จุดเปลี่ยนบนทางชีวิต
ธรากร กมลเปรมปิยะกุล เรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม เรียน ปวช. ที่อัสสัมชัญพาณิชยการและเรียนปริญญาตรี ที่คณะบริหารธุรกิจ (ภาควิชาการตลาด) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ด้วยครอบครัวไม่ได้ร่ำรวยและไม่ได้มีกิจการให้สืบทอด เป้าหมายในอาชีพของเขาจึงไม่ได้ต่างจากคนส่วนใหญ่ คือการเติบโตไปตามสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา
เทอมสุดท้ายที่ไม่มีวิชาเรียนมากนัก เขาเริ่มต้นอาชีพเซลล์ขณะยังเป็นนักศึกษา หลังจากทำไปได้สักระยะ เขาเกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับงานขาย เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัย เขาเลยใช้เวลาสำรวจตัวเองแล้วได้คำตอบว่า การสื่อสารและความคิดสร้างสรรค์คือความสนใจของตัวเอง
เช่นนั้นแล้ว ‘งานโฆษณา’ จึงกลายมาเป็นเป้าหมายของคนหนุ่มที่เพิ่งเรียนจบ
แม้ว่าวิชาการตลาดจะไม่ตรงกับเป้าหมายเสียทีเดียว แต่มันได้มาเป็นต้นทุนในการทำความเข้าใจโลกของธุรกิจ เมื่อชัดเจนว่าความสนใจคืออะไร เขานำเงินเก็บก้อนสุดท้ายสมัครเข้าเวิร์คช็อปต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานโฆษณา เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้เรียนรู้และฝึกทักษะในการคิดงาน จนกระทั่งได้เริ่มต้นทำงานโฆษณาเป็นอาชีพ
ด้วยความเอาจริงเอาจังกับงาน เขาค่อยๆ เติบโตตามความตั้งใจ ตำแหน่งที่สูงขึ้นทำให้ความรับผิดชอบมากขึ้นตามไปด้วย ช่วงเวลานั้นเขาแต่งงานกับผู้หญิงที่รักและกำลังจะมีลูกด้วยกัน แต่ความสัมพันธ์หนุ่มสาวติดขัดพอสมควร ขณะเดียวกันแม่ของเขาตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง หลายสิ่งเข้ามาสุมทับเป็นความหนักใจที่มักผุดแทรกขึ้นในชีวิตประจำวัน ทั้งที่เขาไม่ใช่คนสนใจศาสนามากนัก แต่ปรากฏว่า ‘การบวช’ คือวิธีการที่นึกถึงเพื่อคลี่คลายความโกลาหลในจิตใจ
ด้วยเงื่อนไขของการทำงาน ชีวิตนักบวชเลยกินเวลาไม่นานนัก แต่มันได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการตื่นรู้และเปลี่ยนชีวิตที่เหลืออยู่ไปอย่างสิ้นเชิง เป้าหมายในแต่ละวัน-เดือน-ปีค่อยๆ ถอยออกจากความมั่นคั่งในแวดวงโฆษณา เขยิบเข้าใกล้วิชาที่พระพุทธเจ้าค้นพบเมื่อกว่าสองพันปีก่อน กระทั่งหนักแน่นว่าความมั่นคงในจิตใจคือความสนใจ ทั้งการนำ ‘ธรรมะ’ มาทำความเข้าใจตัวเอง ปรับใช้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการผสานความสนใจให้กลายเป็นอาชีพ
อาชีพที่เขาเชื่อว่าช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดในจิตใจของผู้คน
คำสารภาพของคนเขียนคำโฆษณา
หลังจากเรียนจบและรู้ว่าตัวเองสนใจงานโฆษณา เขารับบทบาทเป็น ‘ก๊อปปี้ไรท์เตอร์’ ในเอเจนซี่สัญชาติไทยที่มีชื่อว่า SC Matchbox เป็นระยะเวลา 3 ปี เมื่อทักษะการทำงานพัฒนา เขาย้ายไปบริษัท BBDO Bangkok อีก 4 ปี ตลอดหลายปีนั้น เขาเคยคว้ารางวัลในระดับนานาชาติ เติบโตในอาชีพการงาน ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจแรกเริ่ม แต่วันหนึ่งความเจ็บป่วยของหัวหน้างานกลับมาสร้างคำถามต่ออาชีพที่ทำอยู่
“ผมเริ่มงานในวงการโฆษณาปี 2539 เคยทำอยู่ในเอเจนซี่ที่มีหัวหน้าเป็นครีเอทีฟอันดับหนึ่งของวงการในขณะนั้น ยุคนั้นอีโก้ของวงการคือการประกวด มันคือการยืนยันว่าตัวคุณคิดไอเดียได้ดีแค่ไหน ผ่านรางวัลอะไรมาบ้าง เป็นเรื่องที่คนในวงการต่างยอมรับ แต่เป็นสิ่งที่คนนอกวงการอาจไม่เข้าใจ ออฟฟิศที่ผมอยู่มีถ้วยรางวัลวางเรียงเยอะมาก พอวันหนึ่งหัวหน้าป่วยหนัก รางวัลเหล่านั้นไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย ผมเริ่มฉุกคิดว่า ‘โฆษณาไม่ใช่ชีวิต’ แต่ก็ยังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต้องโตไปในทางนี้ แต่ผมเริ่มเห็นและรู้ว่า รางวัลโฆษณาไม่ใช่คุณค่าทั้งหมด” เป็นครั้งแรกที่เขาตั้งคำถามกับงานโฆษณา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทันทีไม่ใช่เรื่องง่าย
หน้าที่การงานเติบโตต่อไปยังบริษัท TBWA จากตำแหน่ง Senior Copy writer ขยับไปเป็น Creative Group Head ที่ต้องดูแลทีมงานมากขึ้น เกี่ยวข้องกับฝ่ายอื่นมากขึ้น และความรับผิดชอบมากขึ้น ช่วงเวลานั้นแม่ของเขาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ประกอบกับความสัมพันธ์กับภรรยาที่กำลังตั้งท้องลูกคนแรกที่ติดๆ ขัดๆ พอสมควร เขาเลยรู้สึกว่าตัวเองเผชิญกับความยากที่หนักมาก
“พอเราโตขึ้นต้องดูแลลูกน้องและรับมือลูกค้า ผมรู้สึกว่าตัวเองจัดการงานได้ไม่ดีเท่าไร ตอนนั้นแม่มาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 อีกทั้งความสัมพันธ์กับภรรยาที่ผ่านมาสองปีกว่า เราสองคนรู้ว่ารักกันมาก อยากดูแลกัน ขาดกันไม่ได้ แต่อุปนิสัยที่ตรงข้ามกันมาก เลยมีปากเสียงกันตลอด โอเค หลายคนคงเจอเรื่องแบบนี้แหละ แต่ตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองทักษะชีวิตไม่เพียงพอ
“ผมรู้ว่า ‘ธรรมะ’ คือคำสอนทางศาสนา แต่ไม่รู้ว่าประโยชน์คืออะไร ผมเริ่มฟังและอ่านธรรมะเพราะอยากจัดการความโกรธของตัวเอง พอได้อ่านหนังสือของท่านพุทธทาส พบคำว่า ‘ธรรมะคือธรรมดา’ ‘ธรรมะคือธรรมชาติ’ เฮ้ย ถ้าเราไม่รู้จักธรรมะ ก็แปลว่าเรากำลังฝืนธรรมชาติ ถ้าอยากเรียนรู้ธรรมะ การบวชคงเป็นวิธีการที่ลึกซึ้ง เลยตัดสินใจขอภรรยาไปบวช ตอนนั้นเธอตั้งท้อง 7 เดือน แปลว่าหลังจากนั้นยิ่งไม่ง่ายที่จะได้บวช เพราะต้องให้เวลากับลูก ภรรยาตอบตกลง ผมไปปรึกษาเพื่อน แล้วได้คำแนะนำให้ไปบวชวัดชลประทานรังสฤษดิ์”
15 วันในฐานะพระภิกษุมือใหม่ เขาได้อ่านประวัติพระพุทธเจ้า เลยเข้าใจความเป็นมาของการตรัสรู้และหลักธรรมคำสอน ได้สวดมนต์แปลไทยเป็นครั้งแรก เลยเข้าใจความหมายที่มากกว่าความขลัง และได้น้อมเอาวิถีแบบนักบวชอย่างเคร่งครัด จึงเริ่มเข้าใจวิถีชีวิตที่เป็นธรรมดาและธรรมชาติ
หลังจากสึกออกมา แม้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นคนละคน แต่ถือว่าเขาคลี่คลายความหนักในชีวิตได้พอสมควร พร้อมกันนั้น คำถามต่องานโฆษณากลับมาอีกครั้ง ถ้างบประมาณในงานโฆษณาถูกใช้สื่อสารเพื่อบริโภคในสิ่งอาจไม่จำเป็น พลังของงานโฆษณาก็ควรทำหน้าที่สื่อสารสิ่งดีๆ ได้ด้วย นั่นคือ ธรรมะ ธรรมดา ธรรมชาติ ซึ่งเป็นสัจธรรมของชีวิต
“ตอนบวชผมได้อ่านหนังสือพุทธประวัติฉบับนักศึกษา เล่มที่ท่านพุทธทาสเขียน ไม่หนานะ แต่อ่านแล้วรู้สึกเลย โห เราเรียนพุทธประวัติมาหลายรอบ แต่การอ่านครั้งนี้แตกต่าง พระพุทธเจ้าคนนี้ไม่เหมือนคนที่เคยรู้จัก มันสั่นสะเทือนนะ ผมทำโฆษณาที่ใช้เงินมหาศาลมาเป็นสิบปี แต่ทำไมเรื่องแบบนี้ไม่เคยรู้มาก่อน ถ้าเปรียบเทียบกับโฆษณา มันคือแบรนด์ที่พระพุทธเจ้าสร้างมา คือการสืบทอดที่ยาวนาน ผมไปเจอลายแทงมหาสมบัติที่พระพุทธเจ้าพบ ในฐานะคนทำงานสื่อสารเลยอยากจะส่งต่อลายแทงนี้ให้กับคนอื่น”
เหมือนเช่นเคย แม้จะคิดถึงงานที่สร้างสรรค์และเกื้อกูล แต่บทบาท ‘สามี’ และ ‘พ่อ’ ที่ต้องหารายได้อย่างสม่ำเสมอก็ไม่เอื้อให้ทำทันที นอกจากรอจังหวะชีวิตครั้งใหม่เข้ามา เขาใช้วิธีส่งต่อความปรารถนาดีไปยังคนรอบตัวผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ แต่ความลึกซึ้งที่ขาดความพอดีกลับกลายเป็นการยัดเยียดไปโดยไม่รู้ตัว
“ผมซื้อหนังสือธรรมะหมดเป็นหมื่นเลยนะ อ่านๆๆๆ กระหายความรู้มาก ฟังธรรมะ แล้วคุยกับคนรอบตัวเรื่องธรรม ส่งฟอร์เวิร์ดเมล์ให้เพื่อนร่วมงาน ซื้อพระเครื่องจนห้องในออฟฟิศกลายเป็นห้องพระ กลายเป็นคนบ้าธรรมะมาก เห็นเรื่องต่างๆ ในชีวิตมีคำอธิบายไปธรรมะหมด เช่น ‘ทุกอย่างเป็นอนิจจัง’ ‘มึงเป็นแบบนี้เพราะไม่ปล่อยวาง’ จากที่แฟนเคยดีใจที่เราเปลี่ยนไปก็เริ่มกังวล เอาจริงๆ มันคือเรื่องดีนะ แต่เหมือนคนไปเจอเพชรในลำธาร แล้วเที่ยวตะโกนบอกคนอื่นว่า มาเก็บเพชรเม็ดนี้สิ! แต่คนอื่นไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย ไม่สนใจ ซึ่งหากมองให้ลึกลงไป สิ่งที่ผมเข้าใจในขณะนั้นยังเป็นเพียงธรรมะที่ได้รู้ ได้อ่าน ได้ฟังมา เป็นความรู้ที่นึกคิดเอา เป็นตรรกะ เป็นความจำ ยังไม่ใช่ความเข้าใจที่แท้จริง”
ธรรมะแบบสุดโต่งกินเวลาในชีวิตของเขาพอสมควร จนกระทั่งผ่านไปประมาณ 2 ปี ความสนใจที่มากเกินได้รับการปรับให้อยู่ในระดับพอดี จุดเปลี่ยนเกิดจากการฟังธรรมบรรยายของพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่สื่อสารได้เรียบง่าย ผ่อนคลาย เข้าหาแก่น และใช้ได้จริงกับชีวิต
“ช่วงนั้นผมฟังธรรมของหลวงพ่อปราโมทย์เป็นประจำ ฟังซ้ำๆ ประมาณ 2-3 ปีจนเริ่มสังเกตอาการของจิตตัวเองได้ ท่านบอกเสมอว่า ที่สุดแล้วการปฏิบัติที่แท้จริงอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ตอนเช้าเปิดประตูออกจากบ้าน มีแสงแดดส่องมากระทบแยงตาเรา เรารำคาญ ก็ให้รับรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น หรือเวลานั่งทำงานอยู่แล้วปวดเข้าห้องน้ำ ระหว่างเดินไปเข้าห้องน้ำก็ให้รู้ตัวกว่ากำลังเดินอยู่ ขอแค่รู้ตรงนั้น แค่นั้นก็ได้ฝึกสติรู้ตัวแล้ว
“หลวงพ่อปราโมทย์ชี้ให้เห็นจุดสำคัญ เป็นหลักที่ง่ายและเคลียร์ตรงไปสู่หัวใจ ทำให้ผมเริ่มค้นพบว่าธรรมะหรือความจริง ไม่ใช่แค่คิดได้ นึกได้หรือจำได้ แต่มันคือการรับรู้ถึงความจริง โดยเริ่มจากการมีสติ หัดรู้ หัดดูความเป็นไปในจิตใจเป็นสำคัญ ผมค่อยๆ เข้าใจการปฏิบัติที่แท้จริง ไม่ใช่แค่อ่านเยอะฟังเยอะแล้วเอามาคิดมาเขียนบอกคนอื่น พอเราเริ่มดูกายดูใจได้ ก็รู้ตัวแล้วว่าที่ผ่านมา โอ้ เราอ่านมากเกิน ฟุ้งมากๆ จนสับสนปนเปไปหมด ในที่สุดผมทยอยเอาหนังสือธรรมะไปบริจาควัดเยอะมาก
“เมื่อได้หลักแบบนี้ ผมไม่โหยหาการปลีกตัวลางานไปปฏิบัติธรรม เพราะความรู้ตัวนี้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาที่มีสติรู้ตัว มันเปลี่ยนโลกทั้งโลก ชีวิตทั้งชีวิต ทุกขณะในทุกที่คือสถานปฏิบัติธรรมดีๆ นี่เอง ตอนนั้นความทุกข์ในชีวิตน้อยลงไปมาก เริ่มมีสติรู้ตัวได้บ่อยขึ้น สังเกตความหงุดหงิดของตัวเองตอนรถติดบ้าง ความโกรธ ความร้อนแน่นในอกตอนมีปัญหากับภรรยาบ้าง ขณะเดียวกันก็ยังอ่านหนังสืออยู่นะ แต่ขยับไปอ่านงานของพุทธศาสนาฝั่งนิกายมหายาน เซน และวัชรยาน ขยับไปอ่านงานของผู้รู้จากต่างประเทศเช่น โอโช (Osho) กฤษณมูรติ เอ็กค์ฮาร์ท โทลเล (Eckhart Tolle) และอีกหลายคน”
สัมภาษณ์และเขียนโดย ขวัญชัย ดำรงขวัญ
Admin Fanpage มนุษย์กรุงเทพฯ
Related Posts
บนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ – 3/3
ความตั้งใจคือผมอยากทำงานที่ช่วยให้คนกลับมาพบเจอใจที่แท้จริง มาหาตัวเราที่แท้จริง ธรรมะในตัวเอง หรือเรียกว่าการ ‘ตื่นรู้’ ก็ได้
บนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ – 2/3
การบวชครั้งที่ 2 เหมือนไปพักร้อน ตอนนั้นมองว่าบวชที่ไหนก็ได้ ตอนนั้นเราพอมีความเข้าใจ มีวิธีปฏิบัติภายในตัวเองแล้ว แตกต่างจากรอบแรกที่ยังไม่ค่อยรู้อะไร
บนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ – 1/3
ผมไม่โหยหาการปลีกตัวลางานไปปฏิบัติธรรม เพราะความรู้ตัวนี้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาที่มีสติรู้ตัว มันเปลี่ยนโลกทั้งโลก ชีวิตทั้งชีวิต ทุกขณะในทุกที่คือสถานปฏิบัติธรรมดีๆ นี่เอง