จากนักโฆษณาสู่งานสื่อเพื่อสังคม
การบวชครั้งแรกของ ‘ธรากร กมลเปรมปิยะกุล’ เกิดขึ้นช่วงแรกของการทำงานโฆษณาในบริษัท TBWA เมื่อเขาเจอขุมทรัพย์ทางใจอย่าง ‘ธรรมะ’ ที่พระพุทธเจ้าค้นพบ บวกกับเห็นผลกระทบของงานโฆษณาในแบบที่ทำมา ทำให้เป้าหมายในอาชีพตอนนั้น คือการใช้ทักษะด้านสื่อสารของตัวเองมาเผยแพร่ธรรมะให้เกิดประโยชน์ในจิตใจผู้คน หรืออย่างน้อยก็สร้างสรรค์ผลงานที่เกื้อกูลผู้อื่น เขาแบ่งเวลาจากการคิดงานโฆษณาเพื่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาใช้เพื่อคิดโฆษณาที่สร้างสรรค์สังคม เช่น โฆษณาของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สายด่วนช่วยเหลือคนคิดฆ่าตัวตาย ของสะมาริตันส์ โครงการทำดีเพื่อพ่อ ของ สสส. ฯลฯ ทั้งในฐานะส่วนหนึ่งของงานบริษัท และงานอาสาส่วนตัว
เวลาผ่านไป ปี 2551 เขายังคงเก็บเป้าหมายของตัวเองไว้ในใจเสมอ จนได้เข้าประกวดรางวัลชื่อ iCARE Awards ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (Magnolia Quality Development Corporation) เมื่อไอเดียได้รับรางวัล เขาเลยได้รับโอกาสมาริเริ่มและดูแลองค์กรสร้างสรรค์เพื่อสังคม iCARE เป็นการใช้งบประมาณด้านความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาสร้างสรรค์งานสื่อสารและกิจกรรมดีๆ คืนให้สังคม ซึ่งเขาได้เริ่มต้นใช้ทักษะและความสนใจมาผสานรวมกัน
“ปี 2551 ผมมีโอกาสเข้าประกวดโครงการ iCARE Awards ของบริษัทแมกโนเลีย โจทย์การประกวดในตอนนั้นคือ ธุรกิจเพื่อสังคมบ้านพักคนชราและบ้านเด็กกำพร้าในหลังเดียวกัน ผมเสนอไอเดียแบรนด์ธุรกิจเพื่อสังคมชื่อว่า ‘บ้านบุญธรรม’ ปรากฏว่าทีมได้ที่ 1 ทางผู้ใหญ่เห็นว่าเราเป็นคนโฆษณาที่สนใจทำงานสื่อสารเพื่อสังคม เลยชักชวนให้มาช่วยกันทำองค์กร iCARE เป็นจุดเปลี่ยนให้ผมออกจากวงการโฆษณา”
เขาตัดสินใจลาออกจากบริษัท TBWA หลังจากทำได้ 7 ปี แล้วมาเริ่มงานในองค์กร iCARE ถือเป็นประตูบานแรกในการเปลี่ยนจากงานโฆษณาในภาคธุรกิจมาเป็นงานสื่อสารเพื่อสังคม
หลังจากนั้นสองปี เขาริเริ่มโครงการชื่อ ‘New Heart New World – โลกเปลี่ยนไป เมื่อใจเปลี่ยนแปลง’ ทั้งในรูปแบบหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ผู้ตื่นรู้และคลิปวีดีโอที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างกว้างขวาง ปีต่อมาเขาสานต่อเรื่องเดิมในอีกมุมมอง คือ ‘New Heart New World 2 – ตื่นเพื่อตนเอง ตื่นเพื่อผู้อื่น’ ในรูปแบบหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ ก่อนที่ปีที่สามจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นหนังสือองค์ความรู้กึ่งฮาวทูว่าด้วย ‘การตื่นรู้’ ชื่อว่า ‘New Heart New World 3 – หัวใจตื่นรู้’ ซึ่งเขาเป็นคนลำดับเนื้อหาทั้งหมดด้วยตัวเอง โดยมีนักเขียนและบรรณาธิการมาช่วยเรียบเรียงในขั้นตอนสุดท้ายอีกครั้ง
“การได้เรียบเรียงและเขียนหนังสือหัวใจตื่นรู้ เป็นสิ่งที่พิเศษมากๆ เหมือนผมได้กลับมาทบทวนความเข้าใจของตัวเองอีกครั้ง จากส่วนที่เราได้เรียนรู้ศึกษามา มารวมกับประสบการณ์จริงที่ได้สัมผัสและค้นพบผ่านการปฏิบัติ เอามาเรียบเรียงใหม่หมดเพื่อถ่ายทอดให้คนอ่านสามารถเห็นได้ว่า เส้นทางการตื่นรู้คืออะไร แล้วแต่ละลำดับขั้นเป็นอย่างไร มีขั้นตอน วิธีการและอุปสรรคอย่างไรบ้าง”
“ตลอดหลายปีที่ทำ New Heart New World มาตอบสิ่งที่ตั้งใจตอนบวชว่าอยากสื่อสารเรื่องนี้ มันน่าดีใจนะ ถึงเราไม่ใช่ผู้รู้ทุกเรื่อง แต่เราทำหน้าที่เป็นสื่อที่ช่วยส่งต่อและบอกเล่าถึงคนที่ผ่านและได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เป็นการเล่าธรรมะผ่านทฤษฎี แต่ใช้ประสบการณ์ตื่นรู้ของคนที่หลากหลาย ทั้งระดับกลางๆ และลึกๆ ทุกคนที่ให้สัมภาษณ์บอกทีมงานว่า ไม่ค่อยมีใครสัมภาษณ์ในแง่มุมของการเติบโตภายในแบบนี้ แล้วพอสื่อสารผ่านคลิปวีดีโอ New Heart New World ก็มีคนแชร์ออกไปไม่น้อย มีวิดีโอหลายตัวที่คนทำงานสายโค้ชชิ่งนำไปใช้สอนคนในคลาสเยอะเลย เพราะคลิปถ่ายทอดออกมาได้สั้น กระชับ และมีพลัง”
“ผมในฐานะผู้จัดการโครงการรวมถึงน้องๆ ที่ทำงานสัมภาษณ์และถ่ายทำร่วมกันมา เราได้เรียนรู้เยอะมาก ผ่านการพบปะผู้คนที่หลากหลาย สุดท้ายมาตกผลึกในเล่มที่ 3 ที่เปิดโอกาสให้ผมได้ออกแบบเนื้อหาของ ‘หัวใจตื่นรู้’ เหมือนได้วิเคราะห์และสังเคราะห์เส้นทางการเดินทางภายในของผู้คนต่างๆ พร้อมทั้งทบทวน 10 ปีการเดินทางธรรมะของตัวเองด้วย ผมทำงานมาหลายปีโดยไม่เคยคิดเรียนปริญญาโท แต่ผมรู้สึกว่าตอนที่ทำหนังสือหัวใจตื่นรู้เลยเหมือนการได้ทำทีสิสเลยทีเดียว”
ตื่นที่หัวคิด | ตื่นที่หัวใจ
ในการบวชครั้งแรก เขานึกถึง ‘ธรรมะ’ และลงเอยที่การชีวิตนักบวช ทั้งที่ไม่ใช่คนสนใจศาสนามาก่อน กระทั่งเวลาผ่านไป เขาสนใจ เข้าใจ และผสานไปยังอาชีพที่ทำอยู่ได้อย่างมั่นคง
อยู่มาวันหนึ่ง ภรรยานำวันเดือนปีเกิดของสามีไปดูดวงแล้วหมอดูทักว่าระวังจะเกิดเรื่องร้ายกับชีวิต ต้องรีบทำบุญใหญ่เพื่อช่วยปัดเคราะห์ แม้เขาไม่ใช่คนที่เชื่อหรือสนใจในการทำนายทายทัก แต่เพื่อความสบายใจของคนรัก เขาเสนอทางออกว่า ‘การบวช’ น่าจะเป็นมหากุศลที่ผู้ชายสามารถทำได้ ซึ่งเธอเห็นด้วยกับการสร้างบุญกุศลด้วยวิธีนั้น
การบวชครั้งที่สองนาน 13 วัน เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่ทว่าแตกต่างกับครั้งแรกไม่น้อย เขาผ่อนคลายกับแต่ละวันในฐานะนักบวช เรียบง่าย ไม่ตึง ไม่หย่อน จนกระทั่งได้พบกับประสบการณ์พิเศษ เป็นภาวะเกิดดับที่เขานิยามด้วยภาษาว่า ‘ใจ’
“การบวชครั้งที่ 2 เหมือนไปพักร้อน ตอนนั้นมองว่าบวชที่ไหนก็ได้ ตอนนั้นเราพอมีความเข้าใจ มีวิธีปฏิบัติภายในตัวเองแล้ว แตกต่างจากรอบแรกที่ยังไม่ค่อยรู้อะไร ผมเลือกบวชที่วัดคลองปลัดเปรียง วัดย่านบางนาไม่ไกลจากบ้านมากนัก ระหว่างบวช ผมนำต้นฉบับหัวใจตื่นรู้ที่เขียนเสร็จรอบแรกติดไปด้วย เพื่อแก้ไขและปรับแต่งสิ่งที่ได้เขียนไป ยิ่งทำให้เห็นว่าการได้ทำต้นฉบับเล่มนี้ มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาภายใน เกิดความเข้าใจ และเพิ่มความสงบนิ่งภายใน”
“จนในค่ำวันหนึ่ง ผมจำได้ว่าเย็นวันนั้นฝนตกเบาๆ อากาศเย็นสบายมาก เวลาประมาณหนึ่งทุ่มเศษ ผมกำลังนั่งสมาธิ กำลังรู้เนื้อรู้ตัวตามปกติ กุฏิที่จำวัดอยู่ข้างศาลาเลยได้ยินเสียงพระสวดอภิธรรม ขณะนั่งสมาธิสงบ มีสติรู้อยู่ ผมได้ยินได้สัมผัสโลกผ่านการได้ยินทางหู ผมรับรู้ว่าเมื่อพระเริ่มสวด แขกที่กำลังคุยก็ค่อยๆ เงียบเสียงลง พอพระสวดเสร็จ เสียงแขกค่อยๆ ดังขึ้นอีกครั้งพร้อมกับเสียงขยับเก้าอี้พลาสติก เสียงคนเสิร์ฟถ้วยชามข้าวต้ม เสียงกระทบกันของแก้วน้ำ แล้วเมื่อพระสวดอีกครั้งทุกอย่างก็ค่อยๆ กลับมาสู่ความเงียบ แล้วเสียงพระสวดก็ดังมากระทบการรับรู้ของเรา”
“ตอนนั้นสัมผัสชัดได้ว่า ทั้งหมดที่ปรากฏขึ้นคือการรับรู้ ทุกๆ สิ่งคือสิ่งที่ปรากฏอยู่คือสิ่งที่ถูกรับรู้ โดยที่ตัวผมเองเป็นแค่ ‘อะไรสักอย่าง’ ที่เข้าไปรู้ มีการเข้าไป ‘รับรู้’ ทุกๆ สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว แต่มันไม่อาจบอกได้ว่าทั้งหมดนั้นเป็นตัวผม เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ตัวผม ภาวะที่เกิดขึ้นนี้ผมเรียกภายหลังว่าเจอ ‘ใจ’ ใจที่เป็น ‘ผู้รับรู้’ ตัวใจนี้เป็นที่ตั้งของทุกอย่างที่ปรากฏเข้ามาในอายตนะหรือประสาทการรับรู้ต่างๆ ทั้งหมดมันเป็นแค่อาการรู้ แต่มันไม่มีความเป็นตัวตนใดๆ ไม่อาจยึดได้ว่ามันเป็นตัวเราของเรา ซึ่งปัญหาหรือความทุกข์ต่างๆ กันเกิดขึ้น ก็เมื่อตัวใจที่ไม่รู้ความจริงนี้ ไปยึดถือสิ่งต่างๆ ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเราทั้งๆ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เราเลย มันเป็นอะไรสักอย่างที่ผ่านมาแล้วสุดท้ายมันผ่านไปเสมอ”
“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนทุ่มเศษๆ ของวันนั้นไม่ใช่ความรู้ที่เคยอ่านเคยฟังมา มันเป็นความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสความจริงในใจของเราเอง เราเข้าใจ เราประจักษ์ในขณะนั้นเลยว่า โอ้! นี่เอง เป็นอย่างนี้เอง นี่ล่ะมั้งที่เรียกว่า ‘ความว่าง’ ความว่างจากตัวตน เป็นความว่างที่ไม่ได้แปลว่าไม่มีอะไรเลยนะ แค่ว่างจากความเป็นตัวตน แต่ว่าทุกๆ อย่างดำรงอยู่ในนั้น”
สัมภาษณ์และเขียนโดย ขวัญชัย ดำรงขวัญ
Admin Fanpage มนุษย์กรุงเทพฯ
Related Posts
บนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ – 3/3
ความตั้งใจคือผมอยากทำงานที่ช่วยให้คนกลับมาพบเจอใจที่แท้จริง มาหาตัวเราที่แท้จริง ธรรมะในตัวเอง หรือเรียกว่าการ ‘ตื่นรู้’ ก็ได้
บนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ – 2/3
การบวชครั้งที่ 2 เหมือนไปพักร้อน ตอนนั้นมองว่าบวชที่ไหนก็ได้ ตอนนั้นเราพอมีความเข้าใจ มีวิธีปฏิบัติภายในตัวเองแล้ว แตกต่างจากรอบแรกที่ยังไม่ค่อยรู้อะไร
บนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ – 1/3
ผมไม่โหยหาการปลีกตัวลางานไปปฏิบัติธรรม เพราะความรู้ตัวนี้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาที่มีสติรู้ตัว มันเปลี่ยนโลกทั้งโลก ชีวิตทั้งชีวิต ทุกขณะในทุกที่คือสถานปฏิบัติธรรมดีๆ นี่เอง