็นการสรุปรวบรัดจากประสบการณ์กิ๊กๆก๊อกๆของผม ถามว่ามันเห็นผลดีขึ้นมั้ยกับชีวิต ตอบว่าเห็นผลได้ครับ แต่เพราะกิเลสแต่ชาติปางก่อนคงมีอยู่เยอะมาก ก็เลยไม่หลุดพ้นซักที แถมทุกวันนี้ยังทำบาปทำกรรมใหม่ๆอีก สงสัยจะเวียนว่ายไปอีกนาน

ข้อความตรงไหนที่เป็นประโยชน์ ล้วนเป็นความดีงามของคุรุที่ผมน้อมสักการะทุกท่าน ทั้งในทุกนิกายแห่งศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกส์ ฯลฯ
และหากมีข้อความตรงไหนที่ไร้สาระและผิดพลาด ผมขอกราบขออภัยและรับความผิดบาปไว้แต่เพียงผู้เดียว

นะโม อะมิดะ บุทซึ
นะโม อะมิดะ บุทซึ
นะโม อะมิดะ บุทซึ

ขอคุณเพจ Zen Smile Zen Wisdom

Facebook
Email
Twitter
Telegram
Pinterest
Print