ในต้นแผ่นดินถัง พระถังซัมจั๋งออกเดินทางจากฉางอานสู่อินเดีย เพื่อแสวงหาคัมภีร์พระไตรปิฎก เพื่อนำกลับมาแปลเป็นภาษาจีน ออกเดินทางด้วยเท้าผ่านทะเลทรายและดินแดนทุรกันดารที่เต็มไปด้วยอันตรายต่างๆ มีผู้นำการเดินทางของท่านมาเขียนเป็นวรรณกรรม “ไซอิ๋ว” อันลือชื่อ โดยเฉพาะสานุศิษย์ที่ติดตามไป ๓ คน คือ เห้งเจีย ตือโป๊ยก่าย และซัวเจ๋ง บรรยายถึงการพบภูตผีปีศาจต่างๆ บนเส้นทาง เรียกว่าวิบากอย่างยิ่ง ใช้เวลาหลายปีกว่าจะถึงพุทธภูมิ อาจารย์ประมวลเพ็งจันทร์ก็เดินทางสู่พุทธภูมิ
บันทึกการเดินทางของท่าน ๓ เล่มก่อน หรือ “ไตรภาค” คือ
เดินสู่อิสรภาพ
อินเดีย จารึกด้านใน
ไกรลาส : การจารึกบนวิถีแห่งศรัทธา
รวมทั้งเล่มนี้เป็นเล่มที่ ๔ เป็นบันทึกการเดินทางของชีวิต เพื่อแสวงหาความรู้แจ้ง ต่างจากการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อแสวงหาความรู้ในสาขาต่างๆ จะเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือสังคมศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ หรือศาสตร์อื่นใดก็ตาม
ความรู้ที่เป็นศาสตร์ต่างๆ กับ ความรู้แจ้ง ที่อาจารย์ประมวลแสวงหานั้นต่างกัน ต่างกันอย่างไร ถ้าค่อยๆ เดินตามอาจารย์ประมวลไป ซึ่งท่านมีวิธีเล่าประดุจมัคคุเทศก์ ก็เล่าประสบการณ์ชีวิตเป็นขั้นเป็นตอน เป็นลำดับฯ ไป จากตื้นสู่ลึก จากนอกสู่ใน จากปัญญาสู่ปัญญา เป็นการเล่าประสบการณ์ที่หาได้ยาก
ท่านมหาตมะคานธีกล่าวว่า
“ถ้าคุณเรียนจากตำรา คุณได้ความรู้
ถ้าคุณเรียนจากประสบการณ์ คุณได้ปัญญา”
นัตถิ ปัญญา สมาอาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี
ปัญญาสว่างกว่าความรู้มากนัก
คนส่วนใหญ่ในโลกเรียนรู้เรื่องความรู้ ๒ ชนิด คือ
ความรู้ที่จากการฟัง (สุตม◦ยปัญญา) แล้วจดจำไว้
ความรู้ที่ได้จากการคิด (จินตามยปัญญา) ด้วยตรรกะ
ศาสตร์ต่างๆ เป็นความรู้ ๒ ประเภทนี้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องภายนอก ที่เข้ามาสู่ทางเครื่องรับรู้หรืออายตนะ ๕ อย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
แต่ความรู้แจ้งที่อาจารย์ประมวลแสวงหาต้องสัมผัสด้วยใจ โดยไม่ผ่านการจำและการคิด ที่สุดนี้หากเข้าใจยาก แต่ถ้าเดินตามอาจารย์ประมวลไปตามที่ท่านพาไปบนเส้นทางชีวิต ที่ท่านอธิบายประกอบเป็นลำดับไป ท่านก็จะเข้าใจและเข้าถึงการรู้แจ้งด้วยตนเอง
เทคนิคที่อาจารย์ประมวลเล่าตามมรรคาที่ดุ่มเดิน ไปไม่ใช่เพื่อให้ท่านเกิดความรู้แบบรู้ศาสตร์ต่างๆ จากตำรา แต่เพื่อให้ท่านเข้าถึงความจริงด้วยตัวท่านเอง ที่ท่านเรียกว่าภาวนา
ภาวนาเป็นการที่เอาใจสัมผัสความรู้จริงตามธรรมชาติ โดยไม่ผ่านการคิด
การคิดเกิดจากการปรุงแต่ง(สังขาร) ที่พาไปทางอื่น ไม่ทำให้สัมผัสความจริงได้ การจะสัมผัสความจริงต้องหยุดคิด คือ มีสติรู้อยู่กับปัจจุบัน ซึ่งอาจจะกล่าวว่า
ขณะที่คิดจะไม่รู้
ขนาดรู้จะไม่คิด
การรู้เฉยๆ หรือ “รู้ซื่อๆ” ตามคำของท่านอาจารย์คำเขียนที่อาจารย์ประมวลอ้างถึง
การเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติ คือปัญญา หรือการรู้แจ้ง
ความจริงตามธรรมชาติ ไม่มีตัวตน เป็นอนัตตา หรือว่างจากตัวตน มีภาวะเป็นศูนย์ หรือศูนยตา ในภาพสันสกฤต หรือสุญญตา ในภาคบาลี
ปรัชญาปารมิตา คือ สภาวธรรมแห่งศูนยตา หรือโดยบุคลาธิษฐาน คือ พระแม่ปรัชญาปารมิตา เมื่อคิดถึงพระแม่สภาวะศูนยตาก็ซึมซาบอยู่ในตัว หรือเมื่ออัญเชิญพระแม่เข้ามาสถิตอยู่ในตัวก็คือสภาวะธรรมศูนยตา หรือความจริงตามธรรมชาติกับตัวเราเป็นหนึ่งเดียวกัน
การเดินทางสู่พุทธภูมิของอาจารย์ประมวล ก็เพื่อรู้แจ้งในปรัชญาปารมิตาหรือศูนยตา ตามมรรคาที่ท่านเล่ามาเป็นลำดับลำดับๆ
ทำไมมรรคาแห่งการรู้แจ้งจึงสำคัญนักต่ออนาคตของมนุษยชาติ
เพราะเส้นทางแห่งวัตถุนิยม บริโภคนิยม ที่มนุษยชาติเดินมา ๔๐๐ – ๕๐๐ ปี สิ้นสุดลงแล้วในปี ค.ศ.๒๐๒๐ เมื่อโควิดมาส่งสัญญาณ ยุคใหม่ของมนุษยชาติหลังโควิด คือยุคแห่งการตื่นรู้ โควิดมาปลุกให้ต้องตื่นรู้ร่วมกัน ซึ่งอาจพูดเป็นสำนวนว่า “Covid – Co Awakening”
ตื่นจากหลับใหลในมายาคติ สู่ความจริงของธรรมชาติ
ธรรมชาติคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่และครอบคลุมทั้งหมด ใหญ่กว่าจักรวาลและเอกภพจักรวาล และเอกภพเป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่ง (Constructed)
ธรรมชาติมีทั้งที่ปรุงแต่ง(สังขตะ) และไม่ปรุงแต่ง(อสังขตะ)
ธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งนั้น สงบ ประณีต อนันต์
การตื่นรู้เข้าถึงความจริงอันเป็นหนึ่งเดียว ทำให้สงบ สันติ สุขงาม และดี ที่เรียกว่าสิ่งสูงสุดคือความจริง ความงาม และความดี
สภาวะสุขและงามอย่างนั้นเหลือเป็นแรงจูงใจอันใหญ่หลวงของการตื่นรู้ จึงไม่มีปัญหาเลยว่าเส้นทางสู่อนาคตของมนุษยชาติ คือเส้นทางแห่งการตื่นรู้ร่วมกัน หรือ Covid – Co Awakening
การเข้าถึงการตื่นรู้เป็นพหุบท
มรรคาที่อาจารย์ประมวลพาเดิน มรรคาปรัชญาปารมิตา เป็นบทหนึ่งสู่การรู้แจ้ง ที่แสดงโดยกัลยาณมิตรร่วมสมัย
ที่มา คำนิยม โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
ในหนังสือปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร : หัวใจของการภาวนาเพื่อความรู้แจ้ง โดย ดร.ประมวล เพ็งจันทร์

Photo by Robin Benad on Unsplash
